1.อานนท์ นำภาทนายสิทธิมนุษยชน ผู้เปิดชื่อ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร
ก่อนหน้านี้ ชื่อของ อานนท์ นำภา เป็นชื่อที่โดดเด่นในฐานะ ‘ทนายความ’ ด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ว่าความให้กับบรรดาผู้ต้องหาในคดีการเมืองหลายคน ไม่ว่าจะเป็น อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง SMS’ ผู้ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้นหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์, บ.ก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภายหลังการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ยาวไปจนถึงบรรดานักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แต่ในปีนี้ อานนท์ กลับเป็น ‘ตัวเปิด’ ขึ้นเวทีการชุมนุม ‘เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ด้วยชุดพ่อมดแฮร์รี พอตเตอร์ เปิดอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก ทั้งประเด็นพระราชอำนาจ ประเด็นการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งอานนท์ยืนยันว่าเป็นการพูดด้วยความเคารพ แรงสั่นสะเทือน ส่งตรงไปถึงสื่อมวลชนที่ในวันนั้น แทบไม่มีใครกล้าตีพิมพ์เนื้อหาคำปราศรัยของอานนท์
แต่เมื่อเพดานเปิด เรื่องต้องห้าม กลายเป็นเรื่องที่พูดกันทั่วไปในโซเชียลมีเดีย สื่อมวลชนก็ค่อยๆ เขยิบตามเนื้อหาการปราศรัยของทนายอานนท์ทีละนิดส่วนตัวอานนท์เองก็กลายเป็น ‘ดาว’ ในการปราศรัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวทีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในวันที่ 10 สิงหาคม การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอก ในวันที่ 16 สิงหาคม การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฎร 19 กันยายน
ซึ่งอานนท์ แทบจะเป็นคน ‘กล่าวปิด’ ทุกครั้ง โดยอานนท์ มักจะย้ำเสมอว่าต้องต่อสู้อย่าง ‘สันติ’ ต่างจากแกนนำการชุมนุมอื่นๆ หลายครั้ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ที่มักเน้นการ ‘เผด็จศึก’ อย่างรวดเร็วแน่นอน ทั้งหมดนี้ แลกมาด้วย ‘คดีความ’ ที่ตามมาอีกเพียบ จนถึงปัจจุบัน อานนท์ ทนายความที่เคยว่าความให้กับผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ด้วยตัวเอง กว่า 4 คดี อัตราโทษจำคุกสูงสุด รวม 60 ปี และยังอาจโดนหมายเรียกได้อีกเรื่อยๆ
นอกจากนี้ อานนท์ยังเคยถูกจับเข้าเรือนจำ เป็นผู้ต้องหาด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยั่วยุ ปลุกปั่น ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมาปีนี้ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของทนายหนุ่มจากจังหวัดร้อยเอ็ด บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้กล้าเอ่ยชื่อ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ เป็นคนแรก ซึ่งเปลี่ยนสถานะจากทนาย กลายเป็นทั้ง ‘แกนนำ’ เป็น ‘ผู้ต้องหา’ และ ‘ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง’ ให้กับประเทศไทย
2.ทราย เจริญปุระ’ ผู้สร้างมาตรฐานใหม่ระหว่างจุดยืนของดารากับการเมืองไทย
ย้อนกลับไปสิบปีก่อน ทราย เจริญปุระ เคยถูกโจมตีว่าเลือกข้างทางการเมือง หลังจัดรายการ Divas’ Cafe ที่ทีวีช่องหนึ่ง ซึ่งถูกคนมองว่าสนับสนุนฟากฝั่งหนึ่งทางการเมือง ในเวลานั้น การเมืองถือเป็นเรื่องไกลตัว ผู้คนมองว่าเรื่องการเมืองในประเทศมักจะต้องเป็นจุดสนใจแค่ช่วงเลือกตั้ง ที่สำคัญ สังคมมองว่า ไม่ใช่หน้าที่ของดาราที่จะต้องออกมาพูดเรื่องการเมือง
แต่ในปีนี้ เมื่อวันเวลาพาให้กระแสลมเปลี่ยนไป การเมืองกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เป็นหัวข้อที่พูดกันได้ทั่วไป และผู้คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น รวมถึงกลุ่มดารา ศิลปิน และคนมีชื่อเสียง จนเกิดกระแสแฮชแท็ก #callout ที่เรียกร้องและสนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง
เมื่อมาตรฐานของ ‘คนดัง’ กับ ‘การเมือง’ เปลี่ยนไป ชื่อของทราย เจริญปุระ จึงกลับมากลายเป็นจุดสนใจอีกครั้งในปีนี้ที่กระแสการเมืองเข้มข้น เธอเป็นดาราที่ออกตัวสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน จนได้ฉายา ‘ท่อน้ำเลี้ยงม็อบ’ จากการอาสาเปิดโรงครัวนำอาหารมาบริการฟรีแก่ผู้ชุมนุมอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ
แต่หลังจากออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในการอยู่เคียงข้างกลุ่มผู้ชุมนุม เธอก็ยังถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจากฝ่ายตรงข้ามหลายเรื่อง ทั้งการอยู่เบื้องหลังสั่งการกลุ่มผู้ชุมนุม ข้อสงสัยว่าเงินที่ใช้เป็นท่อน้ำเลี้ยงมาจากที่ไหน รวมถึงการโดนคุกคามด้วยถ้อยคำหยาบคายในโซเชียลมีเดียหลายครั้ง จนบางกรณีก็เกิดเป็นการฟ้องร้องขึ้นมา
ด้วยความที่เป็นคนมีชื่อเสียง ในแง่หนึ่ง เธอจึงถูกจับตามองเสมอ รวมถึงมีทั้งคนที่รักและเกลียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คงไม่ใช่ในฐานะนักแสดงอีกต่อไป แต่เป็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีมุมมอง ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมือง ในแบบที่ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยพึงมี
ความชัดเจนของทราย ยังส่งให้นักแสดง ผู้มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ‘ไม่กลัว’ ที่จะประกาศตัวสนับสนุนความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งการที่ดารา นักร้อง และนักแสดงจำนวนมาก ออกมาสะท้อนจุดยืนแบบเดียวกับทราย ก็เป็นอีกหนึ่ง ‘แรงส่ง’ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งกลายมาเป็นคณะราษฎรในเวลาต่อมา ‘จุดติด’ และนั่น ทำให้ทรายต้องโดนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปด้วย เฉกเช่นเดียวกับแกนนำคณะราษฎรคนอื่น
ไม่ว่าเหตุการณ์หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ชื่อของ ทราย เจริญปุระ ได้ถูกนำมาผูกติดกับเรื่องการเมืองไทยอย่างแยกกันไม่ได้ไปเรียบร้อยแล้ว
3.ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี จากดราม่าติ่ง สู่ ‘MilkTeaAlliance’ ขบวนการประชาธิปไตย 3 ชานม
ท่ามกลางประเด็นดราม่ามากมายที่เกิดขึ้นในรอบปี เหตุการณ์หนึ่งที่พลิกมุมจากเรื่องชวนขันกลายไปเป็นวาระระดับนานาชาติ ต้องยกให้ขบวนการ ‘MilkTeaAlliance’ หรือพันธมิตรชานม ที่ชาวโซเชียล 3 ชาติ ไต้หวัน ฮ่องกง และไทยร่วมกันเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นทางประชาธิปไตยด้วยการนำชาขึ้นชื่อของ 3 ชาติมาเป็นสัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์
จุดเริ่มต้นของขบวนการนี้มาจากกรณี ‘ไบร์ท’ – วชิรวิชญ์ ชีวอารี นักแสดงซีรีส์ Boy Love 2gether: The Series (เพราะเราคู่กัน) รีทวีตโพสต์หนึ่งที่เรียกฮ่องกงว่าประเทศ ประกอบกับเขาได้คอมเมนต์ชมแฟนสาวว่าสวยเหมือนสาวไต้หวัน ทางแฟนคลับชาวจีนเห็นอย่างนั้นก็ไม่พอใจอย่างมาก และมองว่านักแสดงหนุ่มมีทัศนคติต่อจีนแผ่นดินใหญ่ในแง่ลบ จนเกิดการถกเถียงกันอย่างออกรสระหว่างแฟนคลับชาวไทยกับชาวจีน ซึ่งภายหลังชาวฮ่องกงและไต้หวันก็มาสมทบโต้กลับแฟนคลับชาวจีนผ่านแฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด และ #MilkTeaAlliance ด้วย
แม้จะดูเป็นเพียงการตบตีกันระหว่างติ่ง แต่กลับแฝงไปด้วยแง่คิดทางการเมืองหลายอย่าง ทางสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเองเมื่อเห็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงได้ออกมาแถลงผ่านเฟซบุ๊กว่า จีนยืนยันหลักการจีนเดียว และมีคนบางฝ่ายเท่านั้นที่ไม่รู้และคิดอคติวางแผนมุ่งร้าย แต่แถลงการณ์นี้กลับเหมือนยิ่งสุมไฟความไม่พอใจให้ลุกโหมยิ่งกว่าเดิม
ทางด้าน ‘เจิ้ง เหวิน-ช่าน’ นายกเทศมนตรีไต้หวัน ก็ออกมากล่าวขอบคุณชาวไทยที่เป็นปากเสียงให้พวกเขาผ่านแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว ขณะที่ ‘ไช่ อิงเหวิน’ ประธานาธิบดีไต้หวัน ก็ได้ทวีตอวยพรสงกรานต์พี่น้องชาวไทยเป็นภาษาไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่นานหลังจากนั้น ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ยังออกมาผสมโรงด้วยการออกบทความเรื่อง ‘รักษ์แม่โขง: สายโลหิตทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงทั้งภูมิภาค’ เพื่อบริภาษจีน ในฐานะผู้ที่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน ส่งผลให้เกิดทั้งอุทกภัย และน้ำแล้ง ในประเทศด้านล่าง ทั้งลาว กัมพูชา และไทย ผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐฯ พร้อมกับยืนยันความสัมพันธ์กับไทย ในฐานะมิตรประเทศที่ ‘ซื่อตรง’ ยาวนาน 200 ปี ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทความดังกล่าว มีที่มาจากความเคลื่อนไหวของชาว ‘พันธมิตรชานม’
