หากคุณกำลังมองหางานใหม่ ‘เรซูเม่’ ถือเป็นเพื่อนรักของคุณ คำถามก็คือ นอกจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาและประวัติการศึกษา-อบรมคร่าวๆ แล้ว แน่นอนว่าหากเขียนได้ดีจะสามารถช่วยให้คุณเปิดประตูไปสู่งานในฝันของคุณได้ ทั้งยังช่วยให้คุณสามารถแข่งขันกับคนอื่นในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงได้เช่นกัน

คำถามก็คือบรรดาผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลทั้งหลายมองหาอะไรใน ‘เรซูเม่’ บ้าง แน่นอนว่าในบรรดาหลายร้อยหลายพันคนที่ส่งเรซูเม่เข้ามา บรรดาผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีเวลาไม่มากนักในการ ‘สแกน’ หาคนที่ใช่ บทความในเว็บไซต์ CNBC ให้