หน่วยงานรัฐของรัสเซียรายงานยืนยัน ศพซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเป็นจักรพรรดินิโคไลที่ 2 จริง หลังจากเหตุฆาตกรรมล่วงเลยมาแล้วหนึ่งศตวรรษพอดี

การพิสูจน์ยีนจากซากกระดูกของสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่า ทั้ง 7 ศพจากทั้งหมด 11 ศพที่ค้นพบ เป็นของจักรพรรดิ จักรพรรดินี พระธิดาสี่พระองค์ และพระโอรสอีกหนึ่งพระองค์

ถึงกระนั้น ฝ่ายสงฆ์ของศาสนจักรออร์โธดอกซ์ยังต้องการผลตรวจดีเอ็นเอเพื่อยืนยันอีกครั้ง

เมื่อปี 2015 เจ้าหน้าที่สืบสวนในกรุงมอสโกรื้อคดีฆาตกรรมราชวงศ์โรมานอฟในคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 1918 ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เนื่องจากศาสนจักรออร์โธดอกซ์ยังเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับซากกระดูกที่ค้นพบว่าเป็นของสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟจริงหรือไม่

ซากกระดูกของมนุษย์สองคนแรกถูกค้นพบในปี 1991 ภายในป่าเขตสหพันธ์ยูรัล เจ้าหน้าที่แจ้งผลการพิสูจน์ว่า เป็นศพของพระโอรสอเล็กเซ (Alexei) และพระธิดามาเรีย (Maria) โดยที่กระบวนการทางกฎหมายไม่ได้แสดงความเห็นคัดค้านแต่อย่างใด หลังจากนั้น มีการพิสูจน์ดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับเครือญาติ จนได้ผลลัพธ์ที่ปราศจากข้อสงสัย

ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟถูกจับกุมตัวได้ที่เมืองเยคาเตอรินเบิร์ก ในเขตสหพันธ์ยูรัล และถูกสังหาร ต่อมา ในปี 1998 ศพของราชวงศ์โรมานอฟถูกเคลื่อนย้ายไปที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สองปีถัดจากนั้น ศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซียได้ออกพระนามจักรพรรดินิโคไลว่า นักบุญนิโคลัสผู้แบกมหาทรมาน และถูกเรียกว่า นักบุญนิโคลัสมรณสักขี

“บรรยากาศดูคล้ายมีกระแสไฟฟ้าเคลื่อนผ่าน และฉันรู้สึกคล้ายประกายไฟอยู่ไม่ห่างตัว ขอพระเจ้าทรงเมตตา และปกป้องเราให้พ้นภัยด้วยเถิด” จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna) บันทึกไว้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1918 จากบ้านที่ถูกกักบริเวณในเมืองโทบอลส์ค และเป็นจดหมายหนึ่งในหลายฉบับที่จักรพรรดินีเขียนถึงนางในราชสำนักและพระสหายคนสนิท

ปี 1915 จักรพรรดินิโคไลที่ 2 ตัดสินใจรวบอำนาจการบัญชาการกองทัพรัสเซียไว้กับตนเอง นับแต่นั้นมา ความผิดพลาดล้มเหลวแต่ละครั้งในสงครามได้กลายเป็นคะแนนความล้มเหลวโดยส่วนตัว

นานวันเข้า จักรพรรดิและจักรพรรดินีซึ่งสืบเชื้อสายราชวงศ์จากเยอรมนีก็กลายเป็นที่เกลียดชังในหมู่ประชาชน เนื่องจากทั้งสองไม่เคยแสดงความใส่ใจใยดีต่อโลกเบื้องนอก กอปรกับการปราบปรามการปฏิวัติปี 1905 ถึงขั้นนองเลือด และพฤติกรรมน่าชังของนักบวชจากไซบีเรียนาม กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin) ที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนัก ยิ่งเป็นเชื้อให้ความโกรธเกลียดทวีมากขึ้นไปอีก

ปี 1917 การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์จึงปะทุขึ้นในเปโตรกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันเกิดขึ้นตอนต้นเดือนมีนาคม เพียงแต่ในรัสเซียขณะนั้น ยังใช้ปฏิทินจูเลียนที่นับเวลาช้าไปสิบสองวัน วันที่ 15 มีนาคมเริ่มมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น และจักรพรรดินิโคไลที่ 2 ได้สละราชสมบัติ

