ในประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่เคยมีกฎหมายฉบับไหนที่มีเสียงประชาชนคัดค้านมากขนาดนี้มาก่อน

เป็นไปตามความคาดหมาย หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระที่ 3 ด้วยจำนวนผู้เข้าประชุม 172 เห็นด้วย 168 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 5

ท่ามกลางเสียงคัดค้านเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้คนในโลกออนไลน์ที่รวมตัวกันลงชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ change.org กว่า 360,000 ราย โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนหลังจากที่ประชาชนเริ่มตื่นตัว และแสดงความกังวลกันอย่างต่อเนื่องทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก​

แม้กฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณา และกำลังจะถูกบังคับใช้ภายในไม่เกิน 120 วันนับจากนี้ แต่จากการตื่นตัวของภาคประชาชนก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้ว 3 แสนกว่าเสียงที่เกิดขึ้นนั้นยังมีความหมายอยู่ไหม? และหลังจากนี้ประชาชนจะทำอะไรได้บ้างถ้าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้?

The Momentum ต่อสายตรงถึง ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันค้นหาคำตอบในเรื่องนี้

“ผมสังเกตเห็นว่า สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้
หรือรายงานข่าวเรื่องนี้น้อยมาก กลายเป็นว่าสื่อออนไลน์และคนใช้สื่อออนไลน์ตื่นตัวกันมากกว่า
แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว มันยิ่งสะท้อนว่าทำไมพื้นที่สื่อสารออนไลน์ถึงสำคัญ แล้วทำไมรัฐถึงอยากจะควบคุม


3 แสนเสียงสะท้อนความเป็นจริงในยุค คสช.

ในแง่ของผลลัพธ์ที่ออกมา แน่นอนว่า 3 แสนกว่าเสียงของภาคประชาชนไร้ความหมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นการสะท้อนประเด็นปัญหาบางอย่างที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาล คสช.

“มันสะท้อนว่าเราอยู่ในยุคที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถูกปิดกั้น แต่อย่าลืมว่า 3 แสนกว่าเสียงเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาล คือในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เวลาประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือจะถอดถอนนักการเมือง ใช้เสียงแค่ไม่กี่หมื่นด้วยซ้ำ ฉะนั้น 3 แสนกว่าเป็นปริมาณที่มากมหาศาล แล้วในประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่เคยมีกฎหมายฉบับไหนที่มีเสียงประชาชนคัดค้านมากขนาดนี้มาก่อน

“ฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่คนตื่นตัวกันมาก แล้วถ้าไปดูรายชื่อ หรือกระแสคัดค้านก็จะเห็นว่ามีที่มาจากหลายกลุ่ม หลายฝ่าย แล้วก็ข้ามสีด้วย แม้แต่คุณกรณ์ จาติกวณิช หรือนักธุรกิจต่างๆ ก็ออกมาแสดงความกังวล เพราะมันก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือเศรษฐกิจดิจิทัล คือทุกคนเห็น พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ต้องกลัว มันก็น่าเสียดาย คือหนึ่งปริมาณเยอะขนาดนี้ สอง คือมันข้ามกลุ่ม ข้ามสี มีหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความกังวล แต่มันก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

ไม่เพียงแค่สะท้อนความตื่นตัวของภาคประชาชนเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นการสะท้อนการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก และความไร้ประสิทธิภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย

“ผมสังเกตเห็นว่า สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ หรือรายงานข่าวเรื่องนี้น้อยมาก กลายเป็นว่าสื่อออนไลน์และคนใช้สื่อออนไลน์ตื่นตัวกันมากกว่า แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว มันยิ่งสะท้อนว่าทำไมพื้นที่สื่อสารออนไลน์ถึงสำคัญ แล้วทำไมรัฐถึงอยากจะควบคุม เพราะพูดง่ายๆ คือ สื่อกระแสหลักถูกควบคุมได้ง่าย แล้วก็มักจะเซ็นเซอร์ตัวเอง ก็คือไม่ค่อยกล้ารายงานอะไรที่เป็นเรื่องของการตรวจสอบรัฐบาล แล้วเสียงของประชาชนถึง 3 แสนกว่าเสียงมันกลับไม่ถูกสะท้อนผ่านสื่อกระแสหลักว่ามีความตื่นตัวขนาดนี้

