นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เราพบเจอระหว่างเดินทางในมณฑลยูนนานจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง เพิ่มระดับความสูงของพื้นที่ไปทีละน้อย ล้วนมุ่งหน้าไปอุทยานย่าติง (yading) รอยยิ้มกว้างระบายบนใบหน้าแต่ละคน เป็นรอยยิ้มที่ให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพราะแค่พื้นที่ตั้งของตัวอุทยานก็อยู่บนพื้นที่สูงกว่า 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลแล้ว เป็นภาวะที่ทำให้มีออกซิเจนเบาบางและอาจก่อให้เกิดอาการป่วยสำหรับคนไม่คุ้นชินได้ เรียกว่าสภาพร่างกายและจิตใจจึงต้องเข้มแข็งและพร้อมเป็นพิเศษ รอยยิ้มที่ส่งให้กันจึงเป็นรอยยิ้มให้กำลังใจ และตบท้ายประโยคที่ประหนึ่งคำสัญญา ‘เจอกันที่โน่น’
การเตรียมความพร้อมร่างกายให้ชินกับภาวะความสูงของแต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างกัน สำหรับกลุ่มของพวกเราแล้ว ได้เริ่มต้นเดินทางที่เมืองคุนหมิงที่ระดับความสูงประมาณ 1,900 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ก่อนจะแวะพักที่เมืองลี่เจียงที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และที่เมืองลี่เจียงนี่เอง เราฉวยจังหวะเที่ยวเล่นบนพื้นที่เขาที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีระดับความสูงประมาณสามพันกว่าเมตรเหนือระดับน้ำทะเล จึงเป็นเหมือนการทดสอบร่างกายในเบื้องต้น หากไม่มีอาการเจ็บป่วยแล้ว การเดินทางต่อจากนี้ไปคงไม่ยากนัก จากนั้นเราจึงเดินทางต่อไปยังเมืองแชงกรีล่า และเมืองเต้าเฉิน ที่ระดับความสูงเริ่มไต่เฉียดสี่พันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ก่อนจะไปสิ้นสุดที่อุทยานย่าติงที่มีความสูงเฉลี่ยกว่า 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
บรรยากาศระหว่างทางเดิน ที่จัดสร้างไว้อย่างดี
การเดินทางจากเมืองหนึ่ง สู่อีกเมืองหนึ่งไปเรื่อย ๆ อาจสร้างความสับสนว่าอุทยานย่าติงอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศจีนกันแน่
หากเรามองแผนที่ประเทศจีนจากมุมสูง จะสังเกตเห็นว่าประเทศจีนมีพื้นที่ที่ราบสูงอยู่หลายแห่งทีเดียว พื้นที่ราบสูงที่มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดได้แก่พื้นที่ราบสูงชิงไห่ง-ทิเบต (Qinghai – Tibet) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีระดับความสูงของพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 3,000 – 5,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ที่ราบสูงแห่งนี้ไม่เพียงสูงที่สุดของจีนเท่านั้น แต่ยังสูงที่สุดของโลกอีกด้วย จนได้รับการเรียกขานว่า ‘พื้นที่หลังคาโลก’ ตัวอุทยานย่าติงอยู่ตรงชายขอบของพื้นที่ราบสูงนี้เอง
บรรยากาศระหว่างทาง
