เนื่องในวันสตรีสากล เราอยากแนะนำให้รู้จักผู้หญิงรุ่นใหม่ ทั้ง 10 คนนี้ ผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องทั้งในเรื่องใหญ่ๆ ระดับโลก ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน และที่สำคัญสิ่งที่พวกเธอเหล่านี้ได้ทำนั้น ได้จุดประกายความหวังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกทั่วโลก ในความใฝ่ฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมหรือโลกใบนี้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ซานนา มาริน
นายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในโลกของฟินแลนด์ ในวัย 34 ปี เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังอดีตนายกรัฐมนตรีอันต์ตี รินเน ลาออกเพราะไม่ได้รับความไว้วางใจ
พ่อแม่ของมารีนแยกทางกันตั้งแต่เด็ก แม่จึงเป็นผู้เลี้ยงเธอในตอนเด็ก ขณะเดียวกันสภาพทางการเงินก็มีปัญหา ทำให้มารีนต้องเริ่มหัดเลี้ยงดูตัวเอง และออกไปหางานทำ มารีนทำงานในร้านเบเกอรีตอนอายุ 15 ปี และเริ่มขายนิตยสารตอนมัธยมปลาย ในช่วงเวลาเดียวกันแม่ของมารีนพบรักใหม่ แม่มีคู่รักเพศเดียวกัน อาศัยอยู่ด้วยกันในห้องเช่าแห่งหนึ่ง กล่าวได้ว่ามารีนเข้าใจความหลากหลายของสังคมและเพศสภาพดี ทำให้เมื่อมารีนเป็นนักการเมืองแล้ว เธอมีแนวคิดผลักดัน “ความเสมอภาคความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน”
แม้ในวัยเด็กครอบครัวจะมีปัญหาทางด้านการเงิน แต่แม้ของธอก็สนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งยังกล่าวว่ามารีนจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น มารีนจีงกลายเป็นสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่เรียนจบมัธยมปลาย และสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้
อย่างไรก็ตาม มารีนได้ตำแหน่งนายกฯ มาอย่างเฉียดฉิว เธอได้รับความไว้วางใจจากการลงมติในรัฐสภาฟินแลนด์ ด้วยเสียงสนับสนุน 99 เสียง และเสียงคัดค้าน 70 เสียง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของฟินแลนด์ยังมีรัฐมนตรีหญิง 12 คน และชาย 7 คน นับเป็นสัดส่วนหญิงต่อชายในคณะรัฐมนตรีที่สูงมาก ขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นการต่อสู้ระหว่างเพศสภาพในสภา เมื่อสัดส่วนของเพศหญิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเธอยังกล่าวว่าเพศของเธอ ไม่ใช่อุปสรรคในการบริหารงาน
เกรตา ธุนเบิร์ก
เด็กหญิงชาวสวีเดนวัย 15 ปี เธอเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้รณรงค์ในประเด็นสภาวะโลกร้อน ทำให้ให้ผู้คนใส่ใจกับปัญหาด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ด้วยการโดดเรียนเพื่อมานั่งประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนทุกๆ วันศุกร์ จนทำให้เยาวชนทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจกับปัญหาสภาพอากาศ จนกลายเป็น School Strike for the Climate Movement เธอกลายเป็นแรงบันดาลใจของเด็กรุ่นใหม่ในการลุกขึ้นมาเพื่อสู้กับอะไรบางอย่าง ในหลายๆ ประเทศจนสื่อตั้งฉายาให้ว่าเป็น ‘Climate Icon’ ขณะเดียวกันเธอได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลแห่งปี ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ประจำปี 2019 อีกด้วย
คำพูดของเกรตา แววตา ใบหน้ามักดูโกรธเกรี้ยว และแข็งกร้าวตลอดเวลา จนคนเริ่มล้อเลียนว่าเธอเป็นเด็กกร้าวร้าว อย่างไรก็ตามเกรตาไม่เคยปิดบังเรื่องนี้ เธอเขียนไว้ในโปรไฟล์ในบัญชีทวิตเตอร์ของเธอบอกกล่าวชัดเจนว่าเธอเป็น ‘นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นแอสเพอร์เกอร์’ เป็นผลมาจากโรคสมาธิสั้น รวมไปถึงอาการของแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) ซึ่งอยู่ในการวินิจฉัยเดียวกับออทิสติก
เกรตาตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ว่าทำไมจึงละเลยเรื่องสภาพภูมิอากาศ ผู้นำโลกทั้งหลายมักสนใจแต่เรื่องทุนนิยม โดยเฉพาะคำพูดของเธอ “How Dare You!” เกรตามักโต้ฝีปากกับประธานาธิบดีทรัมป์อยู่เสมอ แต่เธอก็จัดการสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีวุฒิภาวะและเจ็บแสบ เมื่อใดที่ทรัมป์กล่าวถึงเธอ เธอก็มักจะเปลี่ยนโปรไฟล์ทวิตเตอร์ล้อเลียนทรัมป์คืนเสมอ
เซลีน เซียมมา
นักเขียนบทและผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่เธอนำประสบการณ์ในชีวิตจริงในการเป็นคนรักเพศเดียวกันของเธอมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ขับเคลื่อนให้สังคมเข้าใจถึงความเลื่อนไหลทางเพศและสำรวจตัวตนความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ผลงานล่าสุดที่คว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ จากเรื่อง Portrait of a Lady on Fire และยิ่งกว่านั้นในงานประกาศรางวัลซีซาร์ที่ผ่านมาเมื่อโรมัน โปแลนสกี ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และเซลีนเองได้ออกมาแสดงจุดยืนและพยายามเคลื่อนไหวเรื่องการถูกข่มขืน เธอเดินออกจากงานขณะรับรางวัลเพราะโปแลนสกีต้องคดีข่มขืนเด็กหญิงวัย 13 ปี
ลิเลียน เลนนอน
ทรานส์นักเคลื่อนไหวสิทธิทางเพศ วัย 21 ปี ผู้รณรงค์ลดความแตกต่างและแบ่งแยกทางเพศผ่านร่างกฎหมายของเมืองแองคอเรจ รัฐอลาสกา บ้านเกิดของเธอ เธอใช้เวลากว่า 9 เดือนในการยุติร่างกฎหมายที่ให้คนข้ามเพศใช้สถานที่สาธารณะให้ตรงกับเพศกำเนิด เพราะหากร่างกฎหมายนี้ผ่าน หญิงข้ามเพศที่ต้องใช้สถานที่สาธารณะกับเพศชายคงหมดความเป็นส่วนตัวไป
เลนนอนเข้าอกเข้าใจในเรื่องการถูกขโมยความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างดี เพราะชีวิตวัยเด็กของเธอนั้นถูกพ่อแม่ส่งไปยังสถานบำบัด เหตุเพราะพ่อแม่เธอไม่สามารถยอมรับได้ที่เธอแต่งหญิง และนั่นทำให้เธอต้องอยู่ร่วมห้องกับเด็กผู้ชายที่โตกว่า เธอถูกบูลลี่และโดนรังแกอยู่เป็นประจำทำให้ช่วงวัยเด็กของเธอมีแต่ความทรงจำที่ไม่ดีนัก ปัจจุบันเธอทำงานที่ Planned Parenthood Votes (คณะกรรมการดำเนินการทางการเมือง) และ Fair Anchorage ทั้งยังเป็นผู้นำหญิงข้ามเพศในอลาสกา และ Talkeetna Pride อีกด้วย
มารีอาม โชอาจิ
นักกิจกรรมหญิงชาวอิหร่าน ผู้ผลักดันให้อิหร่านยุติกฎห้ามผู้หญิงเข้าสนามฟุตบอล หลังผู้หญิงไม่สามรถเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลนับตั้งแต่ปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ในที่สุดในปี 2019 อิหร่านก็อนุญาติให้ผู้หญิงสามารถเข้าชมฟุตบอลได้ในรอบ 40 ปี ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างอิหร่านกับกัมพูชา และเกมในวันนั้น Masoud Shojaei พี่ชายของ Maryam ลงสนามในนามทีมชาติ ทำให้เธอและแม่ได้เห็นความสำเร็จของพี่ชายในการแข่งขันที่พวกเขาไม่เคยได้ชมมาทั้งชีวิต
มูซูน อัลเมลเลฮาน
นักกิจกรรมชาวซีเรียและผู้อพยพในอังกฤษ เธอสนับสนุนผลักดันให้เด็กผู้หญิงทั่วโลกได้รับการศึกษา ทำให้เธอได้ฉายาว่าเป็น ‘มาลาลาแห่งซีเรีย’ เธอย้ำเสมอว่า “เด็กผู้หญิงต้องได้รับการศึกษา เพราะมันคือการป้องกันที่ดีที่สุดในกลุ่มเด็กผู้หญิง ถ้าแม่ไม่ได้รับการศึกษา เธอจะเลี้ยงลูกยังไง ถ้าหนุ่มสาวไม่ได้รับการศึกษา ใครจะเป็นคนสร้างประเทศของเรา” การศึกษาไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะอนาคตเท่านั้น แต่การพยายามผลักดันให้เด้กผู้หญิงให้ได้รับการศึกษาของเธอ ยังเป็นการช่วยไม่ให้เด็กผู้หญิงชาวซีเรียถูกผลักเข้าไปสู่การแต่งงานตั้งแต่เยาว์วัยอีกด้วย
ยูมิ อิชิกาวะ