“ยิ่งถ้าดูจากการโหวตออกเสียงวันนี้ก็ชัดเจนว่า 3 แสนกว่าเสียงไม่มีผลอะไรเลย ขนาดคนคัดค้านขนาดนี้ก็ยังผ่านไปได้ด้วยเสียงข้างมากอย่างเป็นเอกฉันท์ เกือบ 100% คือมีคนงดออกเสียง แต่ไม่มีใครไม่เห็นด้วยแม้แต่คนเดียว ซึ่งมันน่าตกใจมาก เพราะในเมื่อกฎหมายมันมีปัญหา มีช่องโหว่เยอะแยะที่มีคนชี้ให้เห็น แต่ไม่มีใครที่อยู่ในนั้นแม้แต่คนเดียวที่จะสนใจ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ หรือนักวิชาการต่างๆ ที่อย่างน้อยน่าจะท้วงติงหรือไม่เห็นด้วย

“คือตามปกติกฎหมายมันไม่ได้ผ่านด้วยเสียงเอกฉันท์ขนาดนี้หรอก มันก็สะท้อนว่าพอเราไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร นี่ก็คือผลที่เกิดขึ้น แบบที่เราชอบพูดกันว่าเผด็จการรัฐสภา นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเลยล่ะ คือผู้มีอำนาจอยากได้แบบนี้ ทำกฎหมายเข้าไปในสภา สภาก็ให้ผ่านได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องฟังเสียงของประชาชนเลย”

เทรนด์ของรัฐบาลทั่วโลกคือเน้นการควบคุมข้อมูลข่าวสารมากขึ้น
อย่างที่เราเห็นในกรณีของรัสเซีย หรือจีนที่กำลังใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น
เพราะรัฐบาลรู้ว่าเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการรักษาอำนาจไว้ได้
คือการควบคุมความคิดประชาชน

 

ปิดกั้นเสรีภาพในโลกออนไลน์ เทรนด์ใหม่ของรัฐบาลทั่วโลก

ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่ประชาชนต้องต่อสู้กับภาครัฐเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์ แต่ทิศทางการควบคุมโลกออนไลน์กำลังเป็นเทรนด์ที่ผู้นำอำนาจนิยมทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่

“เทรนด์ของรัฐบาลทั่วโลกคือเน้นการควบคุมข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อย่างที่เราเห็นในกรณีของรัสเซีย หรือจีนที่กำลังใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น เพราะรัฐบาลรู้ว่าเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการรักษาอำนาจไว้ได้ คือการควบคุมความคิดประชาชน หรือ though control ซึ่งจะควบคุมได้ ก็ต้องควบคุมข่าวสารไม่ให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล เพื่อจะได้รักษาอำนาจไว้ได้อย่างยาวนาน

“ในแง่ภูมิทัศน์สื่อปัจจุบัน พื้นที่ออนไลน์ถือเป็นพื้นที่ที่มีอิสระที่สุดแล้ว คือควบคุมได้ยาก ปิดกั้นได้ยาก ต่างจากทีวีและหนังสือพิมพ์ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เลยไม่มีใครกล้าคัดค้านรัฐบาล เพราะกลัวโดนปิด เลยต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ของประชาชน หรือสื่อกลุ่มใหม่ๆ มันเลยเป็นพื้นที่ที่ให้ข้อมูลข่าวสารทางเลือกมากกว่ากับประชาชน ฉะนั้นรัฐทั้งหลายเลยอยากจะมาควบคุมพื้นที่ตรงนี้

“มันเลยกลายเป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้ระหว่างรัฐที่ต้องการปิดกั้นกับประชาชนที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ เพราะถ้าถูกควบคุมหรือปิดกั้นตรงนี้ได้อีก ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว รัฐบาลก็จะสามารถควบคุมข่าวสารได้อย่างเบ็ดเสร็จ”

“ไม่มีเรื่องซิงเกิลเกตเวย์” คำแถลงของภาครัฐที่ต้องตั้งคำถาม

หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สนช. ได้แถลงต่อที่ประชุมสภาว่า

“ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณท่านประธานและสมาชิกทุกท่าน รวมทั้งผู้ที่ได้อภิปรายให้ความเห็นในการใช้ประกอบการพิจารณากฎหมายฉบับนี้เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นที่มาจากหลากหลายทางประมาณ 2 แสน 3 แสนชื่อ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนว่าในการพิจารณากฎหมายนั้นต้องพิจารณาในลักษณะของความรอบคอบ และก่อให้เกิดความสมดุลพอดีระหว่างการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกับเรื่องสิทธิของบุคคล และสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย

“ทางสภาได้พิจารณาจนจบครบทุกมาตรา แล้วก็ผ่านไปในวาระที่ 3 เรียบร้อย ก็เป็นเครื่องยืนยันนะครับว่า สิ่งที่มีข้อกังวลหนึ่งบอกว่ามันจะมีเรื่องซิงเกิลเกตเวย์หรือไม่ อันนี้ก็มีคำตอบที่ชัดเจนนะครับในการพิจารณามาโดยตลอดหลายๆ ชั่วโมง มีการพักการประชุมบ้าง ตรงนี้ก็ต้องเรียนว่าไม่มีเรื่องนั้นเลย ความกังวลทั้งหลายที่ท่านได้กังวลมาทั้งหมดก็คงจะกระจ่างและชัดเจนว่ารัฐบาลโดยการนำของท่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วคณะรัฐมนตรีก็เห็นความสำคัญ แล้วนำมาซึ่งกฎหมายที่เข้ามาสู่การพิจารณาของสภา ก็ยืนยันว่าเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญที่จะต้องนำไปสู่การใช้ต่อไป แต่ไม่ไปละเมิดสิทธิของพี่น้องประชาชนหรือสิทธิส่วนบุคคลอย่างแน่นอน”

อย่าเพิ่งหมดหวัง ต้องจับตาดูและคอยส่งเสียงออกมา
เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่เราจะควบคุมไม่ให้รัฐใช้อำนาจนี้ตามกฎหมายได้ตามอำเภอใจ


3 แสนเสียงต้องจับตามองจนกว่ากฎหมายจะบังคับใช้จริง

แม้จะยืนยันอย่างชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีเจตนาจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนอย่างแน่นอน แต่หลังจากนี้ ประชาชนคงต้องจับตามองกันต่อไปว่าเมื่อถึงเวลาบังคับใช้กฎหมายจริง จะเกิดผลลัพธ์อะไรบ้างในสังคม ซึ่ง ผศ. ดร. ประจักษ์ มองว่า

“ผมคิดว่า 3 แสนกว่าเสียงนี้ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปในฐานะพลเมือง คือแม้ว่าตอนนี้กฎหมายผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่ประชาชนทำได้คือการจับตาดูเมื่อมันถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว ดูในส่วนของการบังคับใช้ว่ามันนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้สังคมเกิด active citizen ขึ้นแล้วในเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เขาเติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมเรื่องสิทธิเสรีภาพของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ก็ต้องเป็น active citizen ต่อไป อย่าเพิ่งหมดหวัง ต้องจับตาดูและคอยส่งเสียงออกมา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่เราจะควบคุมไม่ให้รัฐใช้อำนาจนี้ตามกฎหมายได้ตามอำเภอใจ”

เช่นเดียวกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตที่ทำงานเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง ที่ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/thainetizen ว่า

“หลังจากนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะออกประกาศกระทรวงดิจิทัลอีก 5 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของมาตรา 11, 15, 17/1, 20 และ 20/1 ต่อไป กลไกการใช้อำนาจของรัฐและเอกชน (ที่ได้รับมอบอำนาจ) จะปรากฏอยู่ในประกาศกระทรวงต่างๆ ข้างต้น…

“ขอให้ทุกคนจับตาดูต่อในสนามต่อไป ทั้ง ‘สนามเล็ก’ ของกฎหมายลูก #พรบคอม และ ‘สนามใหญ่’ ของร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เราหวังว่าจะเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิของเราได้ สู้ต่อไปนะ เรามีเพื่อนใหม่อีกตั้ง 3 แสนกว่าคน”

ด้าน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ที่ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้ความเห็นกับเว็บไซต์วอยซ์ทีวีว่า ขอให้ สนช. เอา พ.ร.บ. ดังกล่าวขึ้นเว็บไซต์โดยเร็ว เพื่อจะได้อ่านโดยละเอียดอีกครั้ง และจะคอยติดตามโดยละเอียดต่อไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย และเก็บคำอธิบายและคำอภิปรายต่างๆ ในสภาวันนี้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงต่อไป ส่วนกระบวนการเสนอชื่อแก้กฎหมายฉบับนี้ยังทำไม่ได้ เพราะขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้

ส่วนทางด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในองค์กรที่ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ระบุว่า

“ทางเรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ. ควรออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่ในหลายจุดของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่แอมเนสตี้ที่แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการปรับแก้มาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่ลงชื่ออีกกว่า 360,000 คน ตลอดจนประชาคมโลกเองก็จับตามอง สนช. อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังจากนี้เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปในเรื่องของการบังคับใช้และการแก้ไขในอนาคต”

สุดท้ายเสียง 3 แสนกว่าเสียงคงไม่ไร้ความหมาย ถ้าประชาชนยังคงรวมตัวกันเหนียวแน่นเพื่อสอดส่องการทำงานของรัฐบาลต่อจากนี้ไป แม้จะมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่คอยทำหน้าที่สอดส่องประชาชนอย่างใกล้ชิดก็ตาม

ภาพประกอบ: Karin Foxx

Tags: ,