ระหว่างการเยือนเมียนมาเมื่อปลายสัปดาห์ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงลั่นวาจาที่จะสนับสนุนเจ้าบ้านที่กำลังเผชิญกับปมโรฮิงญาในเวทีโลก ขณะที่รัฐบาลของอองซาน ซูจีให้คำมั่นที่จะเร่งรัดโครงการยักษ์ที่จะสร้างด้วยทุนจีน ท่ามกลางเสียงทักท้วงจากกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

ผู้นำปักกิ่งเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 70 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูต ในช่วงเวลา 2 วันของการเยือนซึ่งเริ่มเมื่อวันศุกร์ (17 ม.ค.) ประเทศทั้งสองได้กระชับความร่วมมือผ่านการลงนามในเอกสารต่างๆ กว่า 30 ฉบับ ผู้นำแต่ละฝ่ายต่างแสดงท่าทีที่จะสนองตอบผลประโยชน์ของกันและกัน

ความร่วมมือที่โดดเด่นที่สุด คือ โครงการสาธารณูปโภค มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุม 4 เมกะโปรเจกต์ นั่นคือ เส้นทางรถไฟเชื่อมยูนนานผ่านเมียนมาไปออกมหาสมุทรอินเดีย ท่าเรือน้ำลึกริมอ่าวเบงกอล เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเมืองใหม่ของนครการค้าย่างกุ้ง

โครงการเหล่านี้ไม่ใช่ไอเดียใหม่ แต่เป็นแผนงานที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเห็นพ้องกันมาแล้ว เพียงแต่การดำเนินงานยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จีนจึงใช้โอกาสการเยือนของประธานาธิบดีสี เร่งรัดฝ่ายเมียนมาให้รีบเดินหน้าตามข้อตกลง

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่เมียนมาเป็นดินแดนหลากหลายชนชาติ รัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยยังไม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพโดยสมบูรณ์ บรรดาอภิมหาโครงการที่จะจัดสร้างขึ้นในรัฐยะไข่ รัฐฉาน หรือรัฐกะฉิ่น กำลังถูกผู้คนในพื้นที่ตั้งคำถามว่า ชาวบ้านจะได้อะไรนอกจากถูกเวนคืนที่อยู่ที่ทำกิน

สองผู้นำหยอดคำหวาน

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ผู้นำจีนกับผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมาต่างโปรยมธุรสวาจาแก่กันและกันในขณะที่อองซาน ซูจีกำลังเจอกับเสียงวิจารณ์จากโลกตะวันตกต่อกรณีการปราบปรามความไม่สงบในรัฐยะไข่และวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญา

ประธานาธิบดีสีกล่าวว่า จีนสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความพยายามของเมียนมาที่จะปกป้องสิทธิโดยชอบธรรม ผลประโยชน์ และเกียรติภูมิของชาติในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ จีนยังสนับสนุนเมียนมาในการผลักดันให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในรัฐยะไข่ด้วย

ข้างฝ่ายซูจีกล่าวว่า เมียนมาจะอยู่เคียงข้างจีนตลอดไป “แม้นไม่ได้บอกก็รู้กันว่า ประเทศที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกันนั้น ไม่มีทางเลือกเป็นอื่น ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่ด้วยกันจนถึงวันโลกาวสาน”

ยุคแห่งความเชื่อมโยง 

โครงการด้านสาธารณูปโภคและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเชื่อมจีนกับเมียนมา เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา หรือซีเม็ก โครงการเหล่านี้เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของแผนการที่ใหญ่กว่านั้นขึ้นไปอีก นั่นคือ ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา

ความร่วมมือ 4 ประเทศ (Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor) ซึ่งเรียกชื่อย่อว่า BCIM-EC นี้ จะกลายเป็นแถบและทางสำหรับดินแดนแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่จะออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ทว่าวิสัยทัศน์อันยาวไกลนี้จะปรากฏเป็นจริงได้หรือไม่นั้น เมียนมาเป็นหนึ่งในตัวต่อที่สำคัญยิ่ง

นี่คือภูมิหลังของการลงนามข้อตกลง จดหมายแสดงเจตนา บันทึกความเข้าใจ และเอกสารต่างๆ รวม 33 ฉบับเมื่อวันเสาร์ ในจำนวนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณูปโภค 13 ฉบับ ใจความหลักมีว่า ทั้งสองฝ่ายจะเร่งเจรจาให้ได้กรอบข้อตกลงสำหรับแต่ละโครงการโดยเร็ว

