ก่อนหน้านี้มีผลวิจัยเกี่ยวกับการใช้สื่อโซเชียลมีเดียออกมาว่ามีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยรุ่นหญิง แต่การศึกษาใหม่ระบุว่าปัญหาอาจซับซ้อนกว่าที่คิด

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Child & Adolescent Health มาจากการสัมภาษณ์เด็กเกือบ 10,000 คน อายุระหว่าง 13 ถึง 16 ปีในอังกฤษ ปีละครั้งตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2015 เก็บข้อมูลความถี่ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, วอตส์แอป, ทวิตเตอร์ และสแนปแชต โดยนับการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าสามครั้งคือ ‘บ่อยมาก’ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่ไม่สามารถเก็บสถิติเป็นเวลาได้ว่าวันละกี่นาทีหรือชั่วโมง 

ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดในการศึกษาครั้งนี้ รวมไปถึงการถามคำถามที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจของวัยรุ่นที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัย และความเป็นอยู่ส่วนตัวของพวกเขา เช่น ความพึงพอใจในชีวิต ความสุข และความวิตกกังวลต่างๆ 

โดยนักวิจัยพบว่าสื่อสังคมออนไลน์อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นหญิง โดยเพิ่มโอกาสในการถูกข่มขู่ คุกคาม ลดการนอนหลับและการออกกำลังกาย

“ผลการศึกษาพบว่าสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่การใช้บ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่มี รวมไปถึงผลเสียต่อสุขภาพจิต เช่น รบกวนการนอนหลับและออกกำลังกาย ในขณะที่ยังเพิ่มโอกาสในการเปิดรับสื่อที่มีเนื้อหาที่เป็นอันตราย และการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์อีกด้วย” รัสเซลล์ ไวเนอร์ ผู้ร่วมการทำการศึกษานี้ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่ง UCL Great Ormond Street กล่าว

สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ก็คือ สำหรับเด็กวัยรุ่นชายนั้น ผลกระทบต่อสุขภาพจิตดูเหมือนจะเกิดจากเหตุผลอื่น นักวิจัยพบว่า การใช้สื่อโซเชียลมีเดียบ่อยครั้งทั้งวัยรุ่นชายและหญิงนั้นสัมพันธ์กับความทุกข์ทางจิตใจที่มากขึ้น แต่ผลที่ได้ชัดเจนมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่วัยรุ่นหญิง ยิ่งพวกเธอใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดการรบกวนทางจิตใจมาขึ้นเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเกือบ 60% ของผลกระทบที่เกิดขึ้นทางจิตใจในเด็กวัยรุ่นหญิงอาจเกิดจากการนอนน้อย และการถูกกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์หรือจากการออกกำลังกายน้อยลง ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวโซเชียลมีเดียเองอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวและอาจจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อสภาวะทางจิตใจ ในขณะที่เด็กวัยรุ่นชายนั้นมีเพียง 12% ที่การใช้โซเชียลมีเดียสร้างผลกระทบต่อความทุกข์ทางจิตใจ

นอกจากนี้ จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ปัญหากระจ่างขึ้นว่า ไม่ใช่เฉพาะโซเชียลมีเดียเท่านั้นที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้ แต่ ‘เนื้อหา’ ในโซเชียลมีเดียที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้เสพต่างหากที่ส่งผลมากกว่าตัวโซเชียลมีเดีย

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2019/08/13/health/social-media-mental-health-trnd/index.html?utm_term=link&utm_medium=social&utm_source=fbCNN&utm_content=2019-08-14T06%3A31%3A06&fbclid=IwAR3lIVAVkG-VRyjtCJXyFJz56KidyTabHzPytPfZqKDa3iKgBDArdeh5Va8

https://jamanetwork.com/journals/jamapediatrics/fullarticle/2737909?guestAccessKey=7f0019bd-f2eb-4dc1-a509-cd5bc2444a79&utm_source=For_The_Media&utm_medium=referral&utm_campaign=ftm_links&utm_content=tfl&utm_term=071519

https://www.bbc.com/news/health-48147378

ภาพ : GETTYIMAGES

Tags: