ส่วนตัวคิดว่า แมตต์ รีฟส์ ผู้กำกับและเขียนบท ตั้งชื่อบทสรุปไตรภาค The Planet of the Apes ผิดไปเยอะมากทีเดียว เพราะ War for the Planet of the Apes แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับมหาสงครามระหว่างวานรกับมนุษย์สักเท่าไร

 

จริงอยู่ที่เนื้อหาหลักของ War for the Planet of the Apes เป็นผลพวงมาจาก Dawn of the Planet of the Apes (2014) หลัง ‘โคบา’ ยึดอำนาจควบคุมเผ่าพันธุ์วานรจาก ‘ซีซาร์’ และยกพวกเข้าถล่มมนุษย์ด้วยความแค้นเมื่อครั้งอดีต ทำให้ความเชื่อใจระหว่างสองเผ่าพันธุ์กลายเป็นเส้นขนาน ไม่สามารถหวนกลับมาเชื่อมไมตรีกันได้อีกต่อไป

แต่ทำไปทำมากลับกลายเป็นว่า แมตต์ รีฟส์ ไม่ให้น้ำหนักกับสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์อย่างที่คิด แต่หันมาเน้นสำรวจความคิดและจิตใจของซีซาร์ที่เพิ่งผ่านการสูญเสียครอบครัวมาหมาดๆ มากกว่า

ในแง่ของการเป็นหนังที่ใช้ชื่อ War for the Planet of the Apes คงต้องบอกตามตรงว่า แมตต์ รีฟส์ สอบตกและทำได้ค่อนข้างน่าผิดหวัง ทั้งที่สมัยเข้ามารับไม้กำกับ Dawn of the Planet of the Apes ต่อจาก รูเพิร์ต ไวแอตต์ ที่กำกับ Rise of the Planet of the Apes (2011) เขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม

เมื่อ Rise of the Planet of the Apes ปูต้นทางความฉลาดของวานรและสาเหตุที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ค่อยๆ ล้มตาย Dawn of the Planet of the Apes จึงเข้ามาขยายจักรวาลพิภพวานร ด้วยการวางโครงสร้างอำนาจในสังคมวานร ซึ่งมีคู่ขัดแย้งทั้งในเผ่าพันธุ์เดียวกันและต่างเผ่าที่นำไปสู่บทสรุปสุดท้าย

เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องรู้สึกผิดหวังกันบ้างกับความเป็น War for the Planet of the Apes เพราะขนาดสงครามเพียงหนึ่งเดียวของเรื่องก็ยังเป็นสงครามของคนอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวานรโดยตรงอีกต่างหาก เหมือนวานรเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามขึ้นเท่านั้น

 

แต่เดี๋ยวก่อน! ถึงบทสรุปไตรภาคจะไม่มีจุดชี้ขาดระหว่างมนุษย์กับวานร ก็ไม่ได้หมายความว่า War for the Planet of the Apes เป็นแค่หนังแย่ๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น เพราะอย่างที่บอกว่า แมตต์ รีฟส์ แค่ตั้งชื่อพลาดไปเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีประเด็นเรื่องชื่อก็ถือว่าภาคนี้เป็นบทสรุปที่น่าสนใจมากจริงๆ

แมตต์ รีฟส์ เลือกเล่าเรื่องด้วยการโฟกัสที่ซีซาร์ ผู้นำเหล่าวานรที่ต้องการอยู่อย่างสันติในสังคมของตัวเอง แต่ดันโดนมนุษย์ที่มีปืนอยู่ในมือกดดันไล่ล่าทุกวิถีทาง เพราะหวาดกลัวความแข็งแกร่งของเผ่าพันธุ์วานรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจผลักเผ่าพันธุ์ของตัวเองให้ตกขอบวิวัฒนาการ เหมือนหลายๆ เคสที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ กองทัพฝ่ายมนุษย์ที่นำโดยผู้พันไร้นาม จึงพยายามหยุดยั้งความล่มสลายของมนุษยชาติด้วยอำนาจจากกระสุนปืน โดยไม่สนใจว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมาในอนาคต

ความจริงเราได้เห็นผลลัพธ์ของการใช้อาวุธแสดงพลังมาแล้วใน Dawn of the Planet of the Apes เมื่อโคบาได้ปืนมาอยู่ในมือ เขาก็แสดงพลังออกมากดข่มเหล่าวานรผู้ไร้พลังฝ่ายตรงข้าม ไปจนถึงการออกไล่ล่ามนุษย์กลุ่มที่อ่อนแอกว่าตนเองในขณะนั้น จนสุดท้ายเขาก็ถูกต่อต้านจนตนเองก็พังไปในที่สุด

ในกรณีของซีซาร์ เขาต้องสูญเสียครอบครัวและความไว้เนื้อเชื้อใจในตัวมนุษย์ ทำให้ด้านมืดในตัวเขาตื่นขึ้นมา จะว่าไปก็ถือเป็นครั้งแรกที่ซีซาร์ตั้งใจจับอาวุธเพื่อฆ่ามนุษย์ เพราะตลอดสองภาคที่ผ่านมา เขาถูกวางคาแรกเตอร์ให้เป็นวานรผู้มีศีลธรรมเหนือมนุษย์ แม้จะโดนกระทำหนักสักเท่าไรก็ยังปล่อยวางได้เสมอ

การเปลี่ยนแปลงของซีซาร์ในภาคนี้ จึงน่าสนใจและเต็มไปด้วยประเด็นให้ฉุกคิดตาม โดยเฉพาะความพยายามกดขี่ผู้ด้อยอำนาจต่อรองจากผู้ทรงอิทธิพล บ่อยครั้งก็เหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ และแน่นอนว่าผลที่ตามมามักไม่ค่อยสวยงาม ไม่เชื่อก็ดูโคบาในภาค 2 และบทสรุปของภาคนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดี

 

Tags: , , ,