‘อีกฝั่ง’ คือหนังสั้นที่เล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากเป็นใครสักคนในโซเชียลมีเดีย ระหว่างที่เธอพยายามอย่างหนักหน่วง ก็พบว่าตัวเองเริ่มห่างจากพ่อที่อยู่ด้วยกันแค่สองคน และเพื่อนสนิทที่เคยเข้าใจกันแทบทุกอย่าง
หนังถูกเล่าออกมาอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาแต่แฝงไปด้วยรายละเอียดมากมาย ยิ่งเมื่อมีบทเพลงในชื่อเดียวกันจากวง Klear มาประกอบในตัวหนัง แน่นอนว่ามันทำงานกับอารมณ์และคนดูก็คงจะอดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมามองตัวเองและแอคเคาท์โซเชียลมีเดียที่วนเวียนอยู่กับปลายนิ้วมาหลายต่อหลายปี
วันนี้เราได้มาพูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังของหนังสั้น นักดนตรี 4 คนจากวงเคลียร์ แพท—รัณนภันต์ ยื่งยืนพูนชัย ร้องนำ / ณัฐ—ณัฐวัฒน์ แสงวิจิตร มือกีต้าร์ / คี—คียาภัทร โพธิ์วงศ์ไพรเลิศ มือเบส และ นัฐ—นัฐ นิลวิเชียร์ มือกลอง รวมถึงผู้กำกับ ครรชิต สพโชคชัย จากค่าย หับ โห้ หิ้น ที่ได้เข้ามาทำงานร่วมกับวง ผ่านการพูดคุยกันอย่างจริงจังและ explore ประเด็นกันแบบลงลึก จนเกิดเป็นหนังสั้นความยาว 13 นาทีชิ้นนี้
นี่เป็นเพลงที่วงเคลียร์รักที่สุด มันเป็นแทร็กปิดอัลบั้มเมื่อ 2 ปีก่อน โดยแพทเขียนเนื้อร้องขึ้นจากทำนองที่ณัฐแต่ง เมื่อได้โอกาสจาก เสริมสิน สมะลาภา พวกเขาก็ไม่รีรอที่จะทำให้เพลงเพลงนี้กลายเป็นหนังสั้นที่เหมือนกับของขวัญอีกชิ้นที่จะมอบตอบแทนให้ผู้ชม และพวกเขาก็หวังอย่างยิ่งว่าคนดูจะได้ประโยชน์จากมันไม่มากก็น้อย
ทำไมคุณถึงเลือกถ่ายทอด ‘อีกฝั่ง’ ผ่านเรื่องของโซเชียลมีเดีย
คี: ตอนแรกเราคุยกันหลายประเด็นมาก มีตั้งแต่เรื่องยาเสพติด ค้ามนุษย์ ปัญหาเกี่ยวกับเยาวชน เราได้เข้าไปคุยกับเด็กในสถานพินิจ แล้วเราก็พบว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไป พื้นฐานมาจาก ครอบครัว สิ่งแวดล้อม การศึกษา
แพท: ไม่ว่าปลายทางมันจะเป็นยาเสพติด หรือ ฆาตกรรม สุดท้ายต้นทางมันก็คือเรื่องครอบครัว แล้วเราก็มาคุยกัน ต่อยอดไปมา ก็รู้สึกว่าสมมติเราทำเรื่องยาเสพติด จะมีคนกลุ่มใหญ่ที่เขาไม่ได้ยุ่งกับยาเสพติดก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะรู้สึกว่ามันไกลตัว ประเด็นอื่นๆ ก็เช่นกัน เราเลยเปลี่ยนมาคุยกันว่าจะเล่าเรื่องอะไรที่ใกล้ตัว แล้วมันสะท้อนปัญหาครอบครัวและปัญหาส่วนบุคคล
