ความพ่ายแพ้ของนางฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปีนี้ต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสไตล์การหาเสียงหรือแคมเปญการหาเสียงของทรัมป์เพียงอย่างเดียว

หรือถ้าจะมองอย่างนักวิเคราะห์ที่เจาะลึกเข้าไปว่าการเลือกนายทรัมป์บ่งบอกถึงการเปลี่ยนค่าความนิยม (Core Value) ของคนสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งการมองว่าเป็นความล้มเหลวของความคิดแบบเศรษฐกิจเสรีนิยม (Economic Liberalism) ทำให้คนหันไปมองรูปแบบของระบบเศรษฐกิจสังคมที่ทรัมป์นำเสนอก็ต้องบอกว่า อาจจะต้องใช้การพิสูจน์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าการเห็นตัวเลขการเลือกตั้ง แล้วเชื่อมโยงกับสมมติฐานที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทางสถิติ

ความพ่ายแพ้ของคลินตันที่เกิดขึ้น เมื่อมองจากตัวเลขการเลือกตั้งและสถิติของคะแนนเสียงแล้วจะเห็นว่า ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นเกิดจากอาการ ‘ทำลูกบอลหล่นพื้น’ (Drop the Ball) ของนางคลินตันในเกมการเลือกตั้งนี้

2 เหตุผลเชิงตัวเลขสถิติอธิบายอาการ ‘ทำลูกบอลหล่นพื้น’ (Drop the Ball)

1. คนไม่ได้เลือกทรัมป์มาก แต่คนเลือกคลินตันน้อย

ตารางข้างล่างชี้ให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวสหรัฐฯ ไม่ได้เลือกทรัมป์มากขึ้นกว่าเดิม แต่กลับเลือกน้อยลง ทรัมป์ได้คะแนนน้อยกว่าอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ถึงเกือบ 2.3 ล้านคะแนน น้อยกว่าวุฒิสมาชิก จอห์น แม็กเคน ประมาณ 2.5 แสนคะแนน และน้อยกว่าอดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ มิตต์ รอมนีย์ ถึงเกือบ 1.2 ล้านคะแนน

แต่เมื่อมองคะแนนของนางคลินตันแล้ว ดูจะน่าผิดหวังมากกว่า ถึงแม้ว่านางคลินตันจะได้คะแนนเสียงมากกว่าวุฒิสมาชิก จอห์น เคอร์รีย์ (ในขณะนั้น) ถึงเกือบ 9 แสนคะแนน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนของประธานาธิบดี บารัก โอบามา เมื่อตอนการเลือกตั้งทั้งในปี 2008 และ 2012 แล้ว นางคลินตันทำคะแนนได้น้อยกว่ามาก นั่นคือ น้อยกว่าเกือบ 9.5 ล้านคะแนนในปี 2008 และน้อยกว่าเกือบ 6 ล้านคะแนนในปี 2012

เมื่อเห็นตัวเลขนี้ ข้อสรุปที่หนึ่งของการสนับสนุนเหตุผลของความพ่ายแพ้ว่า เกิดจากการทำลูกบอลตกพื้น เป็นผลมาจากคนออกมาเลือกเธอน้อยกว่าประธานาธิบดีโอบามาในสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างมาก

ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ชั้นดีว่า เธอเข้าไม่ถึงคนที่เคยเลือกพรรคเดโมแครตในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แม้คะแนนของเธอจะมากกว่านายจอห์น เคอร์รีย์ แต่ก็ต้องเข้าใจว่านายเคอร์รีย์ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

2. คนเบื่อการเมืองเลยไม่อยากออกไปเลือกตั้ง

เมื่อมองเข้าไปให้ลึกในตัวเลขของผู้ออกไปใช้สิทธิ จะเห็นว่าตัวเลขผู้ใช้สิทธิในปี 2016 น้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2004 จนถึงปัจจุบัน เป็นข้อบ่งชี้ถึงอาการเบื่อการเมือง (Voter Apathy) เมื่อคนเบื่อก็พานจะไม่ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ

นอกจากนี้แล้ว การออกไปใช้สิทธิที่น้อยในปีนี้ ก็ยังบ่งบอกถึงนางคลินตันไม่สามารถนำตัวเองไปอยู่ในจุดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการ โดยเฉพาะกับผู้มีสิทธิที่อยู่ฝั่งพรรคเดโมแครต เพราะจะเห็นจากตัวเลขที่นางคลินตันได้รับมาเปรียบเทียบกับที่ประธานาธิบดีโอบามาเคยได้นั้นห่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และสะท้อนถึงการเข้าไม่ถึงใจคนของนางคลินตัน

ยิ่งไปกว่านั้น การปล่อยให้เกิดความคิดของการเลือกระหว่าง ‘คนที่เลวน้อยกว่า’ (The Lesser of the Two Evils) ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนหนึ่ง ก็สะท้อนถึงความล้มเหลวในการเข้าไปเปลี่ยนใจให้คนคล้อยตามกลยุทธ์การหาเสียงของเธอได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การให้เหตุผลว่านางคลินตันทำลูกบอลหล่นพื้นนี้ แม้จะไม่สามารถอธิบายได้ครอบคลุมถึงเหตุผลความพ่ายแพ้ของเธอได้ทั้งหมด เพราะในเกมการเมือง ความไม่มีเหตุผลมักจะนำไปสู่บทสรุปบางอย่าง

แต่การใช้ตัวเลขและสถิติอธิบายก็เป็นการพิสูจน์เชิงประจักษ์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าการสร้างวาทกรรมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว