‘หนึ่งเขต หนึ่งวรรณกรรม กรุงเทพมหานคร’ โซนที่เราสะดุดตามากที่สุดเมื่อเดินอยู่ใน Bangkok City Library หรือหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเก่าแก่กว่าสามชั้นบนถนนราชดำเนินกลาง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่อ่านหนังสือที่มีผู้คนเข้าใช้บริการอยู่เป็นประจำ
ตัวอาคารทรงสูงปล่อยให้แสงธรรมชาติลอดผ่านช่องหน้าต่างบานใหญ่ บนชั้นสองของหอสมุดแห่งนี้ ประกอบด้วยหนังสือต่างประเทศ วรรณกรรมหายาก และหนังสือทั่วไป เราไล่สายตาไปตามชั้นหนังสือที่วางเรียงแถวหน้ากระดานอยู่ในโซน ‘หนึ่งเขต หนึ่งวรรณกรรม กรุงเทพมหานคร’ ตรงหน้าคือหนังสือจำนวน 50 เล่ม ที่มีชื่อเขตการปกครองของกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขตระบุไว้
โซนพิเศษนี้ถูกจำแนกออกมาเป็นมุมเฉพาะ ข้างกันเป็นหนังสือรางวัลซีไรต์ มีป้ายกำกับชัดเจน เป็นบริเวณที่มีคนผ่านไปมา เนื่องจากเป็นทางเดินเชื่อมไปสู่โซนอื่นในหอสมุด บวกกับตอนที่เราไปมีหนังสือกว่าครึ่งที่ไม่ได้วางอยู่บนชั้น เพราะมีคนยืมออกไป ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่ามีผู้สนใจมุมนี้อยู่ไม่น้อย
แวบแรก เรานึกถึงโครงการกระตุ้นธุรกิจประกอบการท้องถิ่น หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป ที่ริเริ่มเมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ตามด้วยความสงสัยถัดไปว่าทำไมหนังสือทั้ง 50 เล่มนี้จึงถูกจัดวางอยู่ที่นี่ และอะไรคือจุดเชื่อมโยงของเขตการปกครองกับวรรณกรรม
“แต่ละเขตน่าจะมีวรรณกรรมของตัวเอง เป็นโปรดักต์ เป็นตัวแทนเหมือนมาสคอตแบบญี่ปุ่น เพราะแต่ละพื้นที่มีเรื่องราวของตัวเอง โปรเจกต์นี้เลยเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนในเขตสนใจหรือสงสัยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกี่ยวข้องกับเขตของเขา เกี่ยวยังไง และทำให้เขาอยากหาคำตอบ”
บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดเริ่มเล่าที่มา
ย้อนกลับไปเมื่อกรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นเมืองหนังสือโลก ปี 2556 (World Book Capital 2013) สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เริ่มโครงการตามหาวรรณกรรมคนกรุง ‘1 เขต 1 วรรณกรรม กรุงเทพมหานคร’ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจที่เคยเสนอไว้ เพื่อส่งเสริมการอ่านและนำไปสู่การเรียนรู้วิถีชุมชนของตัวเอง
บรรณารักษ์ยังเล่าถึงขั้นตอนการคัดเลือกหนังสือแต่ละเล่ม ว่า
“ตอนแรกทำจดหมายส่งไปให้แต่ละเขตคัดเลือกหนังสือเอง โจทย์คือให้ 50 เขตของกรุงเทพฯ ส่งวรรณกรรมเขตละ 1 เรื่อง ซึ่งในเนื้อหาต้องมีตัวละครใดตัวละครหนึ่ง หรือมีบรรยากาศเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับเขตนั้นๆ ปรากฏว่าเรื่องที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นเรื่องผี (หัวเราะ) ตำนานต้นตะเคียน แม่นาก เจ้าแม่ไทร อะไรต่อมิอะไรมา จริงๆ ถ้าจะทำตำนานผีประจำเขตก็น่าจะได้ข้อมูลเยอะเลยนะ (หัวเราะ) จนต้องอธิบายใหม่ ไกด์แนวทางและยกตัวอย่างไป ซึ่งก็ต้องผ่านการตรวจสอบและคัดเลือกอีกทีจนตกผลึกมาเป็น 50 เล่มนี้”
หนังสือหลายเล่มเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันดี เช่น กลางใจราษฎร์, เรื่องทองแดง, ผู้ดี, ข้ามสีทันดร, ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน, จดหมายจากเมืองไทย, พระจันทร์สีน้ำเงิน, แผลเก่า, สี่แผ่นดิน, คู่กรรม, แม่นากพระโขนง ฯลฯ
และหลายเล่มก็มาจากผู้ประพันธ์คนเดียวกันอย่าง ทมยันตี, กฤษณา อโศกสิน, ประภัสสร เสวิกุล, โบตั๋น, ชมัยภร แสงกระจ่าง, ว.วินิจฉัยกุล นักเขียนที่นวนิยายส่วนใหญ่ล้วนถูกหยิบไปสร้างเป็นบทละครและภาพยนตร์
“บางเรื่องตัวละครเกิดที่นี่ บางเรื่องดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นที่นี่ บางเรื่องอย่างเช่น เรื่องทองแดง ทำไมเป็นเขตวังทองหลาง ก็เพราะคุณทองแดงเป็นสุนัขที่เกิดที่นั่น มันมีจุดที่เชื่อมโยงบางอย่างกับเขต อย่างเขตดอนเมืองจะเป็นเรื่อง สายแดง ที่ตัวละครเป็นนักเรียนการบินแห่งกองทัพอากาศไทย เรื่องราวในนั้นก็จะบันทึกบรรยากาศและประวัติศาสตร์การบินไทยเอาไว้ หรือบางจุดก็จะเห็นได้ชัด อย่างเขตพระโขนงก็ต้องเป็น แม่นาก เขตบางกอกน้อยก็ต้องเป็นคู่กรรม ซึ่งตัวละครอังศุมาลิน เกิดและโตที่ริมคลองบางกอกน้อย หรืออย่าง จดหมายจากเมืองไทย นิยายที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคนจีนในไทย เล่าผ่านตัวละครที่เขียนจดหมายส่งกลับไปหาแม่ที่เมืองจีน ซึ่งฉากในเรื่องระบุชัดเจนที่หัวจดหมายว่าเป็นย่านสำเพ็งและเยาวราช ในเขตสัมพันธวงศ์”
“หนังสือที่ถูกคัดเลือกจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย จะเห็นว่ากว่าแปดสิบเปอร์เซนต์เป็นนวนิยาย พยายามไม่ไปแตะเรื่องที่ซับซ้อนหรือหมิ่นเหม่ จะเน้นเรื่องที่อ่านได้ไม่ยาก ให้คนทั่วไปอ่านได้ง่ายๆ”
—ทั้งหมดที่เลือกมาต้องเป็นเรื่องที่อ่านง่าย ไม่ซับซัอน และนั่นก็พอจะสะท้อนให้เห็นว่าผู้เลือกอยากหยิบยื่นเรื่องราวแบบใดให้กับเรา และในระหว่างบรรทัดนั้นได้ปรากฏนัยบางอย่าง
เราเลือกหยิบบางส่วนบางตอนจากบทวิเคราะห์เรื่อง คู่กรรม ที่คณะผู้คัดเลือกหนังสือได้บรรยายไว้มาให้ดูประกอบกัน “ทมยันตียังปรารถนาที่จะสื่อถึงแนวคิดชาตินิยม ปลูกฝังและส่งเสริมให้คนไทยรู้จักรักประเทศชาติของตนเอง รู้คุณของแผ่นดิน…”
หรือในบทวิเคราะห์เรื่อง สี่แผ่นดิน ที่เล่าถึงตัวละครแม่พลอย ที่เกิดและเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านการปกครอง “ผู้เขียนได้ขมวดปมตรงท้ายว่า สี่แผ่นดินนั้นช่างเป็นเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน เพราะชีวิตพลอยได้ผ่านสิ่งต่างๆ นานานัปการ และมากพอแล้วจะที่จากโลกนี้ไป เพราะเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคือองค์พระมหากษัตริย์ได้เสร็จสวรรคตไปอย่างกระทันหัน”