เมื่อพูดถึง ‘พื้นที่หลังคาโลก’ สิ่งแรกที่คนนึกถึงคือเทือกเขาหิมาลัย และเขตปกครองตนเองทิเบต อุทยานย่าติงนับเป็นชื่อแปลกใหม่ที่คนเพิ่งจะเริ่มรู้จัก ในอดีตที่นี่จัดเป็นดินแดนลึกลับที่เข้าถึงได้ยาก จนได้รับการเผยโฉมให้คนทั่วไปได้เห็นครั้งแรกโดยนักสำรวจชาวตะวันตกนามว่า Joseph Francis Charles Rock ที่เข้ามาสำรวจพื้นที่แถบมณฑลยูนนานและเสฉวน เขาได้บันทึกการพิชิตยอดเขาศักดิ์สิทธิ์สามลูกตามความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายวัชรยาน บันทึกดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่พร้อมภาพถ่ายลงในนิตยสาร National Geographic ฉบับเดือน กรกฏาคม ปีค.ศ.1931 เป็นการเผยโฉมความงดงามของพื้นที่ดังกล่าวให้คนภายนอกได้เห็นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานในปี ค.ศ. 1996 ในชื่อ ‘ย่าติง’ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้านชาวทิเบตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น และเมื่อทางการเมืองเต้าเฉินวางแผนที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวของตัวเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน อุทยานย่าติงก็ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่จะดึงดูดผู้คนให้เดินทางมายังเมืองเต้าเฉิน
เริ่มแรกอุทยานย่าติงมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มเป็นหลักแสน และในปี ค.ศ. 2018 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอุทยานย่าติงมากกว่า 1 ล้านคน ความสำเร็จนี้ไม่ไช่อยู่ดี ๆ ก็ได้มาง่าย ๆ แต่เกิดจากการวางแผนรองรับอย่างรอบคอบ และการบริหารจัดการที่ดี จากดินแดนที่เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก มีการปรับปรุง สร้างเส้นทางถนนให้เข้าถึงตัวอุทยานได้โดยสะดวก มีการสร้างสนามบินพลเรือนที่สูงที่สุดในโลกเพื่อย่นระยะเวลาการเดินทาง มีการจัดวางระบบการขนส่งนักท่องเที่ยวจากด้านนอกตัวอุทยานเข้าไปในอุทยานได้อย่างยอดเยี่ยม มีการจัดวางเส้นทางเดิน เทรคกิ้ง (trekking) ภายในตัวอุทยาน ไว้อย่างเรียบร้อย ไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเดินเที่ยวอย่างสะเปะสะปะ สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ มีการจัดโซนกำหนดการใช้พื้นที่อุทยานอย่างเป็นระเบียบ บริเวณหมู่บ้านที่มีชาวบ้านอยู่อาศัยอยู่ก่อนแล้วปล่อยให้เป็นโซนพักอาศัย มีร้านอาหาร ร้านขายของต่าง ๆ รองรับ ทั้งหมดทั้งมวลคือการทำงานอย่างหนักที่ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ทะเลสาบไข่มุก
จากเส้นทางเดินทางที่ผ่านทิวเขาสูงเวิ้งว้าง นานๆ จะเจอชุมชนที่อยู่อาศัย เมื่อมาถึงด้านหน้าอุทยานย่าติง เราพบอาคารขนาดใหญ่นั่นคือ Yading Service Center นักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันหลั่งไหลเข้าสู่ตัวอาคาร ซึ่งมีลิฟต์ขนาดใหญ่รองรับช่วยขนย้ายนักท่องเที่ยวขึ้นไปด้านบน ซึ่งเป็นพื้นที่ขายตั๋ว และมีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดขนาดใหญ่สัญชาติตะวันตกให้บริการ มีห้องน้ำพร้อมรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากมาย เมื่อซื้อตั๋วเข้าชมอุทยานด้านในเรียบร้อยแล้ว จะมีจุดให้ขึ้นรถบัสที่จะวิ่งบริการรับส่งนักท่องเที่ยวจากด้านนอกเข้าไปด้านในอุทยานตลอดทั้งวัน
