ยูวาล โนอาห์ ฮารารี (Yuval Noah Harari) ผู้เขียน ‘เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ’  หนังสือขายดีระดับโลก  อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิบรู อิสราเอล เพิ่งบริจาคเงินให้กับองค์การอนามัยโลกหรือ WHO 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 22 เมษายน สำนักข่าว DW ของเยอรมนีเผยแพร่บทสัมภาษณ์เขาว่าด้วย การควรตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ที่จะช่วยเปลี่ยนอนาคตของเราได้

สำหรับฮารารี สิ่งที่อันตรายที่สุดไม่ใช่ไวรัส  แต่ที่น่ากลัวนั้นคือ ปีศาจภายในตัวเรา เขาเห็นว่า ปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เรามีอยู่จะสามารถเอาชนะไวรัสได้ สิ่งที่อันตรายกว่าคือ ความเกลียดชัง ความโลภ และความเขลาของเรา เขาเกรงว่า คนกำลังปฏิบัติต่อวิกฤตนี้ด้วยความเกลียด ตำหนิประเทศอื่นๆ ตำหนิชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความหวังว่ามนุษย์จะยังสามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจคนอื่น โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเราสามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาความสามารถในการรับรู้ความจริง และไม่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะสามารถเอาชนะวิกฤตนี้ได้

สถานการณ์นี้ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยยังคงไม่สูญเสียการควบคุม เพราะได้เลือกนักการเมืองและพรรคที่มีนโยบาย ประชาชนควบคุมระบบการเมืองไว้ แม้จะไม่มีการเลือกตั้ง แต่นักการเมืองก็ยังคงต้องทำตามแรงกดดันของสังคม อย่างไรก็ตามถ้าประชาชนกลัวโรคระบาดและต้องการให้มีผู้นำที่เข้มแข็งมาควบคุม มันก็จะทำให้เผด็จการก้าวขึ้นมาปกครองได้ง่ายขึ้น

ตอนนี้ รัฐบาลหลายประเทศพากันใช้กลไกสอดส่องประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส ฮารารีคิดว่า “ต้องเป็นไปสองทาง เมื่อใดคุณเพิ่มการสอดส่องประชาชน ก็ต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มการสอดส่องรัฐบาล” ในวิกฤตรัฐบาลใช้งบประมาณใช้งบประมาณมากมายมหาศาล ประชาชนต้องรู้ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจและเงินไปไหนบ้าง “เงินถูกใช้ไปเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีปัญหาก่อนที่จะเกิดโรคระบาดเพราะการตัดสินใจพลาดของผู้จัดการบริษัทหรือไม่ หรือเงินถูกนำไปช่วยธุรกิจขนาดเล็ก ร้านอาหารและร้านค้าหรือไม่” รัฐบาลต้องเปิดเผยการใช้เงิน สร้างระบบให้ประชาชนสอดส่องได้ว่าภาษีไปไหน

นอกจากนี้เราต้องระมัดระวังมากๆ กับการสอดส่องประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ จากการวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิต ไปจนถึงการทำงานของสมอง หรือในที่สุดความคิดเห็นทางการเมืองและรสนิยมต่างๆ ของเรา  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบอบเผด็จการขึ้นมาได้ เราควรต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้มากขึ้น อันดับแรกคือ ตระหนักถึงอันตราย ตามด้วยต้องระวังเมื่อเรายอมให้ความเร่งด่วนฉุกเฉินนี้เกิดขึ้นมา 

ในวิกฤตนี้ แม้จะยังไม่เห็นว่าภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนไปจากที่เขาคิดไว้หรือไม่ แต่ฮารารีคิดว่า เราคงจะเห็นรูปแบบของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป บางอุตสาหกรรมแทนที่จะพึ่งพาโรงงานในต่างประเทศก็เปลี่ยนเป็นในประเทศ เรื่องนี้ส่งผลต่อตลาดแรงงานด้วย ธุรกิจจะหันมาใช้แรงงานหุ่นยนต์แทนตัดแรงงานที่อายุมากหรือเรียกร้องค่าจ้างสูงออกไป เขาบอกว่า ในสถานการณ์นี้ เราต้องตัดสินใจเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานในประเทศของเรา หรือของทั้งโลก รัฐบาลต้องช่วยเหลืออุตสาหกรรม โดยสร้างเงื่อนไขให้พวกเขาปกป้องสิทธิของแรงงาน 

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ฮารารีกล่าวว่า วิกฤตนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์โลกในศตวรรษที่ 21 แต่จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเรา มันไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา:

https://www.dw.com/en/virus-itself-is-not-the-biggest-danger-says-yuval-noah-harari/a-53195552

Tags: