เช้านั้น พี่แหม่ม วีรพร มอบของขวัญให้ผม
เธอไม่รู้ตัวหรอก แต่เช้าวันนั้น เธออัพสเตตัสถึงนิยายวายเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเตะตาเป็นอย่างยิ่ง – “เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม (สักทีโว้ย)” คือชื่อของนิยายวายเรื่องนั้น ผมคลิกเข้าไปอ่านทันทีด้วยความสงสัย พล็อตของมันจะเป็นอย่างไร สลิ่มกับความวายจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ทุกครั้งที่ค้นพบส่วนผสมที่อาจดูไม่เข้าใจ เหมือนเป็นจุดตัดของเส้นวัฒนธรรมสอง สามสายหรือมากกว่านั้น ผมจะตื่นเต้นยินดีเสมอ คล้ายกับได้ค้นพบวัตถุหายาก อยากรู้ทั้งในแง่กระบวนการคิด และผลิตภัณฑ์ ว่าออกมาจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และนิยายวายเรื่องนี้ก็ทำหน้าที่เป็นทางเข้าสู่โลกที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี – ได้ดี
นั่นคือโลกของนิยายวายกับการเมือง
“เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม” เป็นนิยายวาย (สำหรับผู้ที่ไม่รู้ วาย ย่อมาจาก YAOI คือชายรักชาย) ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ Readawrite ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ใช้นามปากกาว่า Cyanxweek ปัจจุบันมีผู้อ่านรวมกันแล้วเกือบห้าแสนครั้ง นิยายเรื่องนี้เผยแพร่เป็นตอน ความยาว 20 ตอนจบ แต่ละตอนพาดหัวด้วยชื่อตอนที่มีสีสันดึงดูดใจ อย่าง “ขอร้อง อย่าเป็นนีโอสลิ่ม” หรือ “ไม่ได้ห้าพัน ได้นอนด้วยกันก็ยังดี” ธีมของความวายและการเมืองสอดรับกันอย่างลงตัวตั้งแต่พาดหัว
“เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม” เล่าเรื่องราวของ “ผม” ที่แอบชอบ “พี่หมอ” ห้องตรงกันข้าม ชอบตั้งแต่คราวแรกที่ได้สบตากัน แต่ติดปัญหาอยู่ตรงที่ว่าพี่หมอเป็นสลิ่ม นิยายให้ความหมายของสลิ่มส่วนหนึ่งไว้โดยละเอียด เช่น “สลิ่มคือพวกที่มองว่าคนเราไม่เท่าเทียมกัน […] พวกเขาเป็นพวกที่มองอะไรแบบตื้นเขิน […] มองว่าประเทศจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ไม่สำคัญ ขอให้มันเดินหน้าได้ก็พอ […] มองว่าการเมืองเป็นเรื่องวุ่นวาย ไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา และมีม็อตโต้ประจำตัวว่า ‘ใครเป็นรัฐบาลเราก็ต้องทำมาหากินกันต่อไป’ เชื่อในความคิดผิดๆ ของตัวเอง ว่าฉันนี่แหละรักชาติ ใครเห็นต่างกับฉันมันชังชาติ” ภารกิจของ “ผม” จึงเป็นการเทิร์นพี่หมอ ค่อยๆ “เอดูเคต” ให้พี่หมอสละและสลายความเป็นสลิ่ม ฮุคสำหรับผู้อ่านอยู่ตรงนี้เอง นอกจากจะลุ้นว่าพระเอกกับนายเอกจะ “ได้” กันแล้วหรือไม่ ยังต้องลุ้นในอีกระดับด้วยว่าภารกิจของ “ผม” จะสำเร็จไหม
หลังจากที่ผม (ผมแบบไม่มีอัญประกาศ คือผมคนเขียนนี่แหละ) ทวีตออกไปว่าเพิ่งค้นพบสิ่งนี้ ก็มีผู้คร่ำหวอดในวงการมากมายมาแนะนำเรื่องอื่นๆ ให้อ่าน จึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่นเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ “การต่อสู้ของลิเบอร่านผ่านวรรณกรรมร่วมสมัย” “แฟนฟิคที่โปรยว่าอุทิศให้ครอง จันดาวงศ์” มีเรื่องชื่อ “อุดมการณ์แดกไม่ได้ แต่กรไออาร์ปีสี่แดกได้” และ “ย้อนเวลากลับไปเป็นทาส แหกตาตื่นซะอีสลิ่ม” หรือภาคต่อของเรื่อง “เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม” ที่เล่าเรื่องเพื่อนตัวละครหลักที่จัดพอดแคสต์เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์และมีการกล่าวถึงเรื่องเพศวิถี และอีกหลายๆ เรื่องที่ต่างก็มีคอนเซปท์และเรื่องย่อเปรี้ยวซี้ดชวนเข็ดฟัน