ทุกวันนี้ขบวนการพันธมิตรชานมยังคงดำรงอยู่ต่อไป ชาวไทย ชาวฮ่องกง และไต้หวันต่างให้กำลังใจกันในการเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านแฮชแท็กนี้ไม่ว่าจะเป็น โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง ที่มีการโพสต์ภาพและข้อความทางทวิตเตอร์ให้กำลังใจผู้ชุมนุมในไทยหลายครั้ง พร้อมติดแฮชแท็ก #MilkTeaAlliance ด้านชาวไทยเองก็มีการชูป้าย #MilkTeaAlliance ในการประท้วงเหล่าครั้ง และล่าสุดทางอินเดียที่มีกรณีขัดแย้งทางการเมืองกับจีนอยู่ได้เขามาเป็นอีกชาติที่ขอร่วมผลึกกำลังด้วย พร้อมชูมาซาลาไจหรือชานมเครื่องเทศเป็นสัญลักษณ์
เกรกอรี บี โพลิง นักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้อำนวยการโครงการ Asia Maritime Transparency Initiative แห่งศูนย์ Center for Strategic and Institutional Studies ที่กรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่าแฮชแท็ก #MilkTeaAlliance ช่วยให้เกิดการรวมตัวกันของผู้ที่สนับสนุนเสรีภาพของประชาชนและสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ไม่น่าแปลกใจที่กระแสนี้จะไม่ได้ต่อต้านเพียงแต่อำนาจเผด็จการของรัฐบาลจีน แต่ยังรวมถึงผู้มีอำนาจในไทยด้วย
4.รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ทำลายเพดานการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำนักศึกษากลุ่ม ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ กลายเป็นชื่อที่โดดเด่นขึ้นมา หลังจากอ่านแถลงการณ์และข้อเสนอ 10 ข้อ ให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมภายใต้ชื่อ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน
หลังจากนั้น รุ้ง ยังพาผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรทะลุ ‘เพดาน’ จากการปราศรัยอันลือลั่นที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ในการชุมนุม 19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร ที่สำคัญเธอยังเป็นผู้ยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่าน พลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตอกย้ำข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ส่งไปถึง ‘องคมนตรี’ เพื่อบอกว่าการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ไม่ใช่ ‘เรื่องต้องห้าม’ อีกต่อไป
นักศึกษาวัย 22 ปี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พื้นเพเป็นคนจังหวัดนนทบุรี มาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ประกอบอาชีพค้าขาย ตอนเด็กๆ เป็นคนขี้อาย แต่ได้ไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น
เธอสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อ และเริ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเข้าร่วมพรรคโดมปฏิวัติ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก็เป็นหนึ่งในผู้ประท้วงในการคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคอนาคตใหม่
แม้จะถูกจับกุมหลังจากคดีชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ และถูกคุมขังที่เรือนจำธัญบุรี ก่อนจะได้รับการประกันตัว และถูกจับกุมอีกครั้งจากการชุมนุมและปักหมุดที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เธอยังถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องอีกหลายคดี โดยเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งรุ้งโดนไปมากกว่า 4 คดี หากรับโทษด้วยอัตราสูงสุด รุ้งจะถูกจำคุกนานกว่า 60 ปี ไม่นับความผิดตามคดียุยง ปลุกปั่น ให้ล้มล้างการปกครอง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งรุ้ง มีหมายเรียกคาไว้อีกหลายคดี
แต่แม้จะถูกคุมขัง ถูกหมายเรียก ในหลายข้อหา แต่เธอกลับได้รับเลือกให้อยู่ในทำเนียบรายชื่อผู้หญิง 100 คนจากทั่วโลก ผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลประจำปี 2020 ของบีบีซี เคียงข้างผู้หญิงแถวหน้าจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทำให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถพูดถึงได้อย่างเป็นเรื่องปกติ
5.วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อีกหนึ่งผู้ลี้ภัยที่ถูก ‘อุ้มหาย’
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทยถูกบังคับให้ ‘สาบสูญ’ หลายปีที่ผ่านมา ผู้ที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านถูกอุ้มหายไปอย่างเงียบๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น โกตี๋ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ‘ลุงสนามหลวง’, สยาม ธีรวุฒิ และสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ต่างก็หายตัวไปอย่างลึกลับ โดย ‘อำนาจมืด’ โดยบางคน โผล่กลับมาอีกทีกลายเป็นศพที่ถูกควักเครื่องในออก และห่อไว้อย่างแน่นหนา ก่อนจะโผล่อีกทีกลางแม่น้ำโขง..