คี: ตอนแรกเราคุยกันไปถึงเรื่องจิตเวช อย่างที่เราเห็นว่าคนเป็นซึมเศร้ากันเยอะ แต่ก็พบว่าประเด็นนี้มันละเอียดอ่อนมาก การชี้นำมันอันตราย ชี้นำผิดยิ่งอันตราย การแตะต้องประเด็นนี้มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ เราก็เลยมาเขย่ากันใหม่ เรามั้ง 4 คน รวมถึงพี่เสริมสินเลยเคาะกันว่า เรื่องโซเชียลมีเดียนี่แหละ ใกล้ตัวมาก แม้แต่ตอนที่พวกเราประชุมกัน เราก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมันขึ้นมากด ก็เลยตกลงที่จะเจาะเรื่องนี้ แล้วพี่ต๊อบ เสริมสิน ก็ได้แนะนำผู้กำกับท่านหนึ่งมา เรียกได้ว่าเป็นความหวังของหมู่บ้าน
ครรชิต: ตอนที่พี่เสริมสินมาถามว่าว่างไหม ผมก็ตอบไปว่าขอคิดดูก่อน ทั้งที่จริงผมอยากทำตั้งแต่ที่ได้ฟังเพลงอีกฝั่งครั้งแรกแล้วล่ะ (หัวเราะ) เพลงมันเพราะ แล้วผมก็ชอบความหมายของมัน ผมก็ได้เริ่มเข้ามาคุยกับทางวงแล้วทำงานด้วยกัน ตอนฟังเพลงนี้ผมก็จะนึกถึงตัวเองก่อน ตอนเด็กๆ เราก็มีความตั้งใจว่าเราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร แต่พอเราพบกับความจริง อุปสรรค ศักยภาพของเรา ชะตาชีวิต มันก็เหมือนลมที่แพทเขียนถึงในเพลง พายุมันก็ทำให้เราเลี้ยวไปตรงนั้นตรงนี้ เพลงนี้มันโคตรตรงกับเราเลย
ทีนี้พอเล่าผ่านโซเชียลมีเดีย เราคุยกับทางวงว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของตัวเอง เป็น identity crisis ว่าเราเป็นใคร คนที่เราเป็นในวันนี้มันต่างจากอดีตที่ตั้งใจไหม โดยที่เราหยิบเอาโซเชียลมีเดียมาเป็น execution ของเรื่อง เพราะทุกวันนี้ คนหลายๆ คนอยากจะให้นิยามตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย ว่าเราแสดงตัวตนออกไปในสังคมยังไง มีคนมากดไลก์เราแค่ไหน มีคนมาสื่อสารกับเราอย่างไร มันก็ตรงกับโจทย์ในใจของวง
อยากให้แชร์ประสบการณ์ฝังใจเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย ในฐานะคนรุ่นที่ยังโตทันยุคที่ไม่เป็นดิจิทัล
นัฐ: ผมมีหลานครับ ผมพบว่าเด็กจะสมาธิสั้นลงเมื่อติดโทรศัพท์ แล้วพอเราโทรศัพท์หรือไอแพดมาจากเขา เขาจะหงุดหงิดง่าย เหมือนว่าเขาไม่สามารถโฟกัสอะไรได้นานๆ นอกจากโทรศัพท์
หลานอายุเท่าไหร่แล้ว
นัฐ: ขวบเดียวครับ
แพท: เห็นไหมว่า เด็กเดี๋ยวนี้โตมาก็เจอมันแล้ว ส่วนพวกเราทันตอนที่มันยังไม่มี จนกระทั่งมันมีขึ้นมา ก็จะมีช่วงที่เราจมลงไปกับมัน แล้วเราก็ไม่ชอบตัวเองที่เป็นแบบนั้น เราก็พยายามจัดสรรเวลาที่จะให้กับมัน แล้วก็รู้สึกว่าจุดที่สมดุลมันค่อยๆ กลับมา อย่างเมื่อก่อนถ้าเราจะเปรียบเทียบชีวิตเรากับใครมันก็คือเพื่อนที่นั่งข้างๆ เพื่อนข้างบ้าน