โครงการที่ลงนามกันในครั้งนี้ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษจ๊อกผิ่ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงซีเม็ก โปรเจกต์ขนาดใหญ่ภายใต้โครงการนี้มี 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ ท่าเรือน้ำลึก กับนิคมอุตสาหกรรม

ในข้อตกลงเมื่อปี 2015 ทั้งสองฝ่ายกำหนดราคาโครงการท่าเรือไว้ที่ 7,300 ล้านดอลลาร์ฯ และนิคมอุตสาหกรรมที่ 2,700 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ในข้อตกลงล่าสุด เมียนมาลดมูลค่าโครงการโดยรวมลงมาอยู่ที่ 1,300 ล้านดอลลาร์ฯ นัยว่ารัฐบาลเนย์ปีดอว์กลัวไม่มีปัญญาใช้หนี้เงินกู้ หลังจากมองเห็นอุทาหรณ์จากกรณีท่าเรือของศรีลังกา

อีกหนึ่งโครงการ คือ เส้นทางรถไฟจากเมืองมูเซในรัฐฉานติดชายแดนจีนไปยังเมืองมัณฑะเลย์ในภาคกลาง ระยะทางกว่า 400 กม. และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งจะคร่อมพรมแดนระหว่างเมืองรุ่ยลี่ (ชาวไตเรียกว่า เมืองมาว) ของมณฑลยูนนาน กับเมืองมูเซ

รถไฟสายมูเซ-มัณฑะเลย์นับเป็นส่วนแรกของเส้นทางที่ปักกิ่งอยากจะได้ ในอนาคต จีนต้องการเห็นรางรถไฟพร้อมถนนทางด่วน ทอดยาวจากยูนนานผ่านมัณฑะเลย์ไปถึงจ็อกผิ่ว และผ่านมัณฑะเลย์ไปถึงย่างกุ้ง

โครงการใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เมืองใหม่ย่างกุ้ง ส่วนเขื่อนมิตโซนในรัฐกะฉิ่นนั้น ยังไม่มีการรื้อฟื้นโครงการในเวลานี้

คนพื้นที่ขอถาม ‘ใครได้ ใครเสีย’

หนึ่งวันก่อนหน้าการเยือนของสีจิ้นผิง กลุ่มเอ็นจีโอ 18 องค์กรออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ระงับโครงการท่าเรือจ๊อกผิ่วเอาไว้ก่อน ด้วยเหตุผลว่า ยังมองไม่เห็นว่าประชาชนในรัฐยะไข่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานในพื้นที่อย่างไร พร้อมกับแสดงความวิตกต่อปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ซึ่งยังแก้ไม่ตกตั้งแต่เริ่มโครงการท่อส่งก๊าซและน้ำมันจากจ๊อกผิ่วไปยังยูนนาน ท่อส่งคู่ดังกล่าวเปิดใช้เมื่อปี 2013

นินยี ลวิน รักษาการรองประธานพรรคประชาธิปไตยอาระกัน บอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับท่าเรือที่จะสร้างด้วยทุนจีนนี้ เว้นแต่ผู้คนในท้องถิ่นให้ความยินยอม และประชาชนในรัฐยะไข่ได้ประโยชน์ พร้อมกับเตือนว่า ถ้าจีนกับภาคธุรกิจของเมียนมาได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว โครงการนี้จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งในรัฐยะไข่

ขณะเดียวกัน พรรคสันนิบาตประชาธิปไตยชนชาติไทใหญ่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาขอความเห็นชอบจากประชาชนท้องถิ่นและสภาของรัฐฉาน ก่อนที่จะลงมือทำโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเตือนว่า ถ้าการขับเคลื่อนโครงการไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ขาดความโปร่งใส และก่อผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพและสันติภาพในพื้นที่

คอยดูกันต่อไป รัฐบาลของเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ยินดีรับฟังกระแสเสียงจากคนชายขอบแค่ไหน อย่างไร.

อ้างอิง:

AFP, 18 January 2020

Reuters, 18 January 2020

South China Morning Post, 18 January 2020

The Irrawaddy, 18 January 2020

 

ภาพ: Nyein CHAN NAING / POOL / AFP

Tags: , , ,