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นอีกหนึ่งผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ถูกชายฉกรรจ์ติดอาวุธกลุ่มหนึ่งจับตัวไป เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่หน้าคอนโดมิเนียม ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จนถึงวันนี้ ผ่านมานานกว่า 6 เดือน ไม่มีใครสามารถติดต่อวันเฉลิมได้อีกเลย
เขาเคยเป็นเอ็นจีโอ ทำงานด้านเอชไอวี ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันเฉลิมปฏิเสธการเข้ารายงานตัวตาม ‘คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ ในปี 2557 จึงถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของคสช.
นอกจากหมายจับข้อหาฝ่าฝืนการรายงานตัวจากคสช.แล้ว วันเฉลิม ยังมีหมายจับคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2561 กรณีเป็นแอดมินเพจ ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ’ ที่โพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด ทำให้วันเฉลิมตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปที่ประเทศกัมพูชา
ก่อนถูกอุ้มหายในวันที่ 4 มิถุนายน ข้อมูลสุดท้ายตามการรับรู้ของบุคคลใกล้ชิด คือสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ที่ระบุว่าเวลาประมาณ 16.35 น. ได้สนทนากับน้องชายผ่านทางโทรศัพท์ สักพักได้ยินเสียงดังปัง แรกเริ่มคิดว่าวันเฉลิมถูกรถชน ก่อนได้ยินเสียงวันเฉลิมร้องตะโกนว่า “หายใจไม่ออก ๆ ” อยู่ร่วม 30 นาทีก่อนที่สายจะตัดไป
การหายตัวไปของวันเฉลิมก่อให้เกิดกระแสไม่พอใจ นำมาสู่การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบุคคลที่สูญหาย ภายใต้แฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ขณะเดียวกัน การเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับวันเฉลิม ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเริ่ม ‘เคลื่อนไหว’ แสดงความไม่พอใจ ‘อำนาจมืด’ ซึ่งกลายเป็นแนวร่วมเยาวชนปลดแอก FreeYouth ชุมนุมครั้งแรก ในวันที่ 18 กรกฎาคม ก่อนจะขยายตัวเป็นวงกว้างมาจนถึงทุกวันนี้
6.ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ปลุกกระแสการแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สังคม
ปี 2020 เป็นอีกปีที่อุณหภูมิการเมืองของประเทศไทยสูงเป็นประวัติศาสตร์ และดูเหมือนจะมีหมุดหมายสำคัญหลายจุดที่น่าสนใจ ท่ามกลางบุคคลมากมายที่โดดเด่นขึ้นมาในห้วงยามที่สถานการณ์การเมืองไทยคุกรุ่น ชื่อของ ‘เป๋า’ – ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นอีกชื่อที่สังคมให้ความสนใจ ในฐานะผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หรือองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม ผู้ริเริ่มกิจกรรมเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน และมีผู้ร่วมลงรายชื่อกว่า 1 แสนคน อันเป็นภาพสะท้อนความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการเห็นความปกติคืนสู่การเมืองไทย
สาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีอยู่สิบข้อ ได้แก่ ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่คสช. เขียน และกดทับรัฐบาลทุกชุด, ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่คนของคสช. เป็นคนเขียน, ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช. ที่ช่วยให้คสช. ลอยนวลพ้นผิด, แก้ไขที่มา นายกฯ ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯ และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส., แก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง และลดอำนาจพิเศษของ ส.ว., แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญพร้อมสรรหาใหม่ยกชุด, แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย ใช้แค่เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็พอ และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง
“ผมยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ในฐานะประชาชน พลเมือง คนไทยคนหนึ่ง ที่มีความฝันอยากเห็นระบบการปกครอง ระบบการเมืองในประเทศทีผมอาศัยอยู่” คือคำพูดเริ่มต้นของการอภิปราย เมื่อเขาได้มีโอกาสเป็นตัวแทนเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนต่อรัฐสภา โดยระบุถึง ความฝัน 5 ข้อ ได้แก่
ข้อแรก ความฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองที่เปิดให้ประชาชนสามารถเลือกผู้จะมาใช้อำนาจปกครองได้ หรือประชาชนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แม้อาจจะต้องเลือกทางอ้อมผ่านสมาชิกรัฐสภา แต่อย่างน้อยสมาชิกรัฐสภาที่จะมานั่งอยู่ในห้องประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ต้องมาจากการเลือกของประชาชนทุกคน
ข้อสอง ความฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลมีความโปร่งใส ถูกตรวจสอบได้ หากมีการทุจริต คอรัปชั่น หรือมีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ จะมีองค์กรที่มีหน้าที่ มีอำนาจโดยตรง ในการเข้ามาตรวจสอบ ดำเนินการและเอาผิด ซึ่งองค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องมีที่มาที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และคนที่จะต้องไปใช้อำนาจตรวจสอบ
ข้อสาม ความฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ผ่านระบบการเลือกตั้ง ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกคน จะต้องแถลงนโยบายว่าอยากจะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน และประชาชนทุกคนจะร่วมกันตัดสินใจผ่านการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งจะต้องนำพาประเทศไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ และประชาชนก็สามารถเปลี่ยนใจได้อย่างน้อยทุกๆ 4 ปี
ข้อสี่ ความฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่ระบบยุติธรรมทำงานและปฏิบัติต่อทุกคน บังคับใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการยกเว้นความผิดให้กับใครไม่ว่าคนนั้นจะเคยทำอะไรมามีอำนาจ หรือใหญ่โตมาจากไหนก็ตาม
ข้อห้า ความฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่กติกาการปกครองสูงสุดที่ออกแบบรูปแบบการเมืองการปกครองที่รับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะถูกเขียนขึ้นโดยประชาชนมีส่วนร่วมได้ อย่างน้อยที่สุด การยกร่างก็ต้องทำโดยคนที่มีที่มายุดโยงกับประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคน และในกระบวนการจัดทำร่างก็ต้องเป็นบรรยากาศที่ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีความรู้สึกปลอดภัยที่พวกเขาจะสามารถเข้าร่วมกระบวนการได้
“นี่เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องสุดโต่ง และไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในบ้านเมืองเรา” น่าเสียดายที่ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญ iLaw ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และต้องถูกสภาตีตกไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในยุคสมัยที่การเมืองเปิดกว้างและเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสนทนากัน น่าสนใจว่า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และ iLaw จะเดินหน้าขับเคลื่อนไปในทิศทางใดต่อ เพื่อไปสู่สังคมแห่งเสรีภาพที่เขาวาดฝันไว้
7.ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์ ผู้ก่อตั้ง ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ กลุ่มเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกมากกว่า 2.1 ล้านคน
รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เคยเป็นนักการทูตที่อยู่ในกระทรวงการต่างประเทศนานกว่า 16 ปี ก่อนจะผันตัวเป็นนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศ ปวินคือหนึ่งในนักวิชาการไม่กี่คนที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เกิดให้ทันสมัย เรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ อย่างเปิดเผย
หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งยึดหนังสือเดินทางของปวิน หลังจากไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก ส่วนปวินได้ทำเรื่องขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นนักวิชาการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต
12 เมษายน 2560 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกประกาศ ให้ประชาชนไทยงดเว้นการติดต่อ เผยแพร่ข้อมูลบุคคลของปวิน, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และแอนดรูว์ มาร์แชล นักข่าวชาวสกอตแลนด์ เนื่องจากทั้ง 3 เผยแพร่ข้อมูล ‘ต้องห้าม’ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ทั้งหมด ก็ไม่สามารถหยุดทั้ง 3 คนได้
หลังลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับขอหนังสือเดินทางใหม่ ชื่อของ ปวิน ยังคงถูกพูดถึงในประเทศไทยบ่อยครั้ง และมากที่สุดในปีนี้ เมื่อปวินเริ่มก่อตั้งกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ ช่วงเดือนเมษายน กลุ่ม Facebook ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 2.1 ล้านคน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของคณะราษฎร จนถึงวันนี้ ปวินยังอยู่ในฐานะ ‘แอดมิน’ ของกลุ่ม และแม้จะถูกปิดกั้นการเข้าถึงในประเทศไปแล้วหนึ่งรอบ เมื่อปวินเปิดกลุ่มใหม่ เขาก็สามารถรวบรวมสมาชิกได้มากกว่า 700,000 คน ในระยะเวลาเพียงคืนเดียว
นอกจากการก่อตั้งกลุ่มที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเปิดเผย ปวินได้เดินสายให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศ และเป็นนักวิชาการไทยที่ถูกจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งของปีนี้
การเกิดขึ้นของกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการต่อสู้จากการสู้บนท้องถนนเพียงอย่างเดียว ไปสู่การต่อสู้ยุคใหม่บนโลกออนไลน์ ที่จะพาผู้คนกลับไปลงถนนอีกครั้ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยแรงส่งจากกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มนี้ ได้ทำให้เรื่อง ‘ต้องห้าม’ กลายเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ทั่วไป และสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งในปีนี้
8.มินนี่ – ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์หญิงผู้สร้างทำลายกำแพงของอายุและเพศในสังคม
หากยังจำกันได้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาวงการเพลงไทยได้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ เมื่อเพลง ‘พักก่อน’ ได้ถูกปล่อยมาให้ผู้ฟังได้รู้จัก และสามารถสร้างปรากฏการณ์ในฐานะเพลงของศิลปินหน้าใหม่ที่มียอดวิวเกินล้านในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงดีด้วยซ้ำ
เนื้อหาสุดแสนจัดจ้าน เสียงร้องอันมีจริตจะก้านเกินตัว และนักร้องที่ชื่อ MILLI ทั้งหมดคือข้อมูลที่วงการเพลงไทยมีอยู่ ณ ตอนนั้น ก่อนข้อสงสัยทั้งหมดจะถูกกระเทาะและเลาะตัวตนผ่านบทสัมภาษณ์ของหลากหลายสื่อในไม่กี่วันต่อมา จนได้ความว่า นี่คือผลลงานของเด็กมัธยมปลายคนหนึ่งที่ชื่อ ‘มินนี่’ – ดนุภา คณาธีรกุล
เธอคือเด็กกิจกรรมในโรงเรียน เป็นที่รู้จักมักจี่ของเหล่าผองเพื่อน จึงเป็นเหตุผลที่เธอได้เห็นสังคมที่หลากหลายตามปริมาณคนรอบข้าง ซึ่งเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นเลิศที่ทำให้เธอสามารถหา วิธี (Form) ในการสร้างผลงานที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ จน ‘ปังปุริปุเย่’ ทะยานสู่ดาวเด่นในวงการดนตรีได้ไม่ยาก
แต่ทั้งหมดนี้นั้น ยังเทียบไม่ได้แม้แต่น้อย หากพูดถึงเนื้อหา (Content) ที่เธอได้ทำการบอกเล่าผ่านเพลงเอาไว้ ‘เพศหญิงในอีกรูปแบบ ที่ไม่ต้องสงบเสงี่ยม เรียบร้อย เพราะการใช้ชีวิตให้เปรี้ยว ให้แซ่บ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความสุขที่ผู้หญิงทุกคนควรได้สัมผัส’ ถือเป็นความเด็ดเดี่ยวที่เธอกล้าออกมาพูดถึงในประเด็นนี้ และก็น่าชื่นชมอย่างมากที่เพลงของ MILLI ได้กระตุ้นให้สังคมเกิดการตั้งคำถามถึงบทบาทและสถานะทางเพศว่ามีปัญหาตรงไหนอยู่บ้าง จนนำไปสู่การขยายเพดาน เปิดพื้นที่ในเชิงวัฒนธรรม และให้อิสรภาพกับเพศหญิงมากยิ่งขึ้น
