“จบที่ไหนก็เหมือนกัน… มันอยู่ที่คน”
ข้อถกเถียงสำคัญฤดูปิดภาคการศึกษาก็คือ จริงหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยนั้นมีผลหรือไม่กับการทำงานต่อ หลายคนบอกว่า มีแน่นอน… ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมด้วยคอนเนกชัน และระบบอุปถัมภ์ ขณะเดียวกัน หากจบจากมหาวิทยาลัยระดับบนๆ ย่อมมีภาษีที่องค์กรใหญ่รับเข้าทำงานได้มากกว่า ขณะที่บางคนบอกว่าต้องพิจารณาเป็นคนๆ และมักจะยกตัวอย่างคนที่จบมหาวิทยาลัยในลำดับรองลงมาซึ่งได้งานดี ขณะที่บางคนเรียนไม่จบเลยด้วยซ้ำแต่กลับสร้างเนื้อสร้างตัวได้
เพราะฉะนั้น หากตอบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ ‘จริง’ ใครจะได้ทำงานดีหรือไม่ดี โอกาสโตหรือไม่โตนั้น อยู่ที่คน
ส่วนสถาบันการศึกษาไม่มีผลจริงหรือ จบที่ไหนก็เหมือนกันจริงหรือไม่ คำตอบคือ ‘ไม่จริง’ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. มหาวิทยาลัยไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพสูง
เรื่องน่าเศร้าก็คือประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการรวมศูนย์ การจะทำงานได้เงินในหลักที่พอใช้ชีวิตได้นั้น ข้อจำเป็นคือต้องเข้าสู่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ถึงตรงนี้ แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา หรือหลายประเทศในยุโรปที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามหาวิทยาลัย ทำงานอู่ซ่อมรถ ทำงานร้านอาหาร หรือสายอาชีพอื่นๆ ก็มีกินมีใช้ มีเงินเก็บ ร่ำรวยได้
สิ่งสำคัญก็คือขนาดเศรษฐกิจของประเทศนี้ไม่ได้โตพอ ไม่อาจทำให้คนเล็กคนน้อยที่ไม่จบมหาวิทยาลัยมีรายได้ที่มั่งคั่งได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถนนทุกสายก็ทำให้คนที่เรียนจบมัธยมศึกษาต้องขวนขวายเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
แต่ข้อสำคัญก็คือ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้น ไม่อาจกระจาย ‘คุณภาพ’ ได้ ปัจจุบันประเทศนี้มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 390 แห่ง ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือคุณภาพสวนทางกับปริมาณ
ผลสำรวจจาก Candid Data เมื่อปี 2566 พบว่า บริษัทชั้นนำในใจคนรุ่นใหม่นั้น พบจำนวนบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองอันดับหนึ่งแทบจะทุกบริษัทที่ ‘คนรุ่นใหม่’ อยากร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นสายเทคอย่าง Google, Apple หรือ ‘ปูนใหญ่’ เอสซีจี ขณะเดียวกัน ในบรรดาบริษัทชั้นนำต่างๆ ล้วนมีบัณฑิตจากจุฬาฯ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ครองอัตราพนักงาน
ข้อมูลนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ชื่อของมหาวิทยาลัยนั้น ‘มีผล’
กระนั้นเอง การจัดอันดับโดย Times Higher Education เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศไทยอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นไม่ติดกระทั่งอันดับ 100 ของเอเชีย และหากเทียบกัน 10 อันดับ ในภูมิภาคอาเซียน จุฬาฯ ก็อยู่อันดับสุดท้าย เกือบจะหลุดท็อป 10 อยู่รอมร่อ ต่างจากมาเลเซียที่เข้าท็อป 10 ถึง 7 อันดับ และเวียดนาม ที่มีอีกหลายมหาวิทยาลัยจ่อคอหอย
คำถามก็คือ เมื่อจุฬาฯ อยู่อันดับ 117 ของโลก มหิดลอยู่อันดับ 139 ของโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตามมา แล้วมหาวิทยาลัยอื่นๆ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีอยู่ทั่วประเทศจะอยู่ตรงไหนของโลก? แล้วคุณภาพทั้งด้านการเรียน การสอน งานวิชาการ งานวิจัย ที่จะผลิตนักศึกษาออกมาป้อนสู่ตลาดแรงงานจะเป็นอย่างไร
ทั้งหมดนี้ คนที่อยู่ในตลาดแรงงานแต่ละสายคงตอบได้ดี
2. ระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ
สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างหนักก็คือความเป็น ‘รุ่นพี่’ ‘รุ่นน้อง’ ที่ฝังอยู่ในรากความเป็นไทย เรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงโรงเรียนจตุรมิตรชายล้วนเท่านั้น แต่ในแวดวงการทำงานจริง ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมหาวิทยาลัยย่อมทำให้ ‘เลือกรับ’ คนได้
คณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เลือกนักศึกษามาฝึกงานเพราะเป็นรุ่นน้องมหาวิทยาลัยเดียวกัน บริษัทเอเจนซีโฆษณาใหญ่ตัดสินใจเลือกรับพนักงานจากการคัดเรซูเม่ แล้วพบว่าเป็นรุ่นน้องที่จบคณะเดียวกัน ผสมกับสายรหัสอยู่ใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกัน เมื่อมี ‘อาจารย์’ หรือมี ‘เพื่อน’ ฝากให้ดูแล คอนเนกชันนี้ก็จะถูกส่งต่อไปให้ดูแลยังบริษัทดีๆ ต่อไป
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยนั้น บางทีคนจบมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาจได้รับการดูแลอีกแบบและด้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่มีสีของ ‘สิงห์’ แบบ ‘สิงห์ดำ’ ‘สิงห์แดง’
ระบบอุปถัมภ์ไม่ใช่เรื่องผิด ในมุมขององค์กร คนจบจากไหนมาย่อมการันตีถึงความสามารถ ฝีมือ ได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน องค์กรย่อมต้องการคนที่มีความพร้อม องค์กรหลายแห่งไม่ได้ต้องการคนที่ต้องคอยสอนงาน ต้องจับมือให้คิด ให้เขียน และย่อมต้องการพนักงานที่มีลักษณะการทำงานที่เข้ากับคนอื่นๆ ในองค์กรได้
ด้วยเหตุนี้ บางครั้งจึงต้องการระบบอุปถัมภ์ในการรับคนเข้าทำงาน
3. อย่าเพิ่งตกใจ หลักใหญ่ของการหาคนคือประสบการณ์ และ ‘การฝึกงาน’
ข้อสำคัญของการเลือกพนักงาน คือ ต้องหาคนที่มีประสบการณ์การทำงานตรงกับสิ่งที่องค์กรกำลังตามหา และด้วยความที่องค์กรสมัยใหม่มีขนาดเล็ก มีสภาพลีน (Lean) สิ่งสำคัญเลยก็คือต้องมาพร้อมกับทักษะที่ทำงาน ‘เป็น’ โดยทันที
คำถามคือจะรู้ได้อย่างไรว่าทำงานเป็น? – เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือดูว่าเขาเหล่านั้นมีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เคยฝึกงานที่ไหนมา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยไหน ถ้ารู้ตัวเอง มีเข็มมุ่งชัดว่าอยากเติบโตไปเป็นอะไร อยู่ในสายงานไหน กระทั่งอยากอยู่ในองค์กรใด ก็จงหาทางเอาตัวแทรกเข้าไปในงานที่เกี่ยวข้องให้ได้
ขณะเดียวกัน หากพูดถึงการฝึกงาน ข้อสำคัญก็คือองค์กรได้ ‘ดูตัว’ บรรดานักศึกษาฝึกงานที่มีแววไว้ก่อน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะจบมหาวิทยาลัยในระดับไหน ในต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็อย่าลืมสั่งสมประสบการณ์ให้มากพอ ให้องค์กรที่ตั้งใจไปฝึกงานเห็นศักยภาพพอที่จะรับเข้าไป เป็นหนึ่งในทางลัดทำให้คุณได้ทำงานในองค์กรที่อยากทำงาน
4. พูดโดยสรุปก็คือ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ดี คุณก็ต้องออกแรงหนักมากกว่า
อ่านมาถึงตรงนี้ เรื่องสำคัญก็คือมหาวิทยาลัยนั้นมีผลเป็นอย่างมากในโลกของการทำงาน
ด้วยเหตุนี้ ระบบการศึกษาจึงต้องย้อนกลับไปที่ต้นทาง การที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ นั่นแปลว่าคุณต้องอยู่ในโรงเรียนมัธยมที่ดี ต้องมีผลการศึกษาที่ดี พอที่จะเลือกอนาคตของคุณได้ และการที่จะอยู่ในโรงเรียนมัธยมที่ดี นั่นหมายความว่า คุณต้องอยู่ในครอบครัวที่ดีที่พ่อแม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และคุณต้องเป็นคนที่ตั้งใจเรียน ถึงจะเดินตามความฝันได้อย่างแท้จริง
เป็นความจริงที่ว่า มหาวิทยาลัยที่ดี ทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า และหากไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ดี การจะประสบความสำเร็จได้ คุณก็อาจต้องออกแรงมากกว่า ‘คนพวกนั้น’
ทั้งหมดนี้คือโลกแห่งความเป็นจริงในการอธิบายว่าจบที่ไหน ทำไมถึงไม่เหมือนกัน… แล้วทำไมบางมหาวิทยาลัยถึงมีสิทธิพิเศษมากกว่า
ต่อให้มหาวิทยาลัยไทยจะอันดับตกต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค หรือเทียบกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกอย่างไร เรื่องน่าเศร้าก็คือ ระบบนี้จะคงอยู่ต่อไปเป็นอีก 10 ปี หรือเป็นอีก 100 ปี หากไม่มีใครสนใจแก้ที่ต้นเหตุ แก้ที่โครงสร้าง และระบบอย่างจริงจัง
Tags: มหาวิทยาลัย, Work Tips, จบที่ไหนก็เหมือนกัน, การเรียน, เรียน, การทำงาน