เคยสังเกตไหม เวลาเล่นอินสตาแกรม (Instagram) แล้วเลื่อนลงมาเจอโพสต์โปรโมตแอปพลิเคชันใหม่ของ Meta อย่าง Threads ได้เจอแต่โพสต์รีวิวเงินเดือน

ปีแรก: 1.5 หมื่นบาท

ปีที่ 2: 5 หมื่นบาทThreads

ปีที่ 3: 7 หมื่นบาท

ปีที่ 5: 2 แสนบาท

โลกใน Threads เต็มไปด้วยคนประสบความสำเร็จ เต็มไปด้วยคนเงินเดือนหลักแสน เหมือนในเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง ‘พันทิป’ ยุคก่อน ที่แต่ละคนล้วนแชร์ความลักชูรีของตัวเอง ไม่ว่าจะการรีวิวนั่งเครื่องแบบบิสสิเนสคลาส รีวิวการรับประทานซูชิ Omakase ทำให้คนเงินเดือนธรรมดาอย่างเราๆ กลายเป็นคนอ่อนด้อยในโลกออนไลน์ พร้อมกับสงสัยว่า คนพวกนี้ทำมาหากินอะไรถึงได้มีเงินเดือนสูงเกินมาตรฐานคนทั่วไปขนาดนั้น

คำถามก็คือ แล้วทำไมแต่ละคนถึงมาแชร์แต่ความสำเร็จของตัวเอง คำถามก็คือแล้วทำไมคนรวยๆ ถึงเต็ม Threads ไปหมด คำถามก็คือแล้ว ‘จิตวิทยา’ ที่อยู่เบื้องหลังการ ‘รีวิวเงินเดือน-รีวิวรายรับ’ นั้น คืออะไรกันแน่ Work Tips จะเฉลยให้ฟัง 

1. ทำความเข้าใจก่อนว่า คุณไม่ได้ ‘เงินเดือนน้อย’

เอาง่ายๆ ในประเทศไทย คนที่มีเงินเดือนเกิน 2.5 หมื่นบาท ถือว่า ‘รวย’ ก่อนหน้านี้ หากจำกันได้ กระทรวงการคลังเคยพยายามตัดชอยส์ผู้ได้รับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เงินหมื่นออกไป โดยตัดกลุ่มที่เงินเดือนเกิน 2.5 หมื่นบาทขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ ‘มีฐานะ’ แล้ว

อันที่จริงก็สมเหตุสมผล ปัจจุบันคนไทยกว่า 58% มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2.5 หมื่นบาท ขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของคนที่จบปริญญาตรีในปี 2567 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่เพียง 2.33 หมื่นบาทเท่านั้น และแทนที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น วันนี้กลับมีแนวโน้ม ‘ลดลง’ จากสภาพเศรษฐกิจถดถอย

เพราะฉะนั้นหากวันนี้คุณจบปริญญาตรีและเงินเดือนสูงเกิน 2.3 หมื่นบาท ก็แปลว่าคุณเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่าคนที่จบปริญญาตรีด้วยกันในประเทศนี้แล้ว แม้ว่าในความเป็นจริง หากเอาเงิน 2.3 หมื่นบาท มาเทียบกับค่าใช้จ่ายรายเดือน เป็นต้นว่า ค่าเช่าหอพัก ค่ากิน-อยู่ ค่าเดินทาง จะแทบไม่เหลือเก็บก็ตามที

ขณะที่คนเงินเดือน ‘เกินแสน’ นั้น ปัจจุบันในประเทศไทยน่าจะมีราว 3 แสนคนหรืออยู่ประมาณ 2% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น

ส่วนจะเกินแสนด้วยสาเหตุอันใด น่าเสียดายที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเชิงสถิติออกมา ทว่าเงินเดือนเกินแสนในประเทศนี้ก็จะต้องเจอโจทย์ใหม่ เพราะต้องเสียภาษีในระดับ 25-35% ของรายได้ ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

2. ทุกคนอยากเป็น ‘คนรวย’

ใครอยากเป็นเศรษฐี แน่นอนว่าทุกคนอยากเป็น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เป็น จิตวิทยาเบื้องหลังก็คือ ทุกคนล้วน ‘โอเวอร์เคลม’ ตัวเลขเงินเดือนตัวเองทั้งสิ้น การเป็นคนรวยในประเทศนี้เป็นเรื่องโคตรสบาย ทุกคนรอบตัวจะชื่นชมคุณ ขับรถไปที่ไหน เจ้าหน้าที่ รปภ.ก็จะโบกให้จอดยังที่ที่เดินใกล้ๆ การโปรโมตว่าตัวเองรวย ยังสามารถทำ ‘คอนเทนต์’ ได้อีก ไม่ว่าจะคอนเทนต์กินหรูอยู่แพง ต่อยอดไปยังการรับสินค้ากลุ่มนี้มารีวิว

ที่น่าสนใจก็คือ ในวันที่อาชีพอื่นได้รับความสนใจลดลง อาชีพการเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ กลับเป็นอาชีพที่มาแรง ไม่ว่าคอนเทนต์นั้นๆ จะมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด แต่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เปิดเผยชีวิตติดแกลม ต่างก็เป็นอาชีพที่เด็กจบใหม่จำนวนไม่น้อยปรารถนา

น่าเสียดายที่เด็กจบใหม่ยังได้เงินเดือนต่ำเตี้ย เงินเดือนเฉลี่ยเด็กจบใหม่ปริญญาตรีประเทศนี้ยังไม่ถึง 2 หมื่น ครั้นจะฝันถึงวันที่ตัวเองรวยก็ยังไม่รู้ว่าจะถึงวันนั้นเมื่อไร

ฉะนั้นการได้ดูคอนเทนต์ ได้ฝันถึงวันที่ตัวเองเป็นเศรษฐีอาจเป็นสิ่งชุบชูใจเล็กๆ ในวันที่ตัวเองยังต้องรอสิ้นเดือนอยู่ทุกเดือน

3. ใครอยากเขียนอะไรก็เขียนได้ทั้งนั้น

อย่างที่บอกตอนต้น ในโลกออนไลน์ ใครใคร่เขียนอะไรก็เขียนได้ อายุ 23 ปี มีเงินเดือน 7 หมื่นบาท มีเงินเก็บ 7 หลัก ผ่อนคอนโดฯ หมดแล้ว เที่ยวต่างประเทศปีละ 3 ครั้ง หรืออายุ 18 ปี ผ่อนรถยุโรปหมดแล้ว กำลังคิดหาคอนโดฯ ใหม่ ก็เขียนได้ทั้งนั้น

แต่สังเกตไหมว่า คนพวกนี้จะไม่บอกว่าตัวเองทำมาหากินอะไร… ไม่บอกว่าชีวิตตัวเองไต่เต้ามาจากไหน และที่น่าสนใจก็คือ หากคนพวกนี้ได้เงินเดือนระดับนี้ (ระดับผู้บริหาร) จริง พวกเขาย่อมต้องมีความสามารถขั้นเอกอุ เป็นมืออาชีพของวงการ

แต่เหตุผลที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่เปิดเผยตัวตน ก็อาจเป็นด้วยเหตุผลเดียว นั่นคือพวกเขาสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาเองในโลกออนไลน์ โลกออนไลน์ที่ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ ไม่ต้องเปิดเผยรูป ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน แล้วก็มีคนอีกหลายสิบ หลายร้อยคนตามมากดไลก์ กดแชร์ กดชื่นชม โดยไม่ต้องตั้งคำถาม

4. ชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยอัลกอริทึม

แน่นอนว่า พวกเราหลายคนในที่นี้ไม่ได้เล่น Threads และ Threads ซึ่งเฟซบุ๊กหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมาแทนที่ X ได้กลายเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ คำถามก็คือมีเพื่อนคุณคนไหนที่อยู่ใน Threads บ้าง หรือแม้แต่ตัวคุณเองเคยอัปเดตสเตตัสอะไรลงใน Threads หรือไม่

ความล้มเหลวของ Threads มาจากหลายปัจจัย เป็นต้นว่า ตัวแพลตฟอร์มที่อิงอยู่กับอินสตาแกรมมากจนเกินไป รูปแบบแพลตฟอร์มที่ไม่ได้มีฟังก์ชันเหมือนกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างเช่น ไม่สามารถส่ง Direct Message ได้ ไม่สามารถตามหัวข้อที่ขึ้น Trending ได้ อีกทั้งรูปแบบ-หน้าตาของอินเตอร์เฟสยังเข้าขั้นโบราณ

ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พอขายได้ก็คือ การหาเรื่องที่คิดว่าคนจำนวนมากมี ‘ความสนใจร่วม’ เข้าไป ผ่านการรีวิวเงินเดือน ให้เห็น 3-4 บรรทัดแรก ดึงดูดความสนใจให้ต้องหยุดอ่าน-คลิกอ่านต่อ เมื่อ Threads ยังยืนด้วยลำแข้งของตัวเองไม่ได้ ก็จำต้องยืมจมูกโซเชียลมีเดียอื่นหายใจ และใช้เรื่องที่อัลกอริทึมเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีคนสนใจร่วมเยอะที่สุด มีฟีดขึ้นมาให้เราได้เห็นแล้วคลิกเข้าไปอ่านต่อว่า ‘เขาทำมาหากินอะไร (วะ)’ 

อัลกอริทึมเป็นเรื่องที่พูดยาก นับตั้งแต่ TikTok เข้าสู่โลกนี้เมื่อหลายปีก่อน และกลายเป็นโซเชียลมีเดียที่ประสบความสำเร็จลำดับต้นๆ อย่างรวดเร็ว โซเชียลมีเดียอื่นต้องเข้าไปเล่นเกมเดียวกับ TikTok มากขึ้น และทุกอย่างก็อยู่ได้ด้วยยอด ทั้งยอดการมองเห็นและยอดการมีส่วนร่วม

ฉะนั้นเฮือกสุดท้ายของการพาให้ Threads ไปต่อได้ ก็หนีไม่พ้นการมีฟีดอะไรที่เราไม่ได้อยากดูขึ้นมาให้ได้เห็น และรีวิวเงินเดือน (แบบปลอมๆ) ก็ดูจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดี

ถ้าเราอยู่ในโลกที่คนเห็นทุกอย่างแล้วต้อง ‘เชื่อ’ ทุกอย่าง ทุกคนจะมีรายได้สูง ชีวิตดี ด้วยกันทั้งหมด แต่ถ้าถอยมามองความเป็นจริง ก็จะเห็นเหรียญอีกด้าน

เป็นด้านที่ไม่สวยงามนัก แต่คือโลกแห่งความเป็นจริง

Tags: , , ,