หลังจากคุยกัน หญิง — ศักดิ์สินี เอมะศิริ ชวนผมขี่จักรยานผ่านร่องสวนและทางเล็กทางน้อย เพื่อไปถ่ายรูปที่สถานีรถไฟไม่ไกลจากบ้าน เธออยู่ในชุดผ้านุ่ง กับเสื้อที่เธอชอบใส่ ผมนึกว่าเรากำลังอยู่ในหนังเรื่องสบายดีหลวงพระบาง และแถวนั้นยังเป็นฉากในนิยายเรื่องคู่กรรม ผู้คนละแวกนั้นเห็นนักท่องเที่ยวแปลกหน้าจึงเข้ามาทักทาย แต่เราก็ได้คุยกันเพียงเล็กน้อย การพูดคุยกับคนแปลกหน้านั้นผมไม่ค่อยถนัดเท่าไรนัก ผิดกับหญิงที่คุยกับพวกเขาอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงการพบเจอกับหญิงครั้งแรก ขณะที่เราทั้งสองเป็นคนแปลกหน้า เธอทำให้ผมรู้สึกราวกับเรารู้จักกันมาก่อนเช่นกัน

หญิงเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ พ่อของเธอเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากฝรั่งเศส แต่ผันตัวมาเป็นมัคคุเทศก์ จึงเดินทางส่วนใหญ่ในยุโรป แม่ของเธอเป็นชาวเวียดนามในลาว หนีจากสงครามอินโดจีนอพยพมาอยู่ประเทศไทย เมื่อมาอยู่เมืองไทยจึงประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ดี พ่อและแม่ของหญิงพบกันในอาชีพการงาน และใช้ชีวิตร่วมกันในที่สุด หญิงจึงเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พร้อมจะเดินทางเสมอ

เมื่อเป็นเด็ก เธอเคยชินกับการที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน เมื่อโตขึ้นพอรู้ความ พ่อมักพาเธอเดินทางไปทำงานด้วยเสมอ การขาดเรียนเพื่อไปเที่ยวจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับเธอ เมื่อถึงวัยทำงาน การลางานโดยใช้วันหยุดให้ครบยิ่งเป็นเรื่องสามัญ หญิงใช้สิทธิ์ลางานเพื่อเดินทางเสมอ เธอจึงเห็นโลกกว้างตั้งแต่เด็ก โดยมีพ่อเป็นผู้สนับสนุน อาจเป็นไปได้ว่าความเชื่อของพ่อที่ผลักดันให้เธอออกเดินทาง เป็นเบ้าหลอมให้เธอเติบโตมาเป็นคนของโลกมากกว่าที่จะเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง

“เราขอเงินพ่อไปซื้อของ พ่อไม่ให้นะ แต่ถ้าขอเงินไปเที่ยว ให้ทุกครั้ง”

หญิงเริ่มเดินทางคนเดียวเมื่อเริ่มเป็นสาวอายุ 14 โดยเลือกไปเรียนภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อนที่ออสเตรเลีย เพราะญาติพี่น้องฝั่งแม่ซึ่งเป็นชาวเวียดนามจากปากเซในประเทศลาวที่ต้องพลัดพรากจากกันตั้งแต่สงครามอินโดจีน เริ่มปรากฏตัวขึ้นในโลกเล็กๆ ของเธอ

เธอได้รับการแนะนำให้รู้จักกับญาติพี่น้องที่อพยพไปตั้งรกรากที่ออสเตรเลียและฝรั่งเศส กระทั่งรู้สึกผูกพันเป็นพิเศษกับญาติผู้พี่คนหนึ่ง แต่ไม่อาจพูดจาสื่อสารกันได้เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษ ด้วยความหงุดหงิดเรื่องภาษาที่เป็นกำแพงในการสื่อสาร ทำให้ไม่สามารถพูดสิ่งที่อยู่ในใจได้ เธอจึงหาโอกาสเดินทางเพื่อทำลายกำแพงนั้นทิ้งไป

“เราไปต่างประเทศ เพราะชอบญาติผู้พี่คนหนึ่ง แต่คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ปีต่อมาเลยขอแม่ไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย” หญิงสารภาพด้วยรอยยิ้มเขินๆ มันเป็นแรงบันดาลใจที่คล้ายจะมีน้ำหนักอยู่มิใช่น้อย