ด้านในอุทยานย่าติงนั้นกว้างขวาง เอาแค่ระยะทางจากด้านหน้าตัวอุทยาน เข้าไปยังจุดรับส่งผู้โดยสารจุดแรกก็ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงได้แล้ว การเดินทางด้านในจึงต้องอาศัยบริการรถบัสของทางอุทยาน ที่จะขับวนรับส่งนักท่องเที่ยวตามจุดต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน ตัวนักท่องเที่ยวเองนั้นกระจายกันพักตามจุดต่าง ๆ บริเวณ Yading Village ก่อนที่จะขึ้นรถบัสมาลงยังจุดจอดรถสุดท้ายของตัวอุทยาน ซึ่งบริเวณนั้นจะเป็นจุดตั้งต้นการเดินป่าซึ่งมีด้วยกันสองเส้นทาง
ยอดเขาอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
เส้นทางระยะสั้น เริ่มต้นจาก ทุ่งหญ้าชงกู (Chonggu Meadow) – วัดชงกู(Chonggu Monastery) -ทะเลสาบไข่มุก (Pearl Lake) – จุดชมวิวภูเขาศักดิ์สิทธิ์ Xiannairi หรือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เส้นทางนี้รวมระยะทางไปกลับประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 4-5 ชั่วโมง
สำหรับเส้นทางระยะยาว เริ่มต้นจาก ทุ่งหญ้าลั่วหรง ( Luorong Pasture) – ทะเลสาบน้ำนม (Milk Lake) และทะเลสาบห้าสี ( Five Color Lake) รวมระยะทางไปกลับประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 7-8 ชั่วโมง
เส้นทางเดินป่าภายในอุทยานย่าติงมีความหลากหลาย มีทั้งทุ่งหญ้า ธารน้ำ น้ำตก ทะเลสาบ ภูเขา ผสมผสานกลายเป็นทิวทัศน์ที่ทำให้ใครต่อใครอยากมาเห็นด้วยตาตนเองแม้เส้นทางจะยากลำบากก็ตาม
เราเลือกเส้นทางระยะสั้นเพื่อทดสอบร่างกายในวันแรก ซึ่งมีระยะทางเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น หากต้องใช้เวลาเดินถึง 5 ชั่วโมง นั่นเป็นเพราะเส้นทางเดินแม้จะวางตะแกรงเหล็กให้เดินได้ง่าย แต่เส้นทางที่สูงชันทำให้เหนื่อยง่ายต้องหยุดพักเป็นระยะ และนักท่องเที่ยวเองก็เต็มใจที่จะหยุดพักเพื่อชมทิวทัศน์สองข้างทางอย่างเต็มอิ่ม
ทุ่งหญ้าลั่วหรง
เส้นทางนี้ผ่านไปถึงทะเลสาบไข่มุก ทะเลสาบสีเขียวที่มีฉากหลังเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวทิเบต ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกดังกล่าวคือภูเขาอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ที่มีความสูง 6,032 เมตร เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์สีขาวโพลนบนยอดเขาขับเน้นสีของทะเลสาบไข่มุกให้ยิ่งเขียวเข้มขึ้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว มักหยุดพักกันยาวๆ เพื่อซึมซับบรรยากาศและถ่ายรูปคู่กับทะเลสาบและภูเขาศักดิ์สิทธิ์
สำหรับเส้นทางระยะยาวนั้น เรานั่งรถไฟฟ้าจากทุ่งหญ้าชงกู ไปยังทุ่งหญ้าลั่วหรง ที่ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงเริ่มต้นเดินเท้าจากทุ่งหญ้าลั่วหรง ไปยังทะเลสาบห้าสี และทะเลสาบน้ำนม
จากจุดลงรถไฟฟ้า เราได้เห็นภาพทุ่งหญ้าลั่วหรงกว้างสุดหูสุดตาท่ามกลางเทือกเขาขนาดใหญ่ที่โอบล้อม เส้นทางเดินที่ตัดผ่านเข้าไปในทุ่งหญ้านั้นยาวเหยียด ผู้คนจำนวนมากพากันเดินย่ำไปตามเส้นทางนั้น มองจากที่ไกล นั่นราวกับแถวของมดตัวน้อยๆ
ทุ่งหญ้าลั่วหรง บางส่วนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ
ความรู้สึกของวันนี้ช่างแตกต่างจากเมื่อวาน ความอิ่มใจ ที่เบิกบานฟู่ฟ่องจากการได้สัมผัสธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์ แปรเปลี่ยนกลายเป็นความรู้สึกถ่อมตน ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เบื้องหน้าข่มอัตราในตัวให้ตระหนักว่า เราเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