ญาติพี่น้อง เราไม่เคยคิดจะเปรียบตัวเองกับดาราด้วยซ้ำเพราะเขาอยู่ในทีวี เราไม่เคยเห็นชีวิตส่วนตัวเขา แต่มาตอนนี้ แค่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมากดก็เห็นไปถึงชีวิตส่วนตัวของดาราฮอลลีวูดแล้ว แล้วเราก็จะรู้สึกว่า อยู่เฉยๆ ก็จนขึ้นมาซะอย่างนั้น หรืออยู่เฉยๆ ก็ไม่สวย อยู่เฉยๆ ก็เรียนไม่เก่ง
มันกลายเป็นว่าวิวัฒนาการทางอารมณ์ของเรามันยังไม่ทันเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนไปเร็วมาก ซึ่งก็ไม่แน่ว่า สำหรับเด็กวัยรุ่นที่โตขึ้นมาในยุคที่มีโซเชียลมีเดียแล้ว เผลอๆ เขาอาจจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าเราก็ได้ อันนี้พี่ณัฐก็เคยพูดว่าเราเป็นรุ่นที่ต้องปรับตัวเข้าหามัน เลยกลายเป็นว่าเราเป๋
ไม่แน่นะ อย่างที่ลูกพี่ครรชิตพูดขึ้นวันก่อน เผลอๆ น้องอาจจะมีภูมิคุ้มกันเยอะกว่าเราอีก คือน้องบอกว่าโซเชียลมีเดียมันทำให้เราเห็นคนอื่น แต่ไม่เห็นตัวเอง แพทก็แบบ โห ตอนเราเล่นโซเชียลฯ แรกๆ เรายังไม่เคยคิดประเด็นนี้เลยด้วยซ้ำ มันทำให้เราเริ่มไม่แน่ใจว่าคนที่เราควรจะห่วงคือเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่เพิ่งได้รับมันเข้าไป (หัวเราะ) อันนี้เป็นสมมติฐานที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราทำหนังสั้นเรื่องนี้ไปแล้วนะ
(หมายเหตุ: ลูกชายของคุณครรชิต คือ น้องมรรค เด็กชายที่ปรากฏในภาพยนตร์ Die Tomorrow ของเต๋อ นวพล ปัจจุบันอายุ 13 ขวบ)
ทีนี้พอจุดตั้งต้นของหนังสั้น จะว่าด้วยชีวิตของเด็กวัยรุ่นกับโซเชียลมีเดีย เริ่มทำงานกันอย่างไร
ครรชิต: ผมได้น้องสองคนมาช่วยเขียนบทก็คือ โรส (พวงสร้อย อักษรสว่าง) แล้วก็ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) เขาก็มาช่วยเติมอินพุทของเด็กๆ ที่รู้จัก ปิงก็ได้แชร์ว่าทุกวันนี้ เด็กบางคนที่เข้ามาเป็นนักแสดง ไม่ใช่เพราะเขาอยากเป็นนักแสดง แต่เพราะอยากเป็นดารา เขาอยากมีชื่อเสียง เป็นเซเล็บ เพื่อจะได้มีอภิสิทธิ์ในสังคม นี่ก็เลยเป็นอีกส่วนที่มาจุดประกาย กลายเป็นอินไซท์ของตัวละคร
เราหยิบสิ่งนี้มาเล่าผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะตอนนี้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสื่อ ทุกคนมีพื้นที่ที่จะสื่อสารตัวเองออกไปได้ง่ายขึ้น และพอเราสื่อสารออกไปมากๆ บางทีมันเหมือนมีความแปลกแยกกับตัวเอง ที่เราได้พยายามทำโน่นทำนี่ผ่านโซเชียลมีเดีย จนเรากลายเป็นใครก็ไม่รู้ และเราก็เริ่มสงสัยว่านั่นใช่ตัวเราหรือเปล่า
