หากใครเคยไปลอนดอนน่าจะคุ้นเคยกับ Admiralty Arch กันเป็นอันดี
อาคารแห่งนี้เป็นตึกทรงโค้ง แลดูแสนสวย แสนสง่างาม มีธงทิวประดับ ที่สำคัญก็คือ อาคารนี้เป็นเสมือน ‘ประตู‘ สำหรับผ่านเข้าสู่ The Mall อันเป็นถนนขนาดใหญ่กว้างที่มีไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ของเมือง เช่นเมื่อคราวที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงฉลองพัชราภิเษกก็เสด็จฯ ผ่านถนนสายนี้ และมีผู้คนมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ กันเนืองแน่น
เมืองใหญ่ทุกเมืองต้องมี ‘พื้นที่’ ใหญ่ๆ แบบนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อประกอบรัฐพิธีหรือราชพิธีเท่านั้น แต่ถ้าคนจะประท้วงรวมตัวกันก็สามารถมาใช้พื้นที่เดียวกันนี้ในการชุมนุมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันด้วย
ผมผ่าน Admiralty Arch หลายต่อหลายครั้ง มีทั้งที่นั่งรถผ่านและเดินผ่าน ทุกครั้งคราวก็ได้แต่ชื่นชมว่า ช่างเป็นอาคารที่สวยงามสง่าอะไรเช่นนี้
แต่ผมไม่รู้เอาเสียเลยว่ามีชาวอังกฤษหลายคน โดยเฉพาะคนในยุคที่อาคารหลังนี้สร้างขึ้นมา เห็นว่ามันคืออาคารแห่งรสนิยมอันย่ำแย่
และเป็นรสนิยมย่ำแย่ของราชินีเสียด้วย!
Admiralty Arch ถือเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งของลอนดอน และเป็นอาคารอนุรักษ์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1910 ในปัจจุบันนี้ต้องบอกว่าคุณสามารถ ‘เข้าพัก’ ที่นี่ได้นะครับ เพราะว่ารัฐบาลได้ปล่อยเช่าให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งเป็นเวลา 125 ปี ซึ่งมีการพัฒนามาเป็นโรงแรมหรู
คำว่า ‘Admiralty’ หมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเรือ ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เกี่ยวกับข้อพิพาทต่างๆ คล้ายๆ เป็นศาลทางทะเลก็ว่าได้ ศาลนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับอังกฤษยุคก่อน เพราะอังกฤษถือว่าเป็น ‘เจ้าทะเล’ ที่มีดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน สมัยก่อนมีผู้ดูแลรับผิดชอบเพียงคนเดียวคือ Lord High Admiral แต่ต่อมาก็มีคณะกรรมการเรียกว่า Board of Admiralty ขึ้นมาทำหน้าที่นี้
แล้วที่บอกว่ามันคืออาคารแห่งรสนิยมอันย่ำแย่นั้นเล่าคืออะไร?
เรื่องเล่านี้มาจากหนังสือ London Lore ของ สตีฟ รูด์ (Steve Roud) ที่บอกว่า ในปี 1986 เคยมีบทความหนึ่งในหนังสือ The Lady ที่เล่าถึงประวัติของ Admiralty Arch ว่า มันถูกชาวลอนดอนยุควิกตอเรียนวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นอาคารที่น่าเกลียดที่สุดอาคารหนึ่ง
บทความนั้นเล่าว่า สมัยที่มีดำริจะสร้างอาคารนี้ขึ้นมา พระราชินีวิกตอเรียทรงมีรับสั่งให้ ‘ประกวดแบบ’ อาคารขึ้น โดยงานนี้ถือว่าเป็นงานใหญ่ พระนางจึงจะเป็นผู้เลือกแบบด้วยตัวเอง
ฟังดูก็เป็นเรื่องดีไม่น้อยที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะมาเลือกแบบด้วยตัวเอง แต่ปรากฏว่าคณะทำงานกลับรู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้ากันเป็นอย่างยิ่ง
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเป็นที่รู้กันดีในยุคสมัยนั้นว่า พระราชินีวิกตอเรียทรงมีรสนิยมย่ำแย่ (ต้องเน้นไว้ตรงนี้ว่ามาจากบทความที่ว่านะครับ) คณะทำงานทุกคนจึงอึ้งไปตามๆ กัน เมื่อรู้ว่ากระบวนการทำงานจะเป็นเช่นนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะกรรมการจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะส่งแบบขึ้นถวายให้ทรงพิจารณาเพียงสองแบบ คือแบบที่คณะกรรมการเห็นว่าเลอเลิศดีงามที่สุด กับแบบที่ย่ำแย่เลวร้ายที่สุดเท่านั้น เพื่อให้พระนางได้เห็นด้วยตัวพระนางเองว่า สิ่งที่ดีกับไม่ดีนั้นเป็นอย่างไร คล้ายๆ ตีกรอบให้พระนางเลือกระหว่างสวรรค์กับนรก เพื่อที่พระนางจะได้ไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระนางทรงเลือกแบบไหน!
ใช่ครับ พระราชินีวิกตอเรียทรงเลือกแบบที่คณะกรรมการเห็นว่าย่ำแย่เลวร้ายที่สุดนั่นแหละ บทความนั้นอธิบายว่า เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะผู้ออกแบบคือเซอร์ แอสตัน เว็บบ์ (Aston Webb) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระราชินีวิกตอเรียมานานแล้ว ตั้งแต่ออกแบบ Victoria Law Court ในเบอร์มิงแฮม รวมถึงอาคารหลักของ Victoria and Albert Museum (ที่เอาเข้าจริงหลายคนก็ชมว่าสวยงามจะตายไป) เขายังออกแบบองค์ประกอบด้านหน้าอาคารหลักของพระราชวังบักกิงแฮมด้วย ถือว่างานของเขาเป็นงานสำคัญๆ ทั้งนั้นเลย แถมตอนหลังเขาได้เป็นประธานของ Royal Academy และเป็นผู้ก่อตั้ง London Society อีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เราไม่รู้เลยว่าแบบแรกที่เว็บบ์ทำขึ้นมานั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แต่บทความนั้นเล่าว่า ด้วยความที่แบบมันน่าเกลียดเหลือเกิน คณะทำงานจึงพยายามยื้อไปมาเพื่อให้ก่อสร้างช้าที่สุด กว่าจะลงมือสร้างได้ก็ในปี 1910 หลังจากพระราชินีวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ไปแล้วตั้ง 9 ปี โดยการสร้างนั้นเป็นบัญชาของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด ผู้ต้องการสร้างให้เป็นอนุสรณ์ต่อพระมารดา แต่กระนั้น กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่เจ็ดก็ไม่ได้อยู่ทันเห็น Admiralty Arch สร้างเสร็จ เพราะสิ้นพระชนม์ไปก่อนในปีเดียวกันกับที่อาคารนี้สร้างเสร็จ
เราจึงไม่รู้แน่ว่ามีการดัดแปลงแก้ไขแบบของเว็บบ์ไปมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าดูด้วยสายตาของคนที่ไม่รู้เรื่องทางสถาปัตยกรรมอะไรนักหนา เวลาผ่าน Admiralty Arch ผมก็ได้แต่พิศวงสงสัยว่า ขนาดนี่เป็นอาคารรสนิยมย่ำแย่แล้วยังสง่างามได้ถึงเพียงนี้ ถ้าเลือกแบบที่สวยงามเลอเลิศเล่า จะสง่างามได้ถึงเพียงไหน
Admiralty Arch ยังมีความประหลาดอยู่อีกเรื่องหนึ่ง เพราะที่ผนังด้านเหนือของอาคารมี ‘จมูก’ ติดอยู่ โดยศิลปิน ริก บักลีย์ นำมาติดตั้งไว้ในปี 1997 เพื่อเป็นการรณรงค์ต่อต้านสังคมสอดส่องผู้คนแบบ Big Brother โดยมีข่าวร่ำข่าวลือกัน จมูกนี้เหมือนกับจมูกของนโปเลียน และถ้าใครได้ถูจมูกนี้ก็จะโชคดี แต่ปัญหาก็คือ มันอยู่สูงถึง 7 ฟุต จึงไม่ได้มีไว้ให้สามัญชนทั่วไปถูได้ คนที่จะถูจมูกนี้ได้ต้องขี่ม้ามาเท่านั้น
อาคารแห่งนี้จึงเป็นที่มาของเกร็ดประวัติศาสตร์ในตู้ เรื่องราวเบื้องหลังที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ และแสดงให้เห็นว่า ความจริงในประวัติศาสตร์น้ันอาจเล่นกลกับเราได้มากมายแค่ไหน
Tags: Admiralty Arch, World’s End, The Lady