เรื่อง ผู้ดี ของ ดอกไม้สด ที่เขียนขึ้นในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งกลุ่มคนชั้นสูงได้รับผลกระทบอย่างมาก ประกอบกับมีชนชั้นกลางเกิดขึ้นมาก ในเนื้อเรื่องจึงมีการนิยามความหมายของผู้ดีกันใหม่ สื่อให้เห็นถึงการ ‘ปรับตัว’ ของกลุ่มกลุ่มคนชั้นสูงหลังการปฏิวัติปี 2475 เป็นต้น
เราถามถึงเขตเกิดใหม่ที่อาจไม่ได้เป็นฉากหลังของประวัติศาสตร์ หรืออาจจะไกลปืนเที่ยงในขณะนั้น
“ถ้าไม่ใช่เขตใหญ่ๆ บางทีก็แทบจะไม่มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์หรือเรื่องของตัวเองเลย ทำให้ทีมวิจัยต้องค้นคว้าข้อมูลค่อนข้างเยอะ บางเรื่องก็เป็นจุดเชื่อมเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดขึ้นมา อย่างเขตบึงกุ่ม เป็นเรื่อง ตำนานเสรีไทย อาจเพราะมีสวนเสรีไทย และพิพิธภัณฑ์ เสรีไทยอนุสรณ์ อยู่ตรงนั้น ถามว่าขบวนการเสรีไทยเคยไปทำอะไรที่เขตบึงกุ่มมั้ย เอาจริงๆ ก็อาจจะไม่”
บรรณารักษ์กำลังเล่าถึง ตำนานเสรีไทย วรรณกรรมประเภทสารดคีเขียนโดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร หนังสือปกแข็ง ความหนานำสายตาที่สุดเล่มหนึ่งบนชั้น ด้วยขนาด 8 หน้ายก จำนวน 1,416 หน้า หนังสือเล่มนี้ยังไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงนัก แต่หากอ้างอิงจากบทความ ทำไม”ตำนานเสรีไทย” ไม่ถูกบรรจุในตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทย มีการกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า
“ว่ากันว่าเป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่บันทึกเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยไว้อย่างละเอียด รอบด้าน และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการเขียนและพิมพ์กันมา” และ
“ถือว่าเป็นวีรกรรมแห่งการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของวีรชนในขบวนการเสรีไทย ที่ได้ปฏิบัติการกู้ชาติกู้แผ่นดินเมื่อครั้งที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ในช่วงปี พ.ศ. 2484-2488”
สำหรับเราที่อาศัยอยู่ในเขตบึงกุ่มตั้งแต่อนุบาลจนถึงปัจจุบัน เท่าที่เรารู้ก็คือถนนที่เชื่อมเราเข้าสู่เมืองนั้นมีการเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ คือ ‘ประเสริฐมนูกิจ’ (เกษตร-นวมินทร์) และ ‘ประดิษฐ์มนูธรรม’ (เลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์) ซึ่งมาจากราชทินนามคู่ของหลวงประเสริฐมนูกิจ (นายประเสริฐ ศิริสัมพันธ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และผู้นำพลเรือนในคณะราษฎร) และก็มีถนนศรีบูรพาซึ่งตัดกับถนนเสรีไทย มีสวนเสรีไทย ซึ่งมาจากการเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ความสอดคล้องก็เห็นจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเพื่อรำลึก หรือ เพื่อเป็นเกียรติ เท่านั้น