นั่นเป็นจุดตั้งต้น แล้วเราก็เสริมเรื่องอื่นเข้ามา เรื่องของเพื่อนสนิท เรื่องครอบครัว คุณเสริมสินเป็นคนเชื่อในวัฒนธรรมครอบครัวมาก เราเลยขยายออกไปจากตัวละครตัวเดียว ไปถึงพ่อของเขา เพื่อนของเขา จากตอนแรกเราตั้งใจให้เป็น 5 นาที แต่สุดท้ายแล้วเลยกลายเป็น 12 นาที
คุณหยิบประสบการณ์ตัวเองในฐานะพ่อมาใช้ในการกำกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ครรชิต: มีบ้างครับ เช่นการที่ลูกก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ตอนกินข้าว เราก็บอกว่าคุยกับพ่อบ้างสิ สบตากันบ้าง แต่ปัญหาเราไม่ได้หนักขนาดนั้น แต่ประเด็นพ่อลูกที่เราหยิบมาเล่าก็เป็นเรื่องที่เราจินตนาการขึ้นมาจากสภาพสังคมที่เราเห็นๆ จริงๆ แล้วในหนังมันไม่ได้เป็นเรื่องของตัวเอกอย่างเดียว เราจะเห็นว่าส่วนหนึ่งก็มาจากตัวละครพ่อ ที่เขาก็บอกว่าน่าจะใส่ใจครอบครัวได้มากกว่า เราน่าจะมีรูปครอบครัวมากกว่านี้ มันเป็นผลของสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต แล้วก็มีโซเชียลมีเดียมารองรับผลของมันในปัจจุบันด้วย
ฟีดแบ็กจากคนดูเป็นอย่างไรบ้าง
นัฐ: ส่วนใหญ่เขาก็บอกว่าได้สะท้อนกลับไปมองตัวเอง หลายคนน่าจะมีช่วงเวลาแบบนั้นที่เข้าไปอยู่กับโซเชียลมีเดียจนละเลยอะไรบางอย่าง
คี: ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราดีใจ เพราะเราเองที่เผยแพร่เรื่องนี้ออกไปมันไม่ใช่แค่เรื่องยอดวิว แต่เราอยากให้มันได้สะกิดใจคนดู สักนิดหน่อยก็ยังดี การที่คนดูดูแล้วย้อนกลับมารู้สึกถึงเรื่องของตัวเอง แปลว่าจุดประสงค์ของมันบรรลุแล้ว
แพท: การปล่อยงานตอนนี้เราไม่ได้อิงตามหลักสถิติอะไรเลย เราปล่อยในหลายช่องทางไม่ได้ปล่อยทางเดียวเพื่อรวบยอดวิว เพราะเราอยากให้มันถึงคนมากที่สุด ไม่ใช่แค่กลุ่มคนฟังเพลง มีบางคนที่ดูแล้วเขาไม่ได้รู้จักวงเคลียร์ด้วยซ้ำ แต่เขาชอบหนังสั้นชิ้นนี้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เราดีใจ ที่คอนเทนต์ไปถึงกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากมัน
ตอนที่พวกคุณลบรูปทั้งหมดในอินสตาแกรมเพื่อสื่อสารเรื่องหนังสั้น ‘อีกฝั่ง’ ตัดสินใจยากไหม
ทั้งวง: (หัวเราะ) ยาก
แพท: สำหรับเรารู้สึกว่ามันเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ มันเกิดจากคำถามที่เราลองคิดกันว่า ถ้าให้เลือกระหว่างลงรูปแม่ในไอจี กับใช้เวลากับแม่ที่นั่งข้างๆ เราจะเลือกอะไร แน่นอนหลายคนน่าจะเลือกเหมือนกัน พอคิดแบบนี้เราก็บอกกับวง ให้มาลบรูปทั้งหมดกัน ซึ่งไม่รู้หรอกว่าพอมานั่งทำจริงๆ มันยากมาก