แต่แรก จักรพรรดิ จักรพรรดินี และพระธิดา โอลกา (21) ทัตยานา (19) มาเรีย (17) อนาสตาเซีย (15) รวมทั้งพระโอรส อเล็กเซ (12) ถูกนำตัวไปพำนักแบบกักบริเวณไว้ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ ใกล้เมืองเปโตรกราด ที่นั่น จักรพรรดินีอเล็กซานดราต้องฆ่าเวลาด้วยงานเย็บปักถักร้อย ส่วนพระธิดาและพระโอรสได้เรียนภาษาฝรั่งเศส การปฏิวัติครั้งนั้นส่งผลให้ทหารรัสเซียจำนวนมากหลบหนีภารกิจจากแนวหน้า ทำให้กองทัพเยอรมันสามารถรุกคืบเข้าในอาณาจักรของรัสเซียสำเร็จ

รัฐบาลเฉพาะกาลเริ่มเห็นว่าข้าศึกกำลังเคลื่อนใกล้เมืองหลวง จึงคิดแผนการเพื่อไม่ให้ราชวงศ์โรมานอฟถูกฝ่ายศัตรูนำตัวไปปล่อยเป็นอิสระ วันที่ 1 สิงหาคม 1917 จักรพรรดิและครอบครัวก็ถูกส่งตัวไปยังเมืองโทบอลส์ค ในเขตไซบีเรีย

สถานการณ์และสภาพความเป็นอยู่ที่นั่นภายใต้เงื่อนไขการถูกกักบริเวณค่อนข้างดีกว่าเดิม ชีวิตเรียบง่ายแตกต่างจากที่เปโตรกราด อีกทั้งไม่ต้องรู้สึกถูกกดขี่จากบรรดาคอมมิวนิสต์หิวโหยอำนาจ ที่โทบอลส์ค ทุกวันจะมีเสียงระฆังโบสถ์ดังกังวาน และชาวบ้านมักจะมายืนออกันที่ด้านหน้าประตู กล่าวทักทายราชวงศ์โรมานอฟอย่างเป็นมิตร แม้แต่ผู้คุมเองก็ไม่ดุดันทำตัวเป็นศัตรู “เราอยู่ที่นี่อย่างสุขสบาย ใช้ชีวิตอย่างสงบและสันติ” จักรพรรดิบันทึกในจดหมายลงวันที่ 10 ธันวาคม 1917

ในช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรัสเซีย วันที่ 7 พฤศจิกายน 1917 กลุ่มบอลเชวิกภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ได้โค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลในเปโตรกราดลง ทุกอย่างดำเนินไปโดยปราศจากเหตุการณ์นองเลือด แต่ทว่าหลังจากนั้น กลับมีการนองเลือดมากกว่า

เดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นสงครามกลางเมืองเกิดปะทุขึ้น เป็นศึกระหว่าง ‘ฝ่ายขาว’ ผู้จงรักภักดีต่อจักรพรรดิ และ ‘ฝ่ายแดง’ ของเลนิน แม้ว่าต้นปี 1918 บอลเชวิกจะเริ่มสัมพันธไมตรีกับเยอรมนีก็ตาม แต่กองทัพขาวก็รุกคืบมากขึ้น รวมถึงในไซบีเรียด้วย

ปลายเดือนพฤษภาคม 1918 สมาชิกราชวงศ์โรมานอฟถูกอพยพจากโทบอลส์คไปพำนักอยู่ในบ้านสองชั้นที่ยึดมาจากนิโคไล อิปาทีฟ (Nikolay Ipatiev) หรือ ‘บ้านเฉพาะกิจ’ เมืองเยคาตารินเบิร์ก ในเขตสมาพันธ์ยูรัล ที่ซึ่งมีพลพรรคบอลเชวิกแฝงตัวอยู่จำนวนมาก และมีเชกา (Cheka) ตำรวจจากหน่วยความมั่นคงคอยควบคุมดูแล

ภายในบ้านอิปาทีฟ ราชวงศ์โรมานอฟได้รับความสะดวกสบายน้อยลง และต้องพักอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว รอบบริเวณบ้านมีรั้วเหล็กกั้นสูง บานหน้าต่างทุกบานทาเป็นสีขาว

แต่ละวัน จักรพรรดินิโคไลที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ออกไปที่สนามหญ้าเล็กๆ คล้ายพื้นที่โล่งในเรือนจำเพียงสองชั่วโมง ส่วนพระโอรสอเล็กเซนั้นมีอาการป่วยของโรคฮีโมฟิเลีย บี (โรคของการแข็งตัวของเลือดชนิดหนึ่ง เกิดจากการกลายพันธุ์ในยีนที่สร้างแฟกเตอร์ 9 ทำให้ร่างกายมีระดับของแฟกเตอร์ 9 ลดลง) ต้องนอนซมอยู่แต่บนเตียง