และด้วยความที่บึงกุ่มเป็นเขตชานเมืองที่ไกลออกมา ไม่ได้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ปรากฏเหมือนอย่างเขตในเมือง เราเลยนึกไม่ถึงเหมือนกันว่าเล่มถูกคัดเลือกให้เป็นหนังสือประจำเขตจะเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องอะไร คิดไว้ว่าอาจเป็นตำนานที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกับแสนแสบ แต่กลับกลายเป็นว่า ตำนานเสรีไทย เป็นเล่มที่ ‘หนา’ และ ‘หนัก’ ที่สุดบนชั้นซึ่งกว่าแปดสิบเปอร์เซนต์เป็นนิยาย ซึ่งสำหรับเรา นี่เป็นเล่มที่น่าสนใจที่สุด
หรือที่จริง เขตที่มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์หนาแน่นต่างหากที่ผู้ปกครองไม่อยากพูดถึง หรือเลือกที่จะพูดถึงเท่าที่อยากให้รู้ เขตนอกสายตานั้นในทางหนึ่งก็หมายถึงอาจรอดพ้นจากความระมัดระวังก็เป็นได้
พ้นไปจากหนังสือจากเขตบึงกุ่มที่เสนอเรื่องของขบวนการเสรีไทย (ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ) เมื่อพิจารณาจากรายชื่อหนังสือ 50 เล่มในลิสต์ จะเห็นว่าแต่ละเล่มล้วนถูกคัดเลือกโดยผ่านสายตาของรัฐไทยซึ่งเข้าทำนอง ‘หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน’ แทบทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็ชวนให้ตั้งคำถามเช่นกันว่าหนังสือดี ที่ว่านี้ ดีอย่างไร ดีในสายตาใคร แล้วทำไมรัฐไทยจึงอยากให้คนไทยอ่าน?
คงน่าสนใจอยู่เหมือนกันถ้าโปรเจกต์ หนึ่งเขต หนึ่งวรรณกรรม ถูกจัดขึ้นอีกครั้งด้วยสายตาอื่น—สายตาที่ไม่ต้องมี คุณงามความดี ค้ำไว้
และถึงโปรเจกต์ที่ว่านี้จะจบไปแล้วเมื่อกรุงเทพฯ ส่งต่อตำแหน่งเมืองหนังสือโลกให้กับเมืองพอร์ท ฮาร์คอร์ต สาธารณรัฐไนจีเรีย (ในปี 2557) แต่ที่หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ เลือกที่จะเก็บคอลเลคชั่น ‘หนึ่งเขต หนึ่งวรรณกรรม’ นี้ไว้เพื่อให้บริการยืมและจัดแสดงเป็นการถาวร
หอสมุดกรุงเทพมหานคร
เวลาทำการ: อังคาร – เสาร์ 08:30 – 21:00 น. / อาทิตย์ 09:00 – 20:00 น. / ปิดวันจันทร์
อ้างอิง:
http://www.bangkokcitylibrary.com/
https://prachatai.com/journal/2005/08/5287
https://www.thairath.co.th/content/425525
หนังสือ เท่-เหนือ-ไทย 1 เขต 1 วรรณกรรม กรุงเทพมหานคร จัดทำโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
Fact Box
รายชื่อหนังสือของแต่ละเขตได้แก่
กลุ่มเขตที่ 1 กรุงเทพกลาง (9 เขต)
เขตพระนคร — กลางใจราษฎร์ (ผู้เขียน : คริส เบเคอร์, เดวิค สตรีคฟัส, พอพันธ์ อุยยานนท์, จูเลียน เกียริง, พอล วีเดล, ริชาร์ด เออห์ลิค, โรเบิร์ต ฮอร์น, โจ คัมมิงส์, โรเบิร์ต วู้ดโรว์ / ผู้แปล : มนันยา, จงจิต อรรถยุกติ, พรรษพร ชโลธร)
เขตวังทองหลาง — พระราชนิพนธ์ เรื่อง ทองแดง (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช)
เขตดุสิต — สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระปิยมเหสีในรัชกาลที่ 5 (ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์)
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย — กุหลาบแห่งแผ่นดิน (ชมัยภร แสงกระจ่าง)
เขตสัมพันธวงศ์— จดหมายจากเมืองไทย (โบตั๋น)
เขตดินแดง — ฟ้ากระจ่างดาว (กิ่งฉัตร)
เขตพญาไท — อาม่าบนคอนโด (ชมัยภร แสงกระจ่าง)
เขตราชเทวี — ชาวกรง (กฤษณา อโศกสิน)
เขตห้วยขวาง — สามเกลอ (ป.อินทรปาลิต)
กลุ่มเขตที่ 2 กรุงเทพใต้ (10 เขต)
เขตปทุมวัน — ซอย 3 สยามสแควร์ (กนกวลี พจนปกรณ์)
เขตบางรัก — ผู้ดี (ดอกไม้สด)
เขตสาทร — ยิ่งฟ้ามหานที (กนกวลี พจนปกรณ์)
เขตบางคอแหลม — ลอดลายมังกร (ประภัสสร เสวิกุล)
เขตยานนาวา — เวลาในขวดแก้ว (ประภัสสร เสวิกุล)
เขตคลองเตย — ข้างหลังภาพ (ศรีบูรพา)
เขตวัฒนา — ขอหมอนใบนั้น...ที่เธอฝันยามหนุน (ประภัสสร เสวิกุล)
เขตพระโขนง — เปิดตำนานแม่นากพระโขนง (เอนก นาวิกมูล)
เขตสวนหลวง— ข้ามสีทันดร (กฤษณา อโศกสิน)
เขตบางนา— ฟ้าสางที่กลางใจ (นราวดี)
กลุ่มเขตที่ 3 กรุงเทพเหนือ (7 เขต)
เขตจตุจักร — จิตตนคร นครหลวงของโลก (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก)
เขตดอนเมือง — สายแดง (ส. บุญเสนอ)
เขตบางเขน— จักรยานแดงในรั้วสีเขียว (ดำรงค์ อารีกุล)
เขตบางซื่อ — เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ)
เขตลาดพร้าว — จากฝัน...สู่นิรันดร (แก้วเก้า)
เขตหลักสี่ — คุณชายรณพีร์ (แพรณัฐ)
เขตสายไหม — เด็กชายมะลิวัลย์ (ประภัสสร เสวิกุล)
กลุ่มเขตที่ 4 กรุงเทพตะวันออก (9 เขต)
เขตบางกะปิ— แผลเก่า (ไม้ เมืองเดิม)
เขตมีนบุรี—แสนแสบ (ไม้ เมืองเดิม)
เขตบึงกุ่ม— ตำนานเสรีไทย (ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร)
เขตลาดกระบัง— พระจันทร์สีน้ำเงิน (สุวรรณี สุคนธา)
เขตประเวศ—สวัสดี...ข้างถนน (ชมัยภร แสงกระจ่าง)
เขตสะพานสูง— เงาราหู (โสภาค สุวรรณ)
เขตคันนายาว— ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน (วินทร์ เลียววาริณ)
เขตหนองจอก— ร่มฉัตร (ทมยันตี)
เขตคลองสามวา— จดหมายถึงดวงดาว (ชมัยภร แสงกระจ่าง)
กลุ่มเขตที่ 5 กรุงธนเหนือ (8 เขต)
เขตบางกอกใหญ่ — สี่แผ่นดิน (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)
เขตบางกอกน้อย — คู่กรรม (ทมยันตี)
เขตคลองสาน — สองฝั่งคลอง (ว.วินิจฉัยกุล)
เขตธนบุรี — บูรพา (ว.วินิจฉัยกุล)
เขตจอมทอง — ปริศนา (ว.ณ ประมวญมารค)
เขตบางพลัด — หน้าต่างบานแรก (กฤษณา อโศกสิน)
เขตตลิ่งชัน — พระนิพนธ์ แก้วจอมแก่น (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี - แว่นแก้ว)
เขตทวีวัฒนา — พระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
กลุ่มเขตที่ 6 กรุงธนใต้ (7 เขต)
เขตราษฎร์บูรณะ — เขียนฝันด้วยชีวิต (ประชาคม ลุนาชัย)
เขตบางขุนเทียน — แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ)
เขตภาษีเจริญ — ลมที่เปลี่ยนทาง (กฤษณา อโศกสิน)
เขตบางแค — แวววัน (โบตั๋น)
เขตหนองแขม — ชีวิตในวัง (ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์)
เขตทุ่งครุ — พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช)
เขตบางบอน — ชีวิตไทย (เอนก นาวิกมูล)