นักแสดงและนักเขียนวัน 32 ปี ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายการใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงานตลอดเวลา ภายใต้แคมเปญ #KUTOO ในสังคมญี่ปุ่นมองว่าการสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นธรรมเนียม มารยาท เป็นกฎที่พึงกระทำ ทำให้ในเกือบจะทุกบริษัททุกหน่วยงานผู้หญิงจะต้องใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงานตลอดเวลา ยูมิ อิชิกาวะเห็นว่าการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงอย่างมาก และมันไม่ต่างอะไรกับการรัดเท้าของผู้หญิงจีนโบราณ โดยแคมเปญนี้มีผู้หญิงชาวญี่ปุ่นได้สนับสุนและลงนามมาทั้งสิ้น 18,856 คนเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐฯ และบริษัทเอกชนยกเลิกธรรมเนียมนี้
เอมมา กอนซาเลซ
หญิงสาวชาวอเมริกัน เชื้อสายคิวบา อายุ 19 ปี ผู้นิยามตนเองว่าเป็นไบเซ็กชวล กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เธอรอดชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส เหตุการณ์การยิงกราดในครั้งนี้ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นเอ็มม่ามากขึ้น เธอตัดผมสกิลเฮดและขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาสิทธิการครอบครองปืนอย่างจริงจัง การเคลื่อนไหวของเธอทำให้พลเมืองชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยออกมาเดินขบวน ‘March for Our Lives’ ในเดือนมีนาคม 2018 ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมการเดินขบวนมากที่สุด โดยมีจุดประสงค์เรียกร้องให้รัฐแก้ไขกฎหมายอาวุธปืนเพื่อลดการสูญเสียจากเหตุการ ณ์การกราดที่มีขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐฯ และร่วมรณรงค์ ผ่านแคมเปญ ‘Never Again’ และ ‘Am I next?
อมิกา จอร์จ
สาววัย 17 เจ้าของแคมเปญ #FreePeriods เดินหน้าต่อสู้ให้วัยรุ่นหญิงมีโอกาสเข้าถึงผ้าอนามัยฟรี แคมเปญของเธอได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงได้รับรางวัล Goalkeepers Award จาก บิลล์ เกตส์ โดยเอมิกา จอร์จ จัดชุมนุมประท้วงบริเวณถนนดาวน์นิง ซึ่งเป็นบ้านพักและที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยผู้ประท้วง 2 พันคนแต่งกายด้วยชุดสีแดง เรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ไขสถานการณ์ และด้วยแรงกดดัน ทำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าจะแจกผ้าอนามัยฟรีในทุกโรงเรียนและวิทยาลัยในอังกฤษ
เคตลิน โอฮาชิ
นักยิมนาสติกร่างแน่นเจ้าของคลิปไวรัล 100 ล้านวิว เธอคือนักยิมนาสติกที่มีอายุมากที่สุดของ UCLA หรือมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจอลิส ที่ได้รับคะแนนเต็ม 10 จากการแข่งขัน Collegeiate Challenge ก่อนหน้าที่เธอจะเข้าร่วมกับ UCLA เคตลินถูกกดดันให้ลดน้ำหนักมาตลอดมาเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่ดีในปี 2013 เธอบาดเจ็บอย่างรุนแรงแต่การลดน้ำหนักอย่างบ้าคลั่งของเธอทำให้อาการบาดเจ็บของเธอรุนแรงมากขึ้น อาการบาดเจ็บของเคตลินทำให้เธอตกชั้นจากการเป็น senior elite และความฝันในการไปโอลิมปิกก็หลุดลอยไป หลังจากนั้นเธอก็หายไปจากวงการยิมนาสติก ต่อมาเคตลินได้ลงแข่งในรายการระดับวิทยาลัยอีกครั้งในปี 2018 เธอได้รับเสียงชื่นชมและคะแนนเต็ม10 ถึง 3 ครั้งและกลายเป็นคนดังในทันที่ที่คลิปวิดีโอ Floor Exercises กระจายออกไป ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้มีรูปร่างตามแบบฉบับของนักยิมนาสติกทั่วไปที่ต้องผอมสูงอีกต่อไปแล้ว แต่เธอกลับมามีความมั่นใจและสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและมีความสุขกับการเล่นกีฬายิมนาสติกได้อีกครั้ง
Tags: สังคม, ผู้หญิง, วันสตรีสากล, การทำงาน