“คุณรู้ไหมว่าหัวหน้ากำลังมีดีลลับกับบริษัทอื่น”
“คุณรู้ไหมว่านายxxxแผนกนั้นพูดถึงคุณว่าอย่างไร”
“คุณรู้ไหมว่ามีคนจ้องจะถีบส่งคุณไปอยู่ที่อื่น”
เราอาจเคยเจอเพื่อนทำนองที่ว่า ‘ฉันรู้ฉันเห็น’ ทุกเรื่องในที่ทำงานมาบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อนที่ลองนึกดูก็น่าสงสัยว่าไปรู้เรื่องพวกนี้มาได้อย่างไร เขามีเส้นสายพิเศษในองค์กรหรือบริษัทขนาดไหน เพื่อนที่ทำราวกับว่าตัวเอง ‘อยู่’ ทุกที่ในองค์กรและมีประสบการณ์กับทุกอย่างที่เกิดขึ้น
แม้กระทั่งว่าหากเรามีปัญหา เขาก็มีคำตอบหรือมีวิธีแก้ไขให้ และมีโอกาสน้อยมากที่คุณจะได้ยินคำว่า “ฉันไม่รู้” หรือ “ผมไม่รู้” จากปากของเขา
แนนซี คอลลาเมอร์ (Nancy Collamer) ผู้เขียนหนังสือ Second-Act Careers: 50+ Ways to Profit From Your Passions During Semi-Retirement เคยกล่าวถึงคนช่างรู้เหล่านี้ไว้ว่า
“พวกเขามักจะผูกขาดการสนทนา ไม่สนใจข้อมูลจากผู้อื่น และตัดสินใจโดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน ทัศนคติแบบนี้มักจะนำไปสู่เพื่อนร่วมงานที่ไม่แฮปปี้ ลูกค้าที่ไม่พึงพอใจ และสภาพแวดล้อมการในทำงานที่ไร้ความสุข”
อาจเป็นเรื่องยากที่ต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ‘รู้มาก’ เหล่านี้ เพราะโดยทั่วไปแล้วก็มักเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีนัก และมักจะคิดถึงสิ่งที่พวกเขา ‘อยากพูด’ มากกว่า ‘อยากฟัง’ ยังไม่นับว่าเรื่องที่ถูกคาบมาเล่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน และมันอาจส่งผลต่อการทำงานของส่วนรวมได้ไม่มากก็น้อย
แล้วหากเราต้องทำงานร่วมกับเพื่อนจอมแฉเหล่านี้ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร?
1. เห็นอกเห็นใจ – เพื่อนร่วมงานแนวนี้อาจทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดใจหรือโมโห แต่จำไว้ว่าทัศนคติของเพื่อนจอมแฉเหล่านี้มักจะมีที่มาจาก ‘ปัญหาเรื่องความมั่นใจหรือปัญหาส่วนตัวที่ลึกซึ้ง’ กว่านั้น ดังนั้น แทนที่จะโมโห การพยายามเข้าอกเข้าใจเบื้องลึกของพวกเขาอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า
2. เลือกรับแค่บางเรื่อง – การต้องรับมือกับบางคนที่ ‘รู้ทุกเรื่อง’ และเอาเรื่องเหล่านั้นมาบอกเรื่อยๆ อาจทำให้เราเหน็ดเหนื่อยโดยไม่รู้ตัว การตอบสนองที่ดีที่สุดต่อเรื่องนี้คือพยายามตัดบทเสียบ้าง โดยการเบี่ยงเบนเรื่องเล่าของคนเหล่านั้นด้วยการพูดว่า ‘ขอบคุณสำหรับข้อมูลเหล่านั้น’ แทนที่จะปล่อยให้พวกเขาสาธยายต่อไปอีกยืดยาว
3. ไม่รู้ไม่เป็นไร – ข้อนี้อาจเกี่ยวข้องกับหัวหน้าหรือผู้นำองค์กร ที่ต้องแสดงให้เห็นบ้างว่า การยอมรับว่า ‘ไม่รู้’ ในบางเรื่องไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นความกล้าหาญที่ควรแก่การส่งเสริมด้วยซ้ำ เพราะจะได้นำไปสู่การหาคำตอบที่สร้างสรรค์หรือแนวคิดดีๆ ร่วมกัน นอกจากนี้ การไม่รู้ยังสามารถสร้างความไว้วางใจในกลุ่มคนทำงานได้ด้วย เพราะถือเป็นการแสดงความเปิดเผย ความเปราะบางของตนเอง ด้วยความสัตย์จริงให้ผู้อื่นรับรู้
4. ป้องกันด้วยข้อเท็จจริงของคุณเอง – หากเพื่อนร่วมงานผู้รู้ทุกเรื่องมาเล่าบางสิ่งให้คุณรู้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ล่อแหลมต่อการเข้าใจผิด คุณจำเป็นต้องยืนหยัดในข้อเท็จจริงที่คุณรู้ เพราะข้อเท็จจริงเหล่านั้นจะคอยปกป้องคุณจากความเข้าใจผิดได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรปักใจเชื่อแต่แรก แต่ควรให้เวลาในการหาข้อเท็จจริงมาสนับสนุนเรื่องเหล่านั้นเสียก่อน
5. ถามกลับอย่างละเอียด – ข้อสำคัญคือ ไม่ควรกลัวที่จะเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมงานรู้มากเหล่านี้ และตั้งคำถามเพิ่มเติมว่าสิ่งที่พวกเขารู้มาจากไหน เช่น ถามว่าทำไมพวกเขาถึงเชื่อว่าเรื่องนั้นเป็นความจริง หรือ พวกเขานำข่าวเหล่านี้มาจากแหล่งใด
6. ลองให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ – เป็นไปได้ที่เพื่อนร่วมงานประเภทนี้อาจรู้เรื่องคนอื่นเยอะ แต่ไม่เข้าใจว่าเรื่องของตัวเองอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นหรือองค์กรโดยรวมอย่างไร แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่หากคุณเป็นคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็งและเห็นอกเห็นใจมากพอ การพยายามชี้ให้พวกเขาเห็นถึงรูปแบบการสื่อสารนี้ว่าอาจส่งผลลบอย่างไรก็สามารถทำได้เช่นกัน
7. แจ้งหัวหน้า – สิ่งสำคัญคือจงจำไว้ว่า การให้เกียรติและรักษาน้ำใจกับเพื่อนร่วมงานรู้มากเหล่านี้ก่อนในขั้นต้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากเรื่องราวกลับกลายเป็นสถานการณ์ล่อแหลมและอาจส่งผลร้ายแรง การแจ้งให้หัวหน้ารับทราบถึงพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเหล่านี้ ว่าจะส่งผลกระทบต่อทีมและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างไร ก็อาจเป็นสิ่งที่ควรทำ
Tags: การทำงาน, พนักงานออฟฟิศ, Work Tips, เพื่อนจอมแฉ, เพื่อนรู้มาก