รวมไปถึงบุคลิกอันสดใส ร่าเริง ตามวัยของเธอ ทำให้ MILLI ถือเป็นวัยรุ่นที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทยตอนนี้
9.ฌอน บูรณะหิรัญ การล่มสลายของ ‘ไลฟ์โค้ช’
หากพูดถึงบุคคลแห่งปีในปี 2563 นั้น อีกบุคคลหนึ่งที่มีกระแสพูดถึงมากมายคงหนีไม่พ้น ฌอน บูรณะหิรัญ ผู้มีกระแสวิพากษ์วิจารย์ถึงการเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ทางด้านให้กำลังใจของเขา อีกทั้งยังมีข้อกังขาในการเปิดรับ ‘เงินบริจาคดับไฟป่า’ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่าไม่มีการออกมาชี้แจงถึงรายละเอียดของการใช้เงินบริจาคดังกล่าวอย่างชัดเจน
ฌอน บูรณะหิรัญ ได้เริ่มทำเฟสบุ๊คเพจ และช่องยูทูปของตัวเองในชื่อ “ฌอน สอนชายให้เป็นแมน” โดยทำ คอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์สำหรับผู้ชาย ก่อนที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเพจเป็น ฌอน บูรณะหิรัญ และผันตัวมาเป็น ‘ไลฟ์โค้ช’ นักพูดให้กำลังใจ อีกทั้งยังได้เปิดคอร์สสอนทำสื่ออนไลน์ และให้คำปรึกษา โดยที่คิดค่าบริการคุยวิดีโอคอล 1 ครั้ง ในราคา 3 หมื่นบาท
ทำให้ผู้คนเกิดข้อกังขา และมีข้อถกเถียงกันว่าการตั้งราคาของเขานั้น ไม่สมเหตุสมผล เพราะตัว ฌอน เองก็ไม่ได้มีผลงานจากการทำธุรกิจเป็นชิ้นเป็นอันอย่างชัดเจน อีกทั้งสิ่งที่ ฌอน พูดนั้นไม่สามารถใช้ได้จริงในเชิงปฏิบัติ เป็นเพียงแค่การพูดให้กำลังใจเพียงเท่านั้น
กระแสการแบน ฌอน บูรณะหิรัญ นั้นเริ่มจากการที่ ฌอน โพสต์คลิปที่ตัวเองไปทำกิจกรรมปลูกป่ากับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่รอดจากคดีสะสมนาฬิกาหรู ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับบอกว่า “เมื่อกี้ได้เจอท่านประวิตร มันไม่เหมือนที่เราเห็นในรูปภาพที่อยู่ในมีม ที่เขาหลับและภาพจะออกมาแบบดูร้ายหน่อย แต่พอได้เห็นตัวจริง เหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก ทำให้ผมนึกออกว่าสิ่งที่เราเห็นในสื่อ เขาก็มีเจตนาที่จะทำให้เราคิดอะไรบางอย่าง อย่าเพิ่งตัดสินใครจนกว่าเราได้เจอตัวเขาจริงๆ ได้คุยกับเขาและสัมผัสกับเขา”
จากที่มีข้อกังขาในการเป็น ไลฟ์โค้ช บวกกับจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ถูกใจของผู้คนในสังคม ทำให้เกิดกระแสแอนตี้ฌอน และตั้งคำถามกับจุดยืนการทำเพจของฌอนเองด้วย จนในวันที่ 27 มิถุนายน เพจแหม่มโพธิ์ดำ ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นเงินบริจาคสำหรับการดับไฟป่าเชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคมว่าเงินดังกล่าวนั้นได้ใช้ไปกับอะไรบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ทีมดับไฟป่าได้ออกมาพูดว่า “ยังไม่ได้รับของอะไรจากคุณฌอนเลย”
ฌอนออกมาชี้แจงรายละเอียดของเงินบริจาคในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยยืนยันยอดเงินบริจาคจำนวน 875,741.53 บาท พร้อมโชว์หลักฐานต่อกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ทว่า รายละเอียดดังกล่าวนั้นมีความไม่ชัดเจนอยู่หลายจุด และยังไม่ทำให้สังคมมองว่าการเปิดรับเงินบริจาคครั้งนี้ของ ฌอน เป็นไปอย่างโปร่งใส
โดย ฌอน ได้บอกว่านำมาใช้จ่ายในด้านของ กำลงคน กำลังสมองและกำลังทรัพย์ ในการสร้างความเข้าใจของปัญหาไฟป่า ทำสื่อเพื่อให้สังคมตะหนักรู้ และการลงพื้นที่ อีกทั้งในการชี้แจงรายละเอียดมีการบอกว่าเงินจำนวน 2.5 แสนบาทได้นำไปซื้อหน้ากากอนามัยสำหรับบริจาค และบูสต์โฆษณาสำหรับทำเพจตัวเองถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการทำเพื่อให้คนมาบริจาคเพิ่มขึ้นก็ตาม ทำให้ทางเพจแหม่มโพธิดำยังคงถามถึงยอดเงินที่แท้จริงของเงินบริจาคดังกล่าว เพราะไม่ได้มีการโชว์สเตทเมนท์การรับเงินอย่างชัดเจน
