“ข่าวที่คุณแชร์เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่” ข้อความที่เพื่อนชาวบรูไนส่งมาไม่กี่นาทีหลังจากที่ผมแชร์ข่าวเกี่ยวกับข้อกังวลต่อการลงโทษโดยการปาหินต่อผู้กลุ่มบุคคลที่รักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นแถลงการณ์จากสำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีต่อข้อกฎหมายในการประหารชีวิตด้วยการขว้างหินใส่กลุ่มบุคคลรักเพศเดียวกัน รวมถึงคนที่คบชู้ ต่อหน้าสาธารณชน ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายนปี 2019 นี้

ต่อมาข่าวนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในข่าวครึกโครมไปทั่วโลก กระทั่ง จอร์จ คลูนีย์ ดาราฮอลลีวูดชื่อดังเจ้าของรางวัลออสการ์ ได้ออกมาประกาศบอยคอต 9 โรงแรมหรูที่สุลต่านบรูไนเป็นเจ้าของ หนึ่งในนั้นคือโรงแรมยอดนิยมของเหล่าเซเลบ ในเบเวอร์ลี่ฮิลส์ ลอส แอนเจลิส

สิ่งที่เพื่อนชาวบรูไนพยายามสื่อสารกับผมว่าเรื่องทั้งหมดนั้นไม่จริงอย่างที่สื่อทั่วโลกพูดถึง เขาระบุว่า สิ่งที่สื่อกำลังเล่นอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องที่นำมารีรันใหม่อีกรอบ เพราะกฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) นั้นได้ถูกทดลองใช้มาตั้งแต่ช่วงเมษายนในปี 2013 และถูกประกาศใช้อย่างเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

หากดูในรายละเอียดของแถลงการณ์ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีการระบุข้อกังวลถึงประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวข้องกับกลุ่มรักเพศเดียวกันตามกฎหมายชารีอะห์ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในส่วนแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 ว่า

“ประมวลกฎหมายอาญาของบรูไนมีข้อบกพร่องอย่างรุนแรง เพราะหลายข้อบทละเมิดสิทธิมนุษยชน”

“นอกจากกำหนดโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีแล้ว ยังเป็นกฎหมายที่จำกัดอย่างกว้างขวางต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพด้านศาสนาและความเชื่อ ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง”

ท่ามกลางข้อสงสัย และข้อถกเถียงมากมายที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย ผมจึงอาศัยโอกาสนี้ ติดต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวบรูไน ที่มีความหลากหลายตั้งแต่เกย์มุสลิม หญิงผู้ไม่นับถือศาสนา และชายหนุ่มลูกหลานชาวจีนบรูไน เพื่อสำรวจดูว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชน

ทุกคนในบรูไนยังสามารถเป็นในแบบที่พวกเขาอยากเป็น

มิสเตอร์ดี (นามสมมติ เพื่อปกป้องแหล่งข่าว) หนุ่มมุสลิมร่างใหญ่ใจดี ชาวบรูไนที่ยอมรับกับผมว่าเขาเองก็ชอบเพศเดียวกัน ซึ่งสำหรับเขา กฎหมายชารีอะห์ที่ประกาศใช้ในประเทศตัวเองนั้น หาใช่การปิดกั้นเสรีภาพในการจะเป็นตัวของตัวเอง

“การประกาศใช้กฎหมายอิสลาม ก็เป็นพระประสงค์ของท่านสุลต่านที่ต้องการให้ประเทศซึ่งเป็นประเทศมุสลิมเดินตามรอยของหลักการศาสนา แต่อย่างไรเสียพระองค์เองก็มีหัวใจเช่นกัน”

“ไม่มีกษัตริย์คนไหนต้องการเห็นประชาชนของตัวเองโดนลงโทษจนตาย ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2014 จนปัจจุบันยังไม่มีใครสักคนที่โดนโทษประหารนี้เลย ซึ่งหากคุณได้อ่านเนื้อหาของกฎหมาย ระบุชัดเจนว่า ในขั้นตอนการพิจารณาจำเป็นต้องมีพยานที่เห็นชัดเจนว่า คนสองคนนั้นทำผิดกฎหมายจริงๆ ไม่ใช่การกล่าวหาลอยๆ”

เขายังบอกด้วยว่า สิ่งที่แย่คือพวกสื่อต่างหากที่ตีความเนื้อหาจนใหญ่โตเกินจริง กระทั่งสร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับกฎหมายในประเทศบรูไน

“ครอบครัวบรูไนมากมายยอมรับได้ที่จะมีลูกเป็นเพศที่สาม และคุณก็สามารถเป็นเกย์ หรืออะไรก็ได้ ขอแค่เพียงอย่าแสดงออกจนเกินงามในที่สาธารณะ เช่น กอดจูบ จับมือ เป็นต้น และมันก็โอเคถ้าคุณจะมีอะไรกัน ก็ขอแค่ให้มันจบลงพื้นที่ส่วนตัวของคุณเท่านั้น”

“หากคุณมองในแง่ของหลักการศาสนา แน่นอนว่าการเป็นเกย์ หรือรักเพศเดียวกันนั้นย่อมเป็นบาปใหญ่ หากแต่ในมุมมองของครอบครัวยังไงพวกเขาก็คือครอบครัว นั่นคือเหตุผลที่หลายๆ บ้านรับได้หากลูกตัวเองจะเป็นเพศที่สาม”