ฉันเริ่มจะเข้าใจแล้วว่าทำไมเส้นทางเดินป่าของอุทยานย่าติง จึงเป็นเส้นทางเดินจาริกแสวงบุญดั้งเดิมของชาวทิเบตที่มีมานานกว่า 300 ปี
ช่วงแรกของเส้นทางที่เดินตัดเข้าไปในทุ่งหญ้าลั่วหรงนั้นง่าย เพราะเป็นเส้นทางราบ แต่กระนั้นทุ่งหญ้าที่กว้าง ทำให้ใช้เวลาเดินนานอยู่เหมือนกัน จากนั้นจึงเริ่มเดินไต่ขึ้นไปตามเส้นทางภูเขา ซึ่งค่อยๆ สูงชันขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดเสียที
ตลอดเส้นทางมีถังขยะ และห้องน้ำรองรับเป็นระยะ แม้จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ไม่มีเศษขยะหล่นเกลื่อนให้เห็นสักนิด ทุกคนล้วนจัดการเก็บกวาดขยะที่ตนเองสร้างขึ้นอย่างเรียบร้อย
เพราะระยะทางที่ต้องใช้เวลาเดินไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมง ทำให้แต่ละคนต้องเตรียมอาหารกลางวันมาเอง ภายในตัวอุทยานมีข้าวกล่องวางขาย นี่ไม่ใช่ข้าวกล่องธรรมดา สำหรับฉันถือเป็นนวัตกรรมข้าวกล่องชั้นยอด ภายในกล่องข้าวแบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นล่างสำหรับวางถุงเคมีและใส่น้ำที่จะทำปฏิกริยาสร้างความร้อน อุ่นข้าวด้านใน และถุงกับข้าวที่วางอยู่ใต้กล่องให้ร้อนได้ถึง 120 องศาเซลเซียสภายใน 10 นาที นั่นทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินกันเหนื่อยๆ มีข้าวสวยกินกับกับข้าวร้อน ๆ กลายเป็นมื้ออร่อยที่ชวนจดจำ
ระหว่างทางไปยังทะเลสาบห้าสี เราได้เห็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบตอีกสองลูก นั่นคือ Xianuoduoji หรือพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ ที่มีความสูง 5,958 เมตร และ Yangminayong หรือ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ที่มีความสูง 5,958 เมตรเช่นกัน และเพราะเป็นเส้นทางเดินจาริกแสวงบุญดั้งเดิมของชาวทิเบต เราจึงเห็นธงมนตรา 5 สี ตามความเชื่อของพุทธศาสนานิกายวัชรยานเป็นระยะ
ในที่สุดเราก็ถึงทะเลสาบห้าสี มองเผินๆ สีของทะเลสาบดูซีดจนน่าประหลาดใจ หากเมื่อเดินขยับใกล้เข้าไปใกล้ จึงพบว่าสีของทะเลสาบนั้นไม่คงที่แปรเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนที่ของเรา ที่แท้ทะเลสาบแห่งนี้เปลี่ยนสีไปตามมุมมองและจังหวะการตกกระทบของแสงที่เปลี่ยนไป นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อทะเลสาบ 5 สี
ทะเลสาบ 5 สี
และบนเนินเขาสูงชันเนินสุดท้ายของเส้นทางที่เริ่มลาดลง เราก็ได้เห็นทะเลสาบน้ำนมที่มีสีฟ้าสดเข้มชวนอัศจรรย์ตั้งอยู่ท่ามกลางความซับซ้อนของภูเขา ผู้คนมากมายพากันเดินหลั่งไหลไปรวมกัน ณ จุดนั้น นั่นยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้า
ทะเลสาบน้ำนม
คงเป็นเพราะแบบนี้ เส้นทางเดินนี้ จึงเป็นเส้นทางจาริกแสวงบุญของชาวทิเบต เส้นทางที่ทำให้มนุษย์ อย่างพวกเราได้ตระหนักว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กมากเพียงใด เมื่อเทียบกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่
Tags: จีน, อุทยานย่าติง