วันที่ 7 กรกฎาคม ฌอน ออกมาขอโทษ และชี้แจงเกี่ยวกับปมเรื่องเงินบริจาคอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้บอกว่ายอดบริจาคล่าสุดอยู่ที่ 1.3 ล้านบาท มีการโอนไปยังบัญชีส่วนตัวของตัวเอง 1 ล้าน จ่ายบัตรเครดิต 2 แสนกว่าบาท และ โอนไปยังบัญชี บริษัท เชียงใหม่ เดลต้า บริษัทจัดซื้อหน้ากากอนามัย และชุด PPE ราว 2 แสนบาท
การกระทำของ ฌอน นั้นหากถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีความผิดจริง จะทำให้โดนความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ. เรี่ยไรเงิน และข้อหาฉ้อโกงประชาชน ซึ่งในปัจจุบัน ยังอยู่ในขั้นตอนการส่งสำนวนคดีไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่สามารถรับคดีได้ทั้งประเทศ
ณ ปัจจุบัน ฌอน บูรณะหิรัญ กลับมาทำสื่อลงเพจหลักของตัวเองเช่นเดิมหลังจากเกิดคดีดังกล่าว แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือทั้งจำนวนความถี่ของโพสต์ และจำนวนของผู้ติดตามนั้นน้อยลงไปมาก การกระทำทั้งหมด ทำให้ตัวของ ฌอน และวงการไลฟ์โค้ชถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนักว่าคนที่ทำอาชีพนี้ ยังคงมีความน่าเชื่อถืออยู่มากน้อยเพียงใด ส่วนเรื่องของคดีความจะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป
10.ลุงพล-ไชย์พล วิภา เซเลปข้ามคืน ผู้ตอกย้ำรสนิยมการบริโภคสื่อของคนไทย
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 เมื่อมีรายงานข่าวว่า ‘น้องชมพู่’ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายตัวไปจากหมู่บ้านกกกอก ในจังหวัดมุกดาหาร ก่อนที่จะไปพบศพเด็กหญิงในสภาพเปลือย ณ บริเวณภูเหล็กไฟ ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า ‘ใครฆ่าน้องชมพู่’
หลังจากนั้นกระแสสังคมก็เริ่มให้ความสนใจกับคดีฆาตกรรมนี้มากขึ้น มีการตั้งสมมติฐานพร้อมกับการรายงานข่าวแบบเกาะติดโดยสำนักข่าวหลากหลายสื่ออยู่ตลอด แต่หากพิจารณาจากกระบวนการของพนักงานสอบสวนและคำบอกเล่าของคนในหมู่บ้านกกกอกแล้ว ผู้ต้องสงสัยในคดีนี้มีความเป็นไปได้หลายคนมาทั้งครอบครัวของน้องชมพู่ บุคคลที่ใกล้ชิดกับน้องชมพู่ในช่วงสุดท้ายที่พบเห็น รวมไปถึง ลุงพล หรือ นายไชย์พล วิภา ผู้ต้องสงสัยที่ ‘ป๊อปปูล่า’ ที่สุดในช่วงเวลานั้น
ด้วยบุคลิกแบบถามตรง-ตอบตรง และไม่เคยหนีหน้าสื่อ ลุงพลจึงเป็นตัวละครหลักที่ถูกทำให้มีบทบาทอยู่แทบทุกตอนในคดีบ้านกกกอก และนั่นก็เป็นจุดเด่นสำคัญที่ได้สร้างความน่าสงสารให้กับลุงพล จนผู้คนที่ตามข่าวน้องชมพู่บางส่วนได้สมัครเป็นแฟนคลับ และเริ่มออกมาปกป้องผู้ต้องสงสัยคนนี้ ในฐานะ ‘ลุงพลเอฟซี’ มากยิ่งขึ้น
ความผิดปกติเริ่มขึ้นตรงนี้ เพราะหลังจากนั้น กระแสของลุงพลได้กลับตาลปัตรจากหลังมือเป็นหน้ามือ หนุ่มหน้าใส ใจซื่อ กลายเป็นที่ถูกใจของสื่อและแฟนคลับ วงการบันเทิงเองก็เริ่มเปิดแขนอ้ารับลุงพล เข้ามาเป็นหนึ่งใน เซเลป ที่มีงานจิปาถะมากมายไม่ว่าจะเป็นเล่นเอ็มวีเพลงเต่างอย ของจินตหรา พูนลาภ ออกรายการทีวี เป็นนายแบบ ไปจนถึงการเป็นยูทูปเบอร์ ที่ลงคลิปกินข้าวเช้า ความยาวเพียงแค่ 2 นาที ก็มีคนดูถึง 1,300,000 กว่าคน
แต่ลุงพลหิวข้าว ก็ยังไม่เท่าสื่อหิวเรตติ้ง เพราะกลายเป็นว่าหลังจากนั้นสื่อพยายามสร้างภาพจำให้กับลุงพล ในฐานะของเซเลปวงการบันเทิงที่สู้ชีวิต เอาความดีเข้าแลก จนกลายมาเป็นขวัญใจของพ่อยกแม่ยกทั้งหลาย โดยที่บางคนอาจจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่า เขายังเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมเด็กสาวคนหนึ่งอยู่
การที่เกิด ‘ลุงพลฟีเวอร์’ ขึ้นมาในสังคม สะท้อนบรรทัดฐานในการทำงานและการบริโภคสื่อของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี ว่าเรากำลังอยู่ในประเทศที่ ‘เสพติดดราม่า’ จนกลายเป็นเรื่องปกติ ในยุคสมัยที่ความจริงและปัญหาสังคม มีสถานะต่ำต้อยกว่า ความน่าสงสารบนหน้าจอเวที ก็ควรตั้งคำถามได้แล้วว่า เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนกัน เพราะต้องอย่าลืมว่า ทั้งหมดนี้คือละครดราม่าที่กำลังกดทับร่างไร้วิญญาณของเด็กน้อยคนหนึ่งอยู่
Tags: 10บุคคลแห่งปี, 10Peopleof2020WhoDriveMomentum