ณัฐ: มันเจ็บปวดนะที่ต้องมาลบทีละรูป ถ้าจะกดลบทีเดียวทั้งหมดมันต้องใช้แอปฯ มาช่วย แล้วมันก็ได้ครั้งละ 50 รูปอยู่ดี ถามว่าเสียดายไหม ก็เสียดายแหละ แต่ก็ น่ะ รับปากไว้แล้ว (หัวเราะ) ระหว่างลบเราก็ได้กลับไปรีวิวตัวเอง ดูความเปลี่ยนแปลงของเรา ตอนแรกๆ เราก็ลงอะไรก็ไม่รู้ที่เราอยากลง พอไปเรื่อยๆ ปุ๊บ มีคนฟอลโลวเยอะขึ้น เราก็เริ่มลงอะไรที่เขาอยากเห็น สำหรับบางคนนั่นอาจจะเป็นตัวตนของเขาจริงๆ ตามที่สื่อสารออกไป สำหรับบางคน ไม่ สำหรับผม มีบางรูปที่เราอยากให้เขาเห็นแต่ไม่ได้เป็นตัวตนเราสักเท่าไหร่ เราก็พยายามบาลานซ์อยู่ ไม่ถึงขั้นสุดโต่งขนาดนั้น และที่สุดแล้วการนั่งลบรูปมันก็ได้ทำให้เราตั้งคำถาม ว่าตกลงแล้วเราจะใช้มันเป็นอะไร คำตอบ ผมว่าแต่ละคนตอบต่างกัน แต่สำหรับผม ใช้ยังไงก็ได้ให้เรามีความสุขก็พอละ
แพท: อย่างที่พี่ณัฐบอก เราใช้โซเชียลมีเดียมาสักระยะ เราจะรู้ว่ารูปแบบไหนที่คนชอบ รูปแบบไหนลงแล้วยอดไลก์เยอะแน่ๆ แล้วมันก็มีเรื่องเจ็บปวดอย่างหนึ่งคือ รูปที่ได้รับยอดไลก์เยอะๆ มันจะเป็นรูปที่เราประดิษฐ์เสมอ รูปที่เราดูมีอะไร บางครั้งถ้ามีอะไรที่ดูแพงอยู่ในภาพ ยอดไลก์จะเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะนั่นกลายเป็นรูปเดียวกันกับรูปที่ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ เหมือนเวลาที่เราดูรูปคนอื่นแล้วเรารู้สึกว่าเราจน รูปแบบนั้นแหละที่ทำให้เราได้ยอดไลก์เยอะ ขณะที่บางรูป ณ ตอนนั้นมันเป็นตอนที่เรามีความสุขมากๆ แต่มันเป็นรูปธรรมดา มันกลับมียอดไลก์ที่น้อย
ครรชิต: แพทเล่าเรื่องนี้ในที่ประชุม มันเลยกลายเป็นซีนหนึ่งในเรื่อง ที่เพื่อนเห็นเพื่อนไปเที่ยวกับคนอื่นๆ ไปแต่งตัว ไปสนุกกัน แล้วตัวเองก็ย้อนกลับมารู้สึกว่าตัวเองโดนทิ้ง หลายๆ อย่างที่วงเล่ามาเราก็ได้หยิบมาใช้ในตัวเรื่อง
แพท: แล้วเวลาเราเห็นรูปอะไรแบบนั้นแล้ว พลังด้านลบมันไม่ได้พุ่งไปที่ตัวเขานะ แต่มันพุ่งกลับมาที่ตัวเรา เรารู้สึกดีใจกับเพื่อน แต่ลูกศรมันทิ่มกลับเข้าตัว ว่า แล้วเราล่ะ? แล้วกว่าที่เราจะกลับมาคิดได้ว่า เฮ้ย เดี๋ยวนะ ชีวิตเราก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น กว่าจะคิดได้เราก็โดนตัวเองทำร้ายไปเรียบร้อยแล้ว
ในเรื่องมีฉากที่ตัวละครไปเป็น VJ ออนไลน์ พวกคุณ explore ประเด็นนี้กันอย่างไร
แพท: ยังไงน่ะเหรอคะ ก็โหลดแอปฯ กันใหญ่เลย (หัวเราะ)