จากออสเตรเลียทำให้โลกของเธอกว้างขึ้น เธอทำความรู้จักกับผู้คนเชื้อชาติอื่นๆ ในโลก กระทั่งตกหลุมรักผู้คนจากลาตินอเมริกา ชนชาติที่มีการเต้นอยู่ในสายเลือดและการแสดงอารมณ์อย่างเข้มข้น เมื่อกลับมากรุงเทพฯ เธอจึงสมัครเข้าเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเพื่อไปประเทศอาร์เจนติน่า ประเทศที่อยู่ไกลประเทศไทยที่สุด แต่สาเหตุของการเดินทางครั้งนี้ไม่ได้มาจากความรัก เหตุผลที่แท้จริงคือ เธอต้องการหนีจากการเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย

“ไม่รู้สิ ทุกคนต้องเรียนพิเศษ เพื่อสอบเอ็นทรานซ์ให้ได้ เราไม่เคยเรียน แล้วถ้าอยู่เมืองไทย เราก็คงต้องเรียนพิเศษ ดาว้อง ลิลลี่ ครูสมศรี อาจารย์ปิง แต่ถ้าเราไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน กลับมาแล้วเอ็นท์ฯ ไม่ติด ก็ไม่น่าเกลียดอะไร”

หนึ่งปีในเมืองซาลต้า (Salta) ทางตอนเหนือของอาร์เจนตินาซึ่งติดกับประเทศโบลิเวีย ทำให้เธอผลักเรื่องเอ็นทรานซ์ออกไปจากชีวิตวัยรุ่นชั่วคราว เพื่อสนุกกับการเรียนรู้ชีวิต ปรับตัวให้เข้าโลกที่ไม่คุ้นเคยและคนแปลกหน้า จากสาวรุ่นอายุ 16 ที่ค่อนข้างเรียบร้อย เพราะแบกความเป็นไทยไปด้วย ไม่คุ้นเคยกับการแตะเนื้อต้องตัวซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนที่นั่น ถึงขนาดต้องผงะถอยออกมาในบางครั้ง หญิงเล่าว่า กับการทักทายด้วยการหอมแก้มสองข้างตามวัฒนธรรมของลาตินอเมริกา เธอยังต้องปรับตัวอยู่หลายเดือน จนวันเวลาผ่านไปไม่นาน เธอเริ่มคุ้นเคยกับโลกใหม่ วัฒนธรรมใหม่

“วันที่ต้องกลับเมืองไทย เราก็ไปนั่งตักได้ทุกคนนะ” หญิงเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

อย่างไรก็ตาม เธอหนีการสอบเอ็นทรานซ์ไม่ได้และหนีการเรียนพิเศษไปไม่พ้น โชคดีที่ภาษาสเปนที่เธอได้ร่ำเรียนขณะอยู่ที่เมืองซาลต้า และภาษาฝรั่งเศสที่เธอเรียนสมัยมัธยมฯ ทำให้เธอสอบติดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย หญิงทำงานเป็นครูที่โรงเรียนนานาชาติ เพียงเวลาผ่านไปได้ 2 ปี การเดินทางเรียกร้องเธออีกครั้ง คราวนี้พ่อของเธอเสนอให้ไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่เธอเคยไปเยี่ยมเยือนตั้งแต่เด็ก และเป็นประเทศที่พ่อของเธอผูกพัน แต่กระนั้นหญิงก็วางแผนหนีอีกครั้ง เพราะไม่ต้องการไปอยู่ในปกครองของเพื่อนชาวฝรั่งเศสของพ่อ เธอจึงเลือกไปเรียนปริญญาโทที่ออสเตรีย

“เราคิดว่าการไปเรียนปริญญาโทที่ออสเตรีย เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต”

ชุดความคิดแบบใหม่ของเธอน่าจะผ่านการหล่อหลอมในปราสาทยุคกลางที่เมืองสตัดชาเลนนิ่ง (Stadchalaining) ประเทศออสเตรีย ไม่ไกลจากกรุงเวียนนา เธอใช้เวลาราว 1 ปี เพื่อเรียนปริญญาโท ในหลักสูตรว่าด้วยสันติวิธี ร่วมกับนักศึกษาราว 40 คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน มีความหลากหลายทั้งด้านอายุ วัฒนธรรม และชาติกำเนิด เช่น เกาหลี อุซเบกิสถาน โรมาเนีย ลาวันดา ซิมบับเว ยูกันดา และคนอื่นๆ เพื่อนนักศึกษาบางคนเกือบมาร่วมชั้นเรียนไม่ได้ เพราะถูกดำเนินคดีเนื่องจากเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน

“ที่มหาวิทยาลัย มีห้องครัวห้องเดียว มีเตา 8 หัวให้ใช้ร่วมกัน เราต้องเอาสิ่งทีเรียนมาปรับใช้ในชีวิตจริง ต้องประชุมเพื่อแบ่งและจัดสรรทรัพยากร หรือที่แคมปัสมีรถอยู่ 1 คัน นั่งได้ 4 คน เวลาจะไปซื้อของในตลาดต้องวางตารางเวลา ใครจะขับรถ ใครจะไปบ้าง ออกเวลาไหน เข้าตอนไหน ต้องลงชื่อ

“นอกจากนั้นเวลามีความขัดแย้ง เราก็ต้องหาวิธีจัดการกับปัญหา ไกล่เกลี่ย และวางข้อกำหนด เช่น เพื่อนชาวอินเดียอึดอัดที่เพื่อนอิตาเลียนจูบกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ เพื่อนแอฟริกันกับเอเชียนไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมของกันและกัน เช่นการถึงเนื้อถึงตัว ก็มีการประชุม ไกล่เกลี่ย ทำความเข้าใจในวัฒนธรรม เพื่อนคนจีนจะเก็บเนื้อเก็บตัว เรียนเสร็จเข้าห้องทันที ไม่เข้าหาคนอื่น ชาวไต้หวันเรียบร้อย หงิมๆ เขาไม่ได้เป็นแบบนั้นหรอก เพียงแต่วัฒนธรรมของเขาหล่อหลอมมา ทำให้เขาแสดงออกแบบนั้น ตอนนี้เพื่อนคนนี้ไปทำงานอยู่อิรัก หรือเราจะสังเกตเห็นบุคคลิกภาพของเพื่อนๆ ตอนเล่นกีฬา เรื่องการใช้อำนาจ การสั่งการ ความก้าวร้าว อะไรแบบนี้”

เมื่อถึงเวลาที่เธอต้องทำสารนิพนธ์ หญิงสนใจเรื่องอาสาสมัครในเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2547 การที่เธอต้องลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลทำให้เธอเข้าไปอยู่ในใจกลางของกลุ่มเอ็นจีโอประเทศไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อคลุกคลีนานเข้า ก็ทำให้เธอทำงานด้านนี้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 กว่าปี โดยส่วนใหญ่ทำหน้าที่ประสานงานโครงการ และจัดการงานค่ายฝึกอบรมนักกิจกรรมและอาสาสมัครจากองค์กรต่างๆ โดยใช้ความสามารถทางด้านภาษาสเปนและฝรั่งเศส

*

หญิงเดินทางสม่ำเสมอ หากไปต่างประเทศ เธอจะใช้เวลานานๆ แต่บ่อยครั้งเธอเดินทางสั้นๆ ในเมืองไทยราวกับลมพัด บางวันอยู่ปัตตานี วันรุ่งขึ้นอยู่บางขุนนนท์ วันต่อมาอยู่เชียงดาว และที่น่าสนใจคือ—เป็นการเดินทางด้วยการโบกรถ ทั้งในเวลาดึกดื่นหรือรุ่งเช้า จากกรุงเทพไปสะเมิง เชียงดาว ยะลา ลันตา ขอนแก่น สังขละบุรี คลองใหญ่ (ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดตราด) ฯลฯ หรือในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น โรมาเนีย เธอก็เคยโบกรถเดินทาง

ผมเคยเดินทางด้วยการโบกรถกับเพื่อนๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นรู้สึกปลอดโปร่ง มีเสรีภาพในการเดินทาง เหมือนโลกเป็นของเรา และผู้คนช่างมีน้ำใจ แต่นั่นก็นานมาแล้ว หลังเรียนจบ การโบกรถท่องเที่ยวกลายเป็นอดีตไป พร้อมๆ กับช่วงเวลาที่รู้สึกว่า ‘ชีวิตเป็นของเรา’ (ชั่วขณะหนึ่ง) แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า แท้จริงแล้วชีวิตไม่เคยเป็นของเรา เพราะชีวิตเป็นส่วนประกอบของชีวิตของคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเราเสมอ

เมื่อผมได้ยินหญิงเล่าว่า เธอยังคงเดินทางด้วยการโบกรถ ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า มันยังทำได้อยู่หรือ และอะไรทำให้เธอเชื่อว่ามันยังปลอดภัยในโลกปัจจุบัน