แนวคิดหนึ่งที่พูดถึงการถือกำเนิดและการได้รับความนิยมของนิยายวายบอกว่าผู้หญิง (ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ผลิตและเสพนิยายวาย) นั้นต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและการต่อรองหลายระดับ ระดับโครงสร้าง (ระบอบชายเป็นใหญ่ของสังคมไทย และอีกหลายสังคมในเอเชีย) ระดับสื่อซึ่งต้องการพื้นที่และเวทีในการนำเสนอ หรือระดับเนื้อหา แนวคิดนี้มองว่า ผู้หญิงถูกกดทับเรื่องเพศและไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเปิดเผย จึงแสดงออกและสนองความต้องการตามธรรมชาติออกมาในรูปแบบการควบคุมตัวละครชายให้เป็นไปดังใจตนเองในมโนทัศน์ อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งคำถามต่อมาเช่นกันว่านิยายวายซึ่งเป็นผลผลิตของการกดทับจากระบอบชายเป็นใหญ่ เป็นการกดทับประชากรชายรักชายอีกครั้งหรือไม่ เพราะเป็นการวาดภาพชายในมายาคติที่อาจไม่สะท้อนความเป็นจริง (เช่น มีการแบ่งเป็น “ฝ่ายรุก” ที่มีความเป็นชายชัดเจน กับ “ฝ่ายรับ” ที่มีความเป็นหญิงชัดเจน หรือตัวละครจะไม่ “ออกสาว” เป็นต้น)
ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือนิยายวายการเมืองนั้นไม่เพียงเป็นผลผลิตจากการกดทับหนี่งชั้น (ในเรื่องเพศ) เท่านั้น แต่ยังเป็นผลผลิตจากการกดทับในแง่การเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกด้วย น่าสนใจว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น นิยายวายการเมืองจะมีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่านิยายวายทั่วไป และนิยายการเมืองหรือไม่ (นั่นคือเป็นประชากรกลุ่มที่ถูกกดทับสองกลุ่มมา “ยูเนียน” กัน) หรือจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เล็กกว่า (เนื่องจากเป็นประชากรสองกลุ่ม “อินเตอร์เซค” กัน)
เป้าหมายของ “ผม” ต่อ “พี่หมอ” ในเรื่อง “เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่ม” อาจเป็นเป้าหมายของผู้เขียนที่ตั้งคำถามต่อสังคมไทยโดยรวมว่า “เมื่อไหร่จะเลิกเป็นสลิ่มสักทีโว้ย” นั่นเอง
เมื่อไหร่จะเลิกกดทับฉันเสียที?
ในโลกที่เราเห็นการคะคานอำนาจชัดเจนขึ้นระหว่างวัฒนธรรมซอฟท์พาวเวอร์กับอำนาจเชิงโครงสร้าง โลกที่เราเห็นแฟนๆ เกาหลีจองที่นั่งในการปราศรัยของทรัมป์หลอกๆ โลกที่มีผลผลิตเป็นนิยายวายการเมือง – น่าสนใจว่าส่วนประกอบเหล่านี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในอนาคตอย่างไร และเราจะได้เห็นกระแสโต้กลับจากกลุ่มการเมืองฝั่งตรงกันข้ามในทำนองเดียวกันหรือไม่ จะมีนิยายวายประเภท “เมื่อไหร่จะเลิกเป็นควายแดงเสียที” ออกมาให้อ่านกันหรือเปล่า?
ข้อเขียนและการกระตุกต่อมชวนคิดทั้งหมดนี้คือของขวัญที่ผมได้รับจากคุณวีรพร
ข้อมูลเพิ่มเติม
“ผู้หญิงกับการสร้างนวนิยายชายรักชาย” อรวรรณ วิชญวรรรกุล
http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5607030441_3066_6358.pdf
Tags: นิยายวาย, สลิ่ม