คี: เป็นโลกใหม่ของพวกเราเหมือนกันครับ จริงๆ ผมก็ชอบดูแพลตฟอร์มใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ทีนี้มันน่าตกใจมากครับ แอปฯ แต่ละแอปฯ ก็จะมีเซกเมนต์ที่ต่างกัน บางแอปฯ ก็จะมีลิมิตในการโชว์ แต่บางแอปฯ นี่อันเดอร์กราวด์แท้ๆ เลย ถอดคือถอด โชว์คือโชว์ เพื่อแลกกับสติกเกอร์ที่ใช้แลกเป็นเงินได้ บางคนก็ทำเป็นอาชีพ มันจะมีโหมดพิเศษคือล็อกห้อง ให้คนเข้ามาดูได้จำกัด ทีนี้พอเป็นพื้นที่ปิดแล้วเขาจะทำอะไรก็ได้แล้วทั้งนั้น ทีนี้หลายคนเมื่อตกอันดับ เขาก็จะยิ่งแรงขึ้น หนักขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ปัญหาก็คือ เรารู้สึกว่าแพลตฟอร์มพวกนี้มันเข้าถึงเด็กๆ ง่ายมาก
ครรชิต: สำหรับบางคน มันคือทางเลือกในการทำงานหาเงิน แล้วเมื่อเจอสิ่งนี้ เราก็หยิบมาใช้ในหนังเหมือนกัน คือตัวละครของเราจะพบว่าเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จในทางสว่าง เขาก็เลยเลือกอีกทางหนึ่ง ตอนแรกเราก็คุยกันว่าหรือเราจะให้เด็กคนนี้ (ในหนัง) ดำดิ่งไปเลยไหม แต่เราก็ต้องมาคุยกันว่าจะต้องแค่ไหน ที่สุดแล้วเราก็ไม่คิดว่าจำเป็นต้องใช้ภาพแรงๆ เพื่อกลายมาเป็นอีกจุดที่ดึงดูดคนมาดู มันไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราอยากสื่อสารขนาดนั้น
จะมีเด็กๆ หรือคนดูบางส่วนที่รู้สึกว่าไม่ชอบให้ใครมาสอน พวกคุณจัดการกับน้ำเสียงในหนังอย่างไร
คี: นี่เป็นประเด็นที่วงกลัวกันมาก เราระวังมากว่ามันจะเป็นการไปสอนเขา ไปตัดสินเขาว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด ก็เลยมีการปรับแก้บทจนเรารู้สึกว่าคงไม่มีใครปิดประตูใส่เราแล้วล่ะ
แพท: จริงๆ ก็ไม่รู้นะ ก็อาจจะมีน้องๆ บางคนที่รู้สึกว่าหนังมันไปตัดสินเขา แต่เราก็ได้ระวังอย่างที่สุดแล้ว
ครรชิต: มันจะมีช่วงที่เพื่อนสองคนคุยกันว่า มึงปลอมว่ะ ส่วนอีกคนก็บอกว่ามันเป็นงาน เป็นทางเลือกอย่างหนึ่งของเขา เราพยายามจะบอกว่าทุกคนมีทางเลือกของตัวเอง ทุกอย่างมันอยู่ในไดอะล็อกของนักแสดงสองคน นี่เป็นสิ่งที่วงเคลียร์ย้ำเสมอในทุกการประชุม
ในฐานะพ่อ คุณครรชิตเข้าไปสอดส่องโซเชียลมีเดียของลูกมากน้อยแค่ไหน
ครรชิต: ลูกผมเองเขาใช้โทรศัพท์เยอะนะ เขาก็จะดูยูทูบเป็นส่วนใหญ่ ดูหนัง ดูรายการต่างๆ ดูวิจารณ์หนังอะไรแบบนี้ เขาก็สนุกของเขา แต่เขาไม่ติดโซเชียลมีเดีย เขามีแอคเคาท์แต่ไม่ได้อัปเดตอะไรมาก นานๆ ที เวลาที่เขาโกรธมากๆ ก็จะระบายออก หรือไปไหนสักแห่งที่อยากให้เพื่อนๆ รู้ ก็จะโพสต์บ้าง
