ก่อนเวทีการประชุมเศรษฐกิจโลกประจำปี 2561 ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์จะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่วัน อ็อกแฟม องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศของอังกฤษ เผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วยความเหลื่อมล้ำของการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจชื่อว่า “เศรษฐกิจเพื่อคนร้อยละ 99” แสดงข้อมูลอันน่าตกใจของความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวยและคนจนในรอบปี 2560
คนรวย 8 คนครอบครองความมั่งคั่งเทียบเท่ากับคนจนครึ่งโลก
ในรายงานชี้ว่า ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างมากกว่าที่เคยเข้าใจกันมาก่อนหน้านี้ พบว่าร้อยละ 80 ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2560 ตกอยู่ในมือเหล่าบรรดามหาเศรษฐี ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรโลก โดยคนกลุ่มนี้ร่ำรวยเพิ่มขึ้น 7.62 แสนล้านดอลลาร์
อ็อกแฟมเผยถึงตัวเลขความเหลื่อมล้ำล่าสุดที่น่าตื่นตะลึงว่า ปัจจุบัน คนรวยเพียง 8 คน ครอบครองความมั่งคั่งเทียบเท่ากับคนยากจนจำนวน 3.7 พันล้านคน หรือเท่ากับจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรโลก
วินนี เบียรยิมา (Winnie Byanyima) ผู้อำนวยการบริหารอ็อกแฟม อินเทอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การที่มหาเศรษฐีรุ่งโรจน์ขึ้นไม่ใช่สัญญาณของความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่เป็นอาการของความล้มเหลวในระบบเศรษฐกิจโลก
เธอกล่าวว่า “บรรดาคนที่ผลิตเสื้อผ้าให้พวกเรา ประกอบโทรศัพท์ของพวกเรา หรือเพาะปลูกอาหารให้กับเรา กำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อประกันความมั่นคงของการผลิตสินค้าในราคาถูก และเพิ่มผลกำไรให้กับบรรษัทและเหล่าผู้ลงทุนซึ่งเป็นเศรษฐีพันล้าน”
ความต่างของค่าแรงห่างกันลิบโลก
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ของคนงานทั่วไปเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่มหาเศรษฐีมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อปีถึงร้อยละ 13 และในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา คนร่ำรวยที่สุดซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ 1 มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้รวมกันของคนยากจนซึ่งมีอยู่ถึงร้อยละ 50 ของประชากรโลก โดยพวกเขาได้รับค่าแรงต่อวันอยู่ที่ 2 ถึง 10 ดอลลาร์
รายงานยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างสุดกู่ของรายได้ระหว่างผู้บริหารกับพนักงานอีกด้วย ซีอีโอบริษัทสารสนเทศใหญ่อันดับหนึ่งของอินเดีย ได้รับค่าจ้างสูงกว่าพนักงานทั่วไปของบริษัทถึง 416 เท่า ขณะที่ซีอีโอของธุรกิจแฟชั่นท็อปไฟว์ของโลก ใช้เวลาทำงานเพียง 4 วันได้รับค่าแรงเท่ากับการทำงานตลอดทั้งชีวิตของคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังคลาเทศ
หลบเลี่ยงภาษี เพิ่มค่าจ้างตัวเอง ระบบเส้นสายและการแทรกแซงทางการเมือง คือ เส้นทางสู่ความมั่งคั่ง
ในปี 2559-2560 บรรษัทขนาดที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก มีผลกำไรรวมกันแล้วมากกว่าเงินรายได้ของรัฐบาลต่างๆ 180 ประเทศรวมกัน
อ็อกแฟมเผยว่า เหล่าบรรดาคนรวยเพิ่มพูนความมั่งคั่งโดยใช้วิธีการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องสูญเสียรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีจากการที่เงินไหลไปยังสถานที่หลบภาษี หรือ Tax heaven ซึ่งเงินดังกล่าวควรนำมาใช้พัฒนาประเทศ ลงทุนด้านการศึกษาของเด็ก การสาธารณสุข และสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่
อ็อกแฟมยังเผยด้วยว่า คนรวยยังมีการเพิ่มค่าจ้างให้กับตัวเอง ใช้ระบบเส้นสาย การเล่นพรรคเล่นพวกในการทำธุรกิจ รวมถึงการลอบบี้หรือการจ่ายเงินให้กับนักการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนหรือเป็นหลักประกันว่า นโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมานั้น จะเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อประโยชน์ในทางธุรกิจของคนกลุ่มนี้
การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิง และแรงงานทาสยุคใหม่
นอกจากความไม่เป็นธรรมในการกระจายความมั่งคั่งแล้ว รายงานเผยด้วยว่า มีการเลือกปฏิบัติทางเพศในการจ้างงาน โดยผู้หญิงคือกลุ่มคนที่ถูกเจาะจงให้ทำงานเฉพาะในส่วนที่ได้รับค่าแรงต่ำ ซ้ำยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างมากในสถานที่ทำงาน
อ็อกแฟมสัมภาษณ์แรงงานหญิงโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเวียดนาม พวกเธอต้องทำงานถึงวันละ 12 ช.ม. สัปดาห์ละ 6 วัน โดยได้รับค่าแรง 1 ดอลลาร์ต่อ ช.ม.ในการตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อดังหลายยี่ห้อของโลก ขณะที่ซีอีโอของบริษัทเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ได้รับค่าจ้างแพงที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ยังมีการใช้แรงงานแบบบังคับหรือแรงงานทาสยุคใหม่เพื่อลดต้นทุนการผลิต องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดว่าปัจจุบันมีแรงงานทาสอยู่ราว 21 ล้านคน ซึ่งสามารถสร้างกำไรให้กับบรรษัทได้ราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี โดยพบหลักฐานในอุตสาหกรรมฝ้ายที่อุซเบกิสถาน นากุ้งในประเทศไทย และพบว่ามีบริษัทเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ระดับโลกติดต่อทำธุรกิจกับโรงงานปั่นด้ายในอินเดียซึ่งใช้เด็กหญิงเป็นแรงงานทาส
ผู้อำนวยการบริหารอ็อกแฟมกล่าวว่า ผู้นำรัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องยับยั้งการหลบเลี่ยงภาษี และนำเงินภาษีเหล่านั้นมาใช้ลงทุนด้านการศึกษาของเยาวชนและการดูแลสุขภาพของประชาชน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศในอนาคต และกล่าวด้วยว่า ความมั่งคั่งจำนวน 7.62 แสนล้านดอลลาร์ที่อยู่ในมือคนรวยร้อยละ 1 นั้น สามารถใช้กำจัดความยากจนทั่วโลกให้หมดสิ้นไปได้ถึง 7 รอบ
Tags: ความเหลื่อมล้ำ, ความยากจน, อ็อกแฟม, Oxfam