เขาตอบข้อกังวลของการเดินทางมาเที่ยวที่นี่ว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่บรูไน ก็แค่ปฏิบัติตามในสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ละเมิดก็ถือว่าโอเคแล้ว หากคุณจะมีปัญหากับ ตม. ไม่ใช่เพราะคุณเป็นเกย์ หากแต่เพราะคุณทำผิดในกฎหมายอื่นตามข้อบังคับระหว่างประเทศ

“เคยมีกรณีหญิงข้ามเพศชาวมาเลย์ที่ถูกส่งตัวกลับ เพราะตัวตนกับสิ่งที่แสดงในพาสปอร์ตไม่ตรงกันนั่นเอง”

“ดังนั้นคุณจะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่อย่าแสดงมันออกต่อสาธารณะเท่านั้น” มิสเตอร์ดีกล่าว

หากไม่มีกฎหมาย ประเทศก็คงวุ่นวาย

มิสโจคิม (นามสมมติ) คุณครูสาว ผู้ประกาศชัดว่าไม่ได้นับถือศาสนาใดเป็นพิเศษ เธอให้ความเห็นว่า สิ่งที่สื่อกำลังเล่นกันอยู่นั้นใหญ่เกินจริงไปหน่อย การลงโทษไม่ได้เกิดขึ้นกันง่ายๆ อย่างไรก็ต้องอาศัยการพิจารณาในกระบวนศาลทั่วไปเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เหมือนกับกรณีอื่นๆ อย่าง การฟ้องหย่า และกฎหมายคู่สมรส

ส่วนประเด็นที่ว่ากฎหมายนี้ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนนั้น เธอไม่อยากให้ความเห็นใด ๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า กรณี LGBTนั้น ดูเหมือนว่าทุกศาสนาไม่ได้ให้การยอมรับเท่าที่ควร

“พูดอย่างจริงใจเลยว่า มันน่าเห็นใจกลุ่ม LGBT ที่จะแสดงออกถึงตัวตนในสังคม ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มีเรื่องของหลักการศาสนาด้วย อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าการมีกฎหมายก็เพื่อทำให้สังคมสงบสุข เพราะหากปราศจากมันแล้ว บ้านเมืองคงวุ่นวายน่าดู”

“แน่นอนว่า นับตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายอิสลามในบรูไน ส่งผลให้ประชาคมโลกประณามประเทศของเราด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี รัฐบาลของเราก็ยังต้องดำเนินรอบตามหลักปรัญชาแห่งระบบราชวงศ์ที่สืบทอดมา ซึ่งสำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเพศที่สามนั้น ก็มีเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้นเอง”

“ฉันเองสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการเป็นตัวของตัวเอง แต่อย่างไรเสียพวกเขาก็จำเป็นต้องปฏิบัติให้อยู่ในร่องในรอย และกรอบศีลธรรมอันดีด้วย”

กฎหมายมีหลายด้านที่ต้องพูดถึง

มิสเตอร์ยัง (นามสมมติ) ชายหนุ่มชาวจีนบรูไน บอกกับผมว่า “กฎหมายชารีอะห์ที่ประกาศใช้นั้น แม้ว่าในมุมสิทธิมนุษยชนอาจฟังดูไม่เข้าท่าเลย และอย่าลืมว่าประเทศของเราก็มีกฎหมายทั่วๆ ไป เหมือนกันประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่ต้องพูดถึงบางเรื่องเฉพาะเจาะจง และไม่เห็นความจำเป็นใด  ที่จะต้องห้ามประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ในเมื่อผู้มีอำนาจและผู้ที่เกี่ยวข้องได้คิดมาอย่างรอบคอบแล้ว”

อนึ่งกฎหมายชารีอะฮ์ ได้ถูกประกาศใช้ในหลายๆ ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลักของประเทศ อาทิ อิหร่าน โซมาเลีย เลบานอน  ซาอุดิอาระเบีย โดยบรูไน เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ และเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีข้อกฎหมายในการประหารชีวิตกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ด้วยการขว้างหินใส่ ต่อหน้าสาธารณชน

ขณะที่ข้อมูลของแอมเนสตี้ ระบุว่า รัฐบาลบรูไนได้ลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ  ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) และที่ผ่านมาได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2557

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การลงโทษทางร่างกายในทุกรูปแบบ ทั้งการปาหิน การตัดอวัยวะ หรือการเฆี่ยนตี ถือเป็นการทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นข้อห้ามในทุกกรณี

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย เป็นข้อห้ามอย่างเบ็ดเสร็จตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมที่สำคัญ ซึ่งบรูไนไม่ได้ลงนามหรือไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ข้อห้ามนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาดโดยไม่อาจโต้แย้งได้สำหรับรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม การทรมานไม่ว่าในรูปแบบใดถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แม้ว่าบรูไนมีโทษประหารในกฎหมาย แต่ไม่ได้บังคับใช้ในทางปฏิบัติ ขณะที่เมื่อปี 2560 มีการกำหนดโทษประหารอีกครั้ง ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

Tags: , , ,