ทุกบริษัทต่างต้องการ ‘คนเก่ง’ มาร่วมงานด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าการที่ภายในองค์กรมีบุคคลที่มีความสามารถรวมตัวกันอยู่มากเกินไป อาจทำให้โปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่พังทลายลงมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

ใครอ่านมาถึงตรงนี้อาจกำลังคิดว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนมีความสามารถจะทำให้การทำงานต้องพังลง ยิ่งมีคนเก่งเยอะ ยิ่งน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัท เพราะความรู้ของแต่ละคนจะช่วยหาทางออกและหนทางในการแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้นกว่าเดิมไม่ใช่หรือ? แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเก่งเหล่านี้ก่อหายนะให้กับองค์กร

ในปี 2010 ‘ไมอามี ฮีต’ ทีมบาสเกตบอลชื่อดังจากลีก NBA ได้ทำการเซ็น 2 ผู้เล่นซูเปอร์สตาร์เข้ามาร่วมทีม นั่นคือ ‘เลอบรอน เจมส์’ (LeBron James) และ ‘คริส บอช’ (Chris Bosh) โดยมีเป้าหมายว่า การผนวกพลังของผู้เล่นระดับท็อปทั้ง 2 คน เข้ากับผู้เล่นที่เติบโตมาจากทีมที่มีอยู่อย่าง ‘ดเวย์น เวด’ (Dwyane Wade) จะช่วยให้ไมอามี ฮีตประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์จากการเสริมทัพในครั้งนี้ แต่ผลที่ออกมานั้นกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เมื่อผลงานของฮีตในปีนั้นแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ

ปรากฎการณ์ดังกล่าวของไมอามี ฮีต ถูกอธิบายโดย ‘อดัม กาลินสกี’ (Adam Galinsky) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ ‘มอริส ชไวต์เซอร์’ (Maurice Schweitzer) จากมหาวิทยาลัยธุรกิจวอร์ตัน โดยเขาได้กล่าวว่า การที่จะทำการเข้าใจเหตุการณ์ของฮีตได้ จำเป็นจะต้องแยกเรื่องของ ทักษะ (Talent) และประสิทธิภาพของทีม (Team Performance) ออกจากกันเสียก่อน และทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันไปในทางทิศทางเดียวกันอย่างที่หลายคนคิด โดยทั้งคู่ได้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Too Much Talent Effect’

จากการเก็บข้อมูลทีมบาสเกตบอลตลอด 10 ปีให้หลังพบว่า ทีมใดเต็มไปด้วยผู้เล่นความสามารถในระดับซุปเปอร์สตาร์จนล้นทีม มีอัตราการเอาชนะคู่แข่ง (Winrate) ต่ำกว่าทีมในระดับกลางๆ เสียอีก ในขณะที่อัตราการผ่านบอลระหว่างทีมก็ต่ำลงด้วยเช่นกัน

กาลินสกีอธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งที่ผู้เล่นที่ดีและผู้เล่นซูเปอร์ต้องการนั้นแตกต่างกันอย่างอย่างสิ้นเชิง ผู้เล่นทั่วไปทำหน้าที่ของตนให้ดีตามแผนที่ทีมวางไว้ แต่ผู้เล่นซูเปอร์สตาร์จะทำผลงานของตนให้ดี เพื่อรักษาสถานะความเป็นซูเปอร์สตาร์เอาไว้ ในหลายๆ ครั้งเราจึงจะเห็นผลงานส่วนตัวของผู้เล่นบางคนที่ทำได้ดีเสียเหลือเกิน แต่ไม่สามารถคว้าตำแหน่งใดๆ ร่วมกับทีมได้เลย ซึ่ง Too Much Talent Effect นั้น กาลินสกีได้กล่าวว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการทำงานในรูปแบบขององค์กรได้ด้วย

การแข่งขันภายในทีมอาจเป็นเรื่องดี แต่ต้องอย่าลืมว่าเป้าหมายหลักคือการแข่งกับฝั่งตรงข้าม การหาคนเก่งเข้ามาในทีมอาจจะเป็นทางเลือกที่ดี หากต้องการที่จะช่วยยกระดับให้ภายในทีมดีขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่า ทั้งบาสเกตบอลและการทำงานไม่ใช่การแข่งขันกีฬาชายเดี่ยว แม้ว่าผลงานส่วนตัวของพนักงานแต่ละคนจะดีแค่ไหน หากไม่ตอบโจทย์ขององค์กร ก็ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ที่มา:

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24973135/ 

https://www.psychologicalscience.org/news/minds-business/the-trouble-with-too-much-talent.html 

Tags: , , ,