“เราไม่กลัวนะ เรียนสันติวิธีด้วยมั้ง เราเชื่อว่าคนไม่ทำร้ายกันหรอก ถ้าเขาทำก็เพราะเขากลัว เพราะเขาไม่รู้จักเรา มากกว่าอย่างอื่น ถ้ามีพื้นที่ มีเวลาให้รู้จักกัน ความไม่ไว้วางใจมันจะหายไป เพราะเราได้สื่อสารกัน”

“หญิงมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า”

“บางคนที่เขารับเราขึ้นรถ เขาก็จะเตือนว่า ‘โชคดีนะที่เจอพี่ ถ้าเจอคนไม่ดีจะลำบาก’ แล้วบอกเราว่าคราวหน้าอย่าไปเที่ยวโบกรถอีก มันอันตราย บางคนก็ถามว่า ‘ไม่กลัวเหรอ ขึ้นรถพี่’ เราก็ถามเขากลับว่า ‘พี่ไม่กลัวเหรอที่รับหนูขึ้นรถ’ เราคิดว่า ความระแวงมันมีสองแบบ ระแวงคนอื่นและกลัวคนอื่นจะระแวง เราเคยทำงานรณรงค์ในคุก เราก็ระแวงว่าคนในคุกเขาจะยอมรับเราไหม และเราก็พบหลังจากได้ทำงานด้วยกันว่า คนในคุกเขาก็คิดว่าเราจะระแวงเขาไหมเหมือนกัน เราคิดว่าถ้าเราได้คุยกันความระแวงเหล่านี้จะหายไป”

“แล้วหญิงทำยังไงให้เขาไว้ใจ และคิดว่าปลอดภัยที่คนอื่นเขาจะรับขึ้นรถ”

“เราเริ่มโบกจากปั๊มน้ำมันชานเมือง เราเลือกรถ ดูทะเบียนรถ ดูที่ข้างหลังกระบะว่าโล่ง แล้วไปคุยกับคนขับ บอกเขาว่าชื่ออะไร ต้องการจะไปไหน แล้วเขาจะผ่านทางนั้นไหม เราอยากขอไปด้วย ก็บอกไปตรงๆ แบบนี้ แสดงความจริงใจกับเขา ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะไปซื้อของในปั๊ม แวะเข้าห้องน้ำ ช่วงเวลานี้จะเป็นเวลาให้เขาตัดสินใจว่าเขาจะรับเราไปหรือเปล่า

“เราว่าคนพร้อมจะช่วยเหลือกันนะ แต่เกือบทุกคนจะบอกว่า โลกไม่ได้สวยงาม คราวหน้าอย่าโบกนะ เขาจะไปส่ง บขส. ถ้าไม่เจอพี่จะทำไง อยู่ในเมืองก็ไม่ได้ปลอดภัยกว่าโบกรถ จริงไหม ขึ้นแท็กซี่กลางคืนก็อันตรายเหมือนกันนะ อาจจะน่ากลัวกว่าอีก เราว่าโบกรถสบายนะ เราได้ยืดแข้งยืดขา นอนดูวิว โบกรถกระบะ มีระยะห่างจากคนที่รับ บางครั้งก็นั่งข้างในบ้าง แต่ปกติชอบนั่งข้างหลัง วิวที่อยู่หลังรถกระบะไม่เหมือนที่ไหนนะ เรามองวิวถอยหลัง มันพิเศษ คุณไม่มีทางเห็นเลย ถ้าไม่ได้นั่งอยู่ข้างหลังรถกระบะ”  

หญิงยังยืนยันว่าโลกยังคงสวยงาม เพียงแต่เราเลือกที่จะพูดแต่สิ่งร้ายๆ มากกว่าสิ่งดีๆ ที่จริงแล้วมีอยู่—มากกว่ามาก

อาจเป็นด้วยความเปิดเผย พูดจาตรงไปตรงมา และการแสดงความจริงใจแบบนี้ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเคยพบเจอเธอมาก่อน ผมรู้สึกแบบนั้นขณะสบตาสีน้ำตาลที่มองกลับมา

 

 

ศักดิ์สินี เอมะศิริ

Camera : Medium Format 6 x 6 / Barnack Film Format 135

Black and White Negative Film

Fact Box

ศักดิ์สินี เอมะศิริ เป็นผู้ประสานงานอิสระให้กับโครงการต่างๆ ของหน่วยงานเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศ

เป็นล่ามภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน

จบการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ ภาคภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยศิลปากร

และเรียนปริญญาโท สันติวิธีศึกษา (Master of Arts in Peace and Conflict Studies) ที่ European University Center for Peace Studies

Tags: , , ,