แล้วมีวันหนึ่ง ครูเอาการบ้านของเพื่อนมาให้เขาตรวจ แล้วผมก็ตกใจเพราะเขาโมโหมาก เขาบ่นลงโซเชียลมีเดีย ผมก็รีบโทรไปหา คุยกันว่าพ่อคิดว่าไม่เหมาะนะสำหรับการโพสต์แบบนี้ เราคุยกันแล้วก็ให้เขาตัดสินใจเอง ว่าจะทำอย่างไร ลูกชายผมอาจจะไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียเท่าไหร่ แต่ก็จะมีเพื่อนเขาบางคนเหมือนกันที่โพสต์ทุกอย่างในชีวิต แล้วพอดู เขาจะมีรายละเอียดในสิ่งที่เขาโพสต์แล้วเขาก็วางกราฟิกอะไรสวยมาก พอไปดูแล้วมันก็น่าทึ่งเหมือนกัน กลายเป็นว่าพื้นที่ตรงนี้มันก็ได้เชปทักษะหรือความคิดสร้างสรรค์บางอย่างได้เหมือนกันนะ
สำหรับวงเคลียร์ เวลาทัวร์คอนเสิร์ตในที่ต่างๆ รู้สึกว่ากลุ่มวัยรุ่นที่มาฟังเพลงเปลี่ยนไปบ้างไหม
แพท: เปลี่ยน เยอะเลยค่ะ แล้ววัยรุ่นแต่ละโซนก็ไม่เหมือนกัน แต่ที่เราว่ายากและน่าเป็นห่วงที่สุดคือกรุงเทพฯ จะเป็นที่ที่เหนื่อยเพราะคนเขาจะ ยังไงดีล่ะ เขาแทบจะไม่ได้ฟังเพลงหรือดูโชว์เราเลย เขาจะหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย และดูมันผ่านหน้าจอมือถืออีกทีหนึ่ง แล้วก็ลงสตอรี่ไปเรื่อยๆ ถ้าเข้าไปดูจะเห็นสตอรี่ไอจีเป็นจุดไข่ปลา เขาสนุกนะ เขาอยากมาดู แต่เขาก็ต้องถ่ายวิดีโอด้วย แล้วเวลาที่เราต้องการส่งพลังกับคนดู มันต้องสบตากันไง แต่เราไม่เห็นตาเขา
ณัฐ: บางที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับพลังกลับมา เขาส่งพลังไปในโทรศัพท์มือถือแทน เราเหมือนเป็นพร็อพอย่างหนึ่งที่ทำให้สตอรี่เขามีคนดูเยอะขึ้น มีคนกดไลก์เยอะขึ้น
นัฐ: ผมว่าการแสดงดนตรีที่ดีมันต้องมีการส่งไปแลับส่งกลับน่ะครับ เพียงแต่ภาพที่เราเห็นมันก็แปลกๆ
คี: อาชีพศิลปินเราต้องการความมั่นใจเวลาอยู่บนเวที เวลาขึ้นเวทีพวกเราต้องวางเรื่องทุกอย่าง ความทุกข์ ความขุ่นข้องหมองใจทุกอย่าง เพื่อจะมามอบความสุขให้ทุกคนอย่างหมดหัวใจ ตอนแรกที่เราเจอแบบนี้แล้วเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันก็มีความบั่นทอนจิตใจนะ ว่าเราทำไม่ดีพอหรือเปล่า นี่เลยเป็นที่มาว่าทำไมศิลปินหลายคนไม่อยากให้ยกมือถือขึ้นมา แต่ละคนก็จะมีวิธีรับมือที่ต่างกันออกไป คือถ้าคนที่แกร่งไม่พอ หมดความมั่นใจเอาดื้อๆ ได้เลยนะ ซึ่งพอถอยออกมาแล้วมองภาพรวม อ้าว เขาก็ชอบเราสิ ไม่งั้นเขาคงไม่ซื้อบัตรมาดูหรอก เพียงแต่ว่าการแสดงออกของเขามันทำให้เราไม่เข้าใจในตอนแรก
