ในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่าทุกๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปีเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อค.ศ. 2003 เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
จากรายงานอัตราการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศโดยเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรขององค์การอนามัยโลก ในปี 2018 จะพบว่าประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนจำนวนประชากรก็คือประเทศลิทัวเนีย อยู่ที่ประมาณ 31.9 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยตัวเลขรวมอยู่ที่ประมาณ 894 คนเท่านั้น แม้ตัวเลขรวมจะดูน้อย แต่ประเทศลิทัวเนียนั้นมีประชากรเพียง 2.8 ล้านคนเท่านั้น ในขณะที่ประเทศรัสเซียซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับสองของโลก มีตัวเลขรวมอยู่ที่ประมาณ 45,178 คน แต่เนื่องด้วยรัสเซียเป็นประเทศใหญ่มีประชากรสูงถึง 144.5 ล้านคน จึงกลายเป็นสัดส่วนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 30 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือใน 15 อันดับแรกนี้ มีประเทศที่อยู่ในแถบยุโรปสูงถึง 9 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 3 ประเทศ และทวีปเอเชีย 3 ประเทศ (นับรวมคาซัคสถาน) เบลเยี่ยมประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 11 ของโลกถือเป็นประเทศที่มีกฎหมายการการุณยฆาตที่ก้าวหน้าและอิสระที่สุดในยุโรป และหากดูนอกจาก 15 อันดับแรกจะพบว่าประเทศภูฏานที่มีการวัดอัตราความสุขมวลรวมประชาชาติแทนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศนั้นมีอัตราการฆ่าตัวสายสูงถึงในอันดับที่ 57 (จากทั้งหมด 183) ตัวเลขอยู่ที่ 11.4 คนต่อประชากร 1 แสนคนหรือประมาณ 86 คน (ภูฏานมีประชากรเพียง 8 แสนกว่าคน)
และอีกหนึ่งข้อสังเกตก็คือกลุ่มประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งมีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำ ไม่ว่าจะเป็นอัฟกานิสถาน อิรัก หรือซีเรีย ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำมากจะอยู่ในแถบทะเลแคริบเบียนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งบาฮามาส จาไมกา เกรนาดา บาร์บาโดส ฯลฯ
หากพิจารณากันที่ตัวเลขรวมโดยไม่เทียบจำนวนประชากรจะพบว่าประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงจนน่าตกใจก็คือประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 21 โดยมีตัวเลขรวมสูงถึง 220,481 คน ตามมาด้วยประเทศจีน ในอันดับที่ 69 โดยมีตัวเลขรวมอยู่ที่ 138,482 คน และสหรัฐอเมริกาในอันดับที่ 27 ตัวเลขรวมอยู่ที่ 50,062 คน
ประเทศที่เป็นที่น่าห่วงมากเป็นพิเศษก็คือสองประเทสจากทวีปเอเชีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ในเกาหลีใต้อัตราการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุนั้นมีสูง เนื่องด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องการจะเป็นภาระให้กับลูกหลานโดยเฉพาะในชนชั้นยากจน ตามมาด้วยวัยนักเรียนนักศึกษาเนื่องด้วยความกดดันจากทางครอบครัวที่ต้องการให้ประสบความสำเร็จในทางการศึกษา โดยวิธีการฆ่าตัวตายที่ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้ก็คือการรมควัน ตามด้วยการกระโดดสะพาน
ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงจนเป็นที่กังวลของภาครัฐเช่นเดียวกัน โดยมักเกิดจากปัญหาทางสังคมเช่น หญิงที่หย่าสามี หรือชายที่มีครอบครัวแต่ตกงาน
สำหรับประเทศไทยถือว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากเช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร โดยอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก หรือ 14.4 คนต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน หรือประมาณ 9,998 คนในปี 2018 ที่ผ่านมา โดยเป็นผู้ชายสูงถึง 23.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน และหญิง 5.9 คนต่อประชากร 1 แสนคน
อ้างอิง:
http://apps.who.int/gho/data/view.main.MHSUICIDEv?lang=en
http://worldpopulationreview.com/countries/suicide-rate-by-country/