วันที่ 27 มิถุนายน 1918 ยาคอฟ ยูรอฟสกี (Yakov Yurovsky) เข้าประจำหน้าที่หัวหน้าเชกาในบ้านอิปาทีฟ “เราเห็นผู้บัญชาการคนใหม่แล้ว ใบหน้าของเขาไม่เป็นมิตรเลย” จักรพรรดินีบันทึกลงในจดหมาย ความไม่เป็นมิตรนั้นรวมถึงเหตุการณ์ตอนที่ยูรอฟสกีเรียกร้องเอาเครื่องประดับอัญมณีด้วย

หลายคนรับรู้ว่า ระหว่างการย้ายออกจากโทบอลส์ค ราชวงศ์โรมานอฟมีสัมภาระติดตัวไปด้วย 50 กล่อง ในนั้นนอกจากจะมีหนังสือ เสื้อผ้า เครื่องจานชาม และรูปบูชาแล้ว ยังมีเครื่องประดับของราชวงศ์อีกจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับการลี้ภัย โดยเฉพาะอัญมณีล้ำค่านั้น จักรพรรดินีจำต้องนำไปเย็บซ่อนไว้ในคอร์เส็ตต์ของพระธิดา

วันที่ 16 กรกฎาคม จักรพรรดินีอเล็กซานเดอร์บันทึก “เล่นไพ่กับนิคกี เข้านอนตอนสี่ทุ่ม อุณหภูมิ 15 องศา” การนอนในคืนนั้นผ่านไปเพียงไม่นาน มือสังหารยืนซุ่มรออยู่ที่ห้องข้างๆ แล้ว โดยที่ราชวงศ์โรมานอฟไม่ผิดสังเกต

ภายหลังการเปิดเผยเอกสารของโซเวียตรัสเซีย พบว่า ยาคอฟ ยูรอฟสกีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการสังหารครั้งนั้น และเป็นคำสั่งตรงจากวลาดิมีร์ เลนิน

เวลาเลยเที่ยงคืนไปไม่นาน ดร.เยฟกินี บอตคิน (Yevgeny Botkin) ก็ถูกปลุกให้ตื่น เขาได้รับแจ้งว่า ในเมืองเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น ทุกคนควรเข้าไปหลบอยู่ภายในห้องใต้ดิน แพทย์ประจำบ้านจึงปลุกผู้ถูกกักบริเวณในบ้านทุกคน นอกจากราชวงศ์โรมานอฟแล้วยังมีบริพาร หญิงรับใช้ และพ่อครัวอีกหนึ่งคน

ทั้งหมด 11 คนไปรวมตัวกันอยู่ภายในห้องใต้ดิน จักรพรรดินิโคไลที่ 2 อุ้มพระโอรสที่ป่วยในอ้อมแขน เวลาประมาณ 01.30 น. ยูรอฟสกีและผู้ช่วยโผล่เข้าไปในห้อง

“เราได้รับคำสั่งให้ฆ่าพวกคุณ” เขาพูดตะโกน และแล้วเสียงปืนก็ดังรัว เขาเล็งเป้าไปที่จักรพรรดิ และ “ปลิดชีวิตที่ตรงนั้น” ส่วนผู้ช่วยกระหน่ำยิงไปที่ผู้หญิง เครื่องอัญมณีล้ำค่าถูกกระสุนปืนเจาะ ร่วงหล่นพื้นพราวกระจาย

ทั้งหมดยังถูกยิงจ่อศีรษะซ้ำอีกครั้ง อนาสตาเซีย-พระธิดาองค์สุดท้องถูกแทงด้วยมีดปลายกระบอกปืน ส่วนอเล็กเซซึ่งส่งเสียงครวญครางเพราะความเจ็บปวด ถูกยูรอฟสกีใช้เท้าเหยียบศีรษะไว้และจ่อยิงที่ใบหู

ร่างที่เละและเปรอะเปื้อนถูกลำเลียงไปในป่าข้างหมู่บ้านคอปยากี ศพถูกสับและจุดไฟเผา ใบหน้าของพวกเขายังถูกราดด้วยน้ำกรด คำแถลงอย่างเป็นทางการในแบบของโซเวียตรัสเซียก็คือ ราชวงศ์โรมานอฟ “เสียชีวิตระหว่างการหลบหนี”

ซากศพของราชวงศ์โรมานอฟถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1991 และอีกหลายปีต่อมาถึงมีการจัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ

 

อ้างอิง:

 

Tags: , , ,