แพท: ใช่ ตอนที่เจอแบบนี้แรกๆ เราเครียดมาก และไม่รู้จะทำตัวยังไง เราไม่เข้าใจ เหมือนเห็นกำแพงแก้วอะไรบางอย่าง ทีนี้เราก็มามองว่าเออในบางพื้นที่มันไม่ได้เอื้อต่อการกระโดดขึ้นมาเต้นกัน บางร้านกินไวน์ นั่งโต๊ะ หรือการแต่งตัวต่างๆ โต๊ะข้างๆ เอย มันหลายชั้นมาก ทีนี้บางทีตอนร้องเราก็จะลงไปเดินข้างล่าง ไม่ได้อยู่แต่บนเวที แล้วพอไปเดินเราเห็นตาเขา พบว่าเขาก็อยากมาดูเราแฮะ อยากสื่อสารกับเรา เพียงแต่บางทีเขากำลังห่วง identity บางอย่างในโซเชียลมีเดียมากกว่าประสบการณ์ตรงหน้า เราว่าบางทีมันเป็นความป่วยไข้ของคนเมืองในรูปแบบหนึ่ง บางทีเราเห็นเขาไลฟ์อยู่ แล้วมีคนดูอยู่สองสามคน มันเศร้าแทน คุณเอามือถือลง แล้วมาสนุกกับพวกเราดีกว่าไหม
คี: แล้วสมมติวันที่เราเห็นกำแพงแก้วแบบนั้น เราจะใจชื้นขึ้นมาก็ตอนที่คนมาคอมเมนต์บอกเราว่าวันนี้มีความสุขจังที่ได้เจอ สุดท้ายก็มาจบที่โซเชียลมีเดียอยู่ดี (หัวเราะ)
เหมือนกับว่าประสบการณ์ชีวิตของคนเราไปอยู่กับโซเชียลมีเดียเยอะมากแล้ว
แพท: ส่วนตัวเราเชื่อว่ามันจะค่อยๆ เปลี่ยนไป คือโซเชียลมีเดียมันได้เข้ามาอยู่กับเราในแทบทุก aspect ในชีวิต แม้กระทั่งการดูคอนเสิร์ต แต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยนไป พอคนเริ่มคุ้นชินกับการมีโซเชียลมีเดียอย่ในชีวิตๆ มันจะค่อยๆ มีการ educate ว่าประสบการณ์ตรงหน้ามันเจ๋งกว่า เพียงแต่ตอนนี้มันยังเป็นยุคที่ถูกโซเชียลมีเดีย disrupt เท่านั้นเอง เดี๋ยวมันก็จะมีที่ทางของมันแหละ
ครรชิต: ผมว่ามันมีความสมดุลของมันแหละครับ ทุกอย่างมีบวกมีลบ พวกเราเอง ทั้งผมและวงเคลียร์ ตลอดเวลาที่คุยกันเราไม่ได้มองว่าโซเชียลมีเดียเป็นตัวร้ายนะ ทุกอย่างมีมืดมีสว่าง หนังเราก็ไม่ได้แอนตี้มัน เราปฏิเสธมันไม่ได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับมันยังไงมากกว่า
คุณเองมีวิธีการอยู่กับโซเชียลมีเดียอย่างไร
ครรชิต: ผมชอบไปส่อง ไปดูคนอื่น ในที่นี้เป็นเพราะระบบอัลกอริธึมมันได้กรองให้เราเห็นแต่สิ่งที่เราอยากเห็น แนวคิดแบบที่เราเห็นด้วย กลุ่มคนที่คิดคล้ายๆ กัน ทีนี้มันเลยกลายเป็นเราอยู่แต่ในวงสังคมแคบๆ และคิดว่าโลกมันเป็นแบบนี้ ทีนี้หลายครั้งพอเจอคนที่เห็นต่างก็จะเกิดการปะทะกันที่ค่อนข้างรุนแรง พูดง่ายๆ อย่างเช่นเรื่องคนที่เห็นต่างทางการเมือง เมื่อผมได้ลองเข้าไปดูในโซเชียลมีเดียของเขา ก็ได้เห็นมิติอื่นๆ ในเรื่องนั้นเขาคิดอย่างนั้น แต่อีกเรื่องหนึ่งเขาคิดตรงกันเราแฮะ หรือเขาก็มีแง่มุมที่น่ารักนะ อะไรแบบนี้ ดังนั้นสำหรับผมจะเป็นเรื่องนี้ครับ การไม่พึ่งพาแต่ระบบอัลกอริธึมเพียงอย่างเดียว
Tags: klear, อีกฝั่ง, short film, ครรชิต สพโชคชัย, โซเชียลมีเดีย