ในขณะที่เทรนด์พาหนะไฟฟ้ากำลังรุกคืบไปทั่วทุกหัวมุมเมืองของหลายประเทศทั่วโลก ประเทศ ‘อินเดีย’ ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องของความวุ่นวายบนท้องถนน เริ่มเป็นหมุดหมายน่าสนใจที่ทั้งแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง เทสล่า (Tesla) ของเจ้าพ่อนักธุรกิจ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) กำลังจะเข้าไปตีตลาด หรือแบรนด์ธุรกิจยานยนต์สัญชาติอินเดียเองอย่าง ‘โอล่า อิเล็คทริกส์’ (Ola Electric) ที่ตัดสินใจเข้าสู่ฐานสายการผลิต ‘สกูตเตอร์ไฟฟ้า’ (Electric Scooter) พร้อมนโยบายว่าจ้างเฉพาะ ‘พนักงานหญิง’
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศอินเดียยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำที่นอกจากเรื่องของวรรณะแล้ว เรื่องเพศเองก็ยังอยู่ในสถานะอีหลักอีเหลื่อ ติดอยู่กับวัฒนธรรม ‘ชายเป็นใหญ่’ อยู่วันยังค่ำ เพศหญิงจึงยังมักถูกสั่งสอนให้เป็นแม่ศรีเรือนมากกว่าการออกหาเลี้ยงปากท้องด้วยลำแข้งตัวเอง ซึ่งความเชื่อดังกล่าวทำให้สายงานต่างๆ ในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะงานที่ต้องอยู่กับสายพานเครื่องจักรการผลิตต้องสูญเสียบุคลากรเพศหญิงไป ทว่าโอล่า อิเล็คทริกส์ ยอมลื้อขนบความคิดเหล่านั้นทิ้งไปด้วยแนวคิด ‘การสร้างโรงงานแห่งโลกอนาคต’ (FutureFactory) ซึ่งกำลังเตรียมเดินเครื่องการผลิตในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ (ราวปลายเดือนกันยายน 2021)
“เรากำลังจะสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่ง และผมคาดว่าเราจะเป็นโรงงานแห่งเดียวบนโลกที่ประสบความสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงของบุคลากรหญิงล้วน นโยบายเหล่านี้ก็เพื่อให้ประเทศอินเดียกลายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์อันดับหนึ่งของโลก ฉะนั้นแล้วเราต้องจัดลำดับความสำคัญ พร้อมเพิ่มพูนทักษะฝีมือแรงงานและเพิ่มอัตราการจ้างงานให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาสำหรับประเทศแห่งนี้”
ภาพ: olaelectric.com
‘ภาวิช แกการ์วาล’ (Bhavish Aggarwal) เศรษฐีหัวก้าวหน้าผู้ติดอันดับ 1,000 ผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์ (Time) และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โอล่า อิเล็คทริกส์ ได้ออกมาแถลงไขข้อข้องใจว่าสาเหตุใดที่บริษัทผลิตสกูตเตอร์ไฟฟ้าหน้าใหม่ถึงกล้าตัดสินใจฉีกขนบธรรมเนียมว่าจ้างพนักงานหญิงล้วนเพื่อผลิตตัวสกูตเตอร์ไฟฟ้าทุกขั้นตอน เพราะนอกจากการจะได้แรงงานฝีมือชั้นเยี่ยมเพศหญิงที่บริษัทเจ้าอื่นปฎิเสธแล้ว ในแง่ของการช่วยผลักดันตลาดส่งออกยานพาหนะของประเทศอินเดียยังเป็นอีกข้อปัจจัยสำคัญ หลังคำนวณเบ็ดเสร็จแล้วหากแรงงานที่เป็นเพศหญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตจะช่วยให้ค่า GDP ตลาดยานยนต์ประเทศอินเดียสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงอย่างมากหากคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด – 19 ที่เล่นงานพวกเขาจนอ่วมในช่วงกลางปีจนค่าตัวเลขชะลอตัวลดลงกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นแล้วการรีบกล้าตัดสินใจจึงเป็นทางออกสำคัญหากยังต้องการรีบฟื้นตัวก่อนล้มละลาย
สำหรับโรงงานผลิตสกูตเตอร์ไฟฟ้าจากบุคลากรเพศหญิงโดย ‘โอล่า อิเล็คทริกส์’ (Ola Electric) คาดว่าจะเริ่มต้นการผลิตอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า (2022) โดยจะตั้งฐานการผลิตแห่งแรก ณ รัฐทมิฬนาฑู เมืองเจนไน ก่อนขยายไปสู่เมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี และเมืองบังคาลอร์ในอนาคต
ไตรมาสแรกพวกเขาจะใช้พนักงานหญิงทั้งหมด 10,000 ชีวิต ก่อนว่าจ้างเพิ่มเติมต่อไป โดยคาดว่าหากเริ่มเดินหน้าการผลิตอย่างเต็มตัวจะสามารถผลิตสกูตเตอร์ได้มากถึงปีละ 10 ล้านคันต่อปี ทั้งคาดว่าบริษัท ‘โอล่า อิเล็คทริกส์’ (Ola Electric) จะเติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หลังพวกเขาตัดสินใจระดมทุนขายหุ้นแก่นักลงทุนทั่วไป (IPO) รวมถึงแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น เทมาเส็ก (Temasek) และ พลัม วู้ด อินเวสเมนท์ (Plum Wood Investment Ltd) จนได้เงินลงทุนก้อนโตราวๆ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อนาคตข้างหน้ายังคงต้องจับตาดูต่อไปว่าบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง ‘โอล่า อิเล็คทริกส์’ (Ola Electric) ที่แตกแขนงมาจาก ‘OLA’ บริษัทให้บริการรถเดินทางสัญชาติอินเดียจะมีอิทธิพลต่อตลาดยานยนต์โลกได้ถึงขนาดไหน แต่ตอนนี้เรียกว่าพวกเขาก็ได้รับเสียงตอบรับในด้านบวกเป็นต้นทุนแล้ว ในการทลายขนบธรรมเนียมความเหลื่อมล้ำทาง ‘เพศ’ เพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตที่ทุกคนเท่าเทียมกัน
ภาพ: olaelectric.com
ที่มา:
–https://edition.cnn.com/2021/09/13/business/electric-scooter-factory-women/index.html
–https://www.indiatimes.com/technology/news/world-largest-e-scooter-factory-indian-women-549353.html
Tags: ElectricScooter, FactoryByWomen, Business, OlaElectric