ชาติเอเชีย-แปซิฟิกลงนามข้อตกลงการค้าเสรี 11 ประเทศ สวนทางสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งกีดกันการค้าภายใต้คำขวัญ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ทำให้เกิดคำถามต่อบทบาทของพี่ใหญ่ในภูมิภาค
สุ้มเสียงคลางแคลงใจต่อบทบาทของสหรัฐฯ ที่เคยถือเป็นพี่ใหญ่ในเวทีโลก กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์
อเมริกาเล่นบทเป็นเสาหลักของระเบียบโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ขณะที่ในมิติของการค้าระหว่างประเทศนั้น สหรัฐฯ เคยเชิดชูผลักดันเรื่องการค้าเสรี เปิดตลาด ลดภาษี ลดกฎระเบียบ เพื่อแจกเฉลี่ยประโยชน์โพดผลของโลกาภิวัตน์แก่ประเทศน้อยใหญ่
ทว่าภาพจำในทำนองที่ว่า ดูแปรเปลี่ยนไปภายใต้นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของมหาเศรษฐีผู้ผันตัวเป็นนักการเมือง
ปรากฏการณ์การลงนามประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มี.ค. 61 นับเป็นอีกกรณีที่ตอกย้ำคำถามว่า สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์กำลังละทิ้งสถานะพี่ใหญ่ของโลกหรือเปล่า
ช่างบังเอิญเสียจริง ในวันเดียวกับที่ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้า ชาติเอเชีย-แปซิฟิก 11 ประเทศร่วมกันลงนามข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ ที่ทรัมป์นำอเมริกาถอนตัวตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่ง
ตลาดแห่งนี้ไม่มีอเมริกัน
ข้อตกลงซึ่งลงนามกันที่กรุงซานติเอโก เมืองหลวงของชิลี มีชื่อเรียกยาวๆ ว่า ความตกลงอันก้าวหน้าและรอบด้านของความเป็นหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก ใช้คำย่อว่า ซีพี ทีพีพี (CP TPP-Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
ข้อตกลงดังกล่าว เป็นการสานต่อความพยายามจัดตั้งเขตการค้าเสรีในยุคประธานาธิบดีบารัก โอบามา เรียกกันว่า ทีพีพี (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัว ทั้ง 11 ประเทศที่เหลือจึงเดินหน้าเจรจาปรับเปลี่ยนกรอบข้อตกลงเดิม จนได้ข้อสรุปเป็นซีพี ทีพีพี
สมาชิกซีพี ทีพีพี ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
ถ้าสหรัฐฯ ไม่ถอนตัว ทีพีพีจะเป็นเขตการค้าเสรีที่มีสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก มีมูลค่าการค้าเกือบ 1 ใน 4 ของการค้าโลก แต่เมื่อทรัมป์ไม่เข้าร่วม กลุ่มซีพี ทีทีพี จึงมีสัดส่วน 13.5 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก
กลุ่มซีพี ทีพีพีเป็นตลาดที่มีประชากร 500 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี รวมกันเป็นมูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ถือว่าเป็นหนึ่งในเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้
ข้อตกลงเวอร์ชั่นใหม่
ซีพี ทีพีพี มุ่งลดภาษีนำเข้า สนับสนุนการค้าในหมู่สมาชิกเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต เนื้อหาส่วนใหญ่ของข้อตกลงยังคงเดิม คล้ายกับที่สมาชิกเคยลงนามกันในยุคโอบามา เว้นแต่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐฯ เคยผลักดันอย่างหนัก
เมื่อสหรัฐฯ ไม่เป็นสมาชิกแล้ว ประเทศที่เหลือมองว่า ข้อตกลงในประเด็นสิทธิบัตรยาอาจทำให้ยาแพง ตอนเจรจากันนั้นยอมให้บรรจุเรื่องนี้ไว้เพราะเห็นว่าคุ้มค่าที่จะแลกกับการส่งออกสินค้าในอัตราภาษีต่ำไปขายแข่งในตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น ในเมื่อประโยชน์ตรงนี้หายไป สมาชิกจึงตกลงกติกาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากันใหม่
ข้อตกลงฉบับนี้จะมีผลภายใน 60 วันหลังจากรัฐสภาของสมาชิกอย่างน้อย 6 ใน 11 ประเทศให้สัตยาบัน คาดกันว่าคงใช้เวลาไม่เกินสิ้นปีนี้
ไทยในเกมการค้าโลก
ที่ผ่านมา ความหวังที่จะเสริมสร้างการค้าเสรียังไม่เป็นจริงนัก เพราะชาติร่ำรวยกับชาติยากจนที่เจรจาต่อรองกติกากับองค์การการค้าโลกมีผลประโยชน์หลากหลายและแตกต่างกันมาก
ความพยายามในเรื่องนี้จึงเบนเข็มไปยังกรอบความตกลงในระดับภูมิภาค เช่น เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตา เขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา อย่างที่เราได้ยินกัน แต่ละกลุ่มมีความคืบหน้าและอุปสรรคมากบ้างน้อยบ้าง
สำหรับซีพี ทีพีพีนี้ แม้ว่าเป็นกลุ่มของเอเชีย-แปซิฟิก แต่ถูกออกแบบให้กันจีนไว้นอกวงตั้งแต่ยังเป็นกลุ่มทีพีพี ดังนั้น จีนจึงไม่ได้เข้าร่วมในรอบนี้ แม้ว่าสมาชิกซีพี ทีพีพี ต่างแสดงท่าทียินดีรับจีน รวมทั้งสหรัฐฯ เข้ากลุ่ม
ในกรณีสหรัฐฯ หน่วยงานคลังสมองบางแห่งบอกว่า แม้อเมริกาไม่ได้เข้าร่วม แต่ถ้าอีกห้าเขตเศรษฐกิจ ได้แก่ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย เข้าร่วม กลุ่มซีพี ทีพีพี ก็จะสร้างมูลค่าการค้าได้สูงถึง 449,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายในปี 2030 หรือเกือบเทียบเท่ากรณีสหรัฐฯ เข้าร่วมเลยทีเดียว
ด้านจีนเองกำลังสร้างเขตการค้าเสรีอีกกลุ่มสำหรับภูมิภาค โดยร่วมมือกับกลุ่มอาเซียน มีชื่อว่า ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป (RCEP-Regional Comprehensive Economic Partnership)
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในความเคลื่อนไหวเหล่านี้
รองโฆษกรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค บอกเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะเข้าร่วมในกลุ่มซีพี ทีพีพี ตอนนี้กำลังศึกษาดูว่าถ้าเข้าร่วมแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาคเอกชน
สำหรับกลุ่มอาร์เซป ซึ่งจะมีอินเดียกับญี่ปุ่นเป็นสมาชิกด้วยนั้น ไทยในฐานะส่วนหนึ่งของอาเซียนเข้าร่วมเจรจาก่อตั้งมาแต่แรกอย่างแข็งขันอยู่แล้ว
โจทย์จากนี้ไปจึงมีว่า ไทยจะยึดกุมโอกาสในการเข้าร่วมและต่อรองกำหนดกฎกติกาการค้าระดับภูมิภาคได้แค่ไหน อย่างไร ท่ามกลางลมผันลมผวนของการกีดกันการค้าในยุคทรัมป์.
อ้างอิง:
- Agence France Presse (9 March 2018)
- Reuters (8 March 2018)
- New York Times (8 March 2018)
- Bloomberg (28 February 2018)