แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความแออัด คอร์รัปชั่นแพร่กระจายไปทุกหนแห่ง เต็มไปด้วยมลพิษชนิดที่การแจ้งเตือนในแอปพลิเคชั่นพุ่งทะลุเกณฑ์แทบจะทุกวี่วัน อีกทั้งการจราจรก็ชวนหงุดหงิดด้วยจำนวนรถและจำนวนประชากรที่แน่นขนัด ทว่าเม็กซิโก ซิตี้ ก็ยังเป็นเมืองที่ดึงดูดนักสร้างสรรค์ตลอดมา

ที่มาภาพ wdo.org

ตลอดศตวรรษที่ 20 เม็กซิโก ซิตี้ คือเมืองศูนย์กลางของศิลปิน นักเขียน และนักฝัน ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่าที่ความยากแค้นกลายเป็นเบ้าหลอมของความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสารผ่านผลงานศิลปะ ทำให้ถึงแม้ผู้คนจำนวนหนึ่งจะจดจำเม็กซิโก ซิตี้ ในฐานะเมืองที่แสนน่าชัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มคนสร้างสรรค์ย้ายเข้าไปทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งนี้เพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่เคยหยุดหย่อน

เม็กซิโก ซิตี้ ได้รับการประกาศว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกประจำปี 2018 (World Design Capital 2018) โดยเป็นเมืองแรกในทวีปอเมริกาเหนือที่ได้รับรางวัลนี้ ด้วยการแสดงให้เห็นคุณค่าในการใช้การออกแบบเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความยั่งยืน เช่น โครงการจักรยานสาธารณะ EcoBici สวนกลางเมือง สวนสาธารณะ และสนามเด็กเล่น โดยจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งนิทรรศการ งานประชุม และการจัดแสดงผลงาน ภายใต้ธีมเดียวกัน นั่นคือ Socially Responsible Design

Socially Responsible Design มีเป้าหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความมุ่งมั่นในการนำเสนอบทบาทของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ในฐานะตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้บริบทของความเป็นเมือง’

เม็กซิโก ซิตี้ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก นิทรรศการ และโครงการด้านการศึกษาที่ขับเคลื่อนโดยสี่วัตถุประสงค์สำคัญ คือการสร้างโอกาส การสนับสนุนภาคประชาสังคม การรักษามรดกทางวัฒนธรรม และการสร้างเปลี่ยนแปลงอย่างมีความเคารพ

การได้รับเลือกเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก จึงทำให้ชุมชนนักออกแบบมีโอกาสได้แสดงบทบาทในการทำให้เมืองแห่งนี้น่าอยู่มากขึ้น

“เมืองนี้มีความเคลื่อนไหวด้านการออกแบบที่น่าสนใจ และดึงดูดความสนใจจากเวทีโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” เอมีลีโอ กาเบรโร (Emilio Cabrero) ผู้อำนวยการของ World Design Capital 2018 กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เมืองนี้ได้รับรางวัล ซึ่งเทศกาลการออกแบบที่จะจัดขึ้นเป็นเวลาสามสัปดาห์ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการออกแบบ ความยั่งยืน การศึกษา วัฒนธรรม และนวัตกรรม ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และแขกรับเชิญจากประเทศต่างๆ

โปรแกรมที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนั้นเกี่ยวข้องกับแนวคิดหลักหกประการ คือผู้คน การคมนาคม อัตลักษณ์เมือง สิ่งแวดล้อม พื้นที่สาธารณะ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเม็กซิโก ซิตี้ สร้างเมืองใหม่อย่างไรผ่านมุมมองทางด้านการออกแบบ เช่น โปรแกรม WDC International Design Policy Conference ซึ่งจะเป็นการรวมตัวของสถาปนิก นักออกแบบ นักผังเมือง และศิลปิน 13 คน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และทบทวนนโยบายในสถานการณ์ที่เมืองกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ร่วมมือในทุกภาคส่วน

นอกจากในระดับนโยบาย มหาวิทยาลัยในเมืองเม็กซิโก ซิตี้ ก็ร่วมมือกันออกแบบโปรแกรมที่มีเป้าหมายเพื่อการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือกันผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันการศึกษาทางด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม

นอกจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์ทั้งของรัฐและเอกชนก็ร่วมมือกันขับเคลื่อนเมืองด้วยการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการทบทวนประวัติศาสตร์ของเมือง ตัวอย่างเช่น นิทรรศการ ‘Collection of Moments, Design in Mexico, 1999-2015’ ซึ่งรวบรวมผลงานการออกแบบร่วมสมัยของเม็กซิโกมาจัดแสดงจำนวนกว่า 100 ชิ้น จาก 40 นักออกแบบทั้งเดี่ยวและกลุ่ม เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของงานในแบบ ‘เม็กซิโก’ ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา

ภาพจาก http://www.ten-arquitectos.com/projects/57

ความจริงที่ว่าเม็กซิโก ซิตี้ คือหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด แต่เมืองแห่งนี้ก็ตอบรับโดยการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้เครื่องมือด้านการออกแบบจากผู้ประกอบการเพื่อสังคมอย่าง Isla Urbana ที่ใช้การออกแบบมาแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ด้วยการออกแบบระบบกักเก็บน้ำฝน อันเป็นตัวอย่างของการใช้การออกแบบมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง

เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกตกเป็นของเม็กซิโก ซิตี้ ก็เพราะการร่วมมือกันระหว่างรัฐและสถาบันต่างๆ ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาภายในเมืองอย่างจริงจัง ความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นโอกาส และใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อรัฐบาลกับพลเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเมืองอย่างเต็มกำลัง

 

 

ที่มา:

Fact Box

เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก (World Design Capital®) จะมีการเลือกทุกสองปีโดย World Design Organization™ (WDO) เพื่อนำเสนอเมืองที่ใช้การออกแบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลกในปีที่ผ่านมา ได้แก่ โตรีโน (อิตาลี, 2008) โซล (เกาหลีใต้, 2010) เฮลซิงกิ (ฟินแลนด์, 2012) เคปทาวน์ (แอฟริกาใต้, 2014) และไทเป (ไต้หวัน, 2016)

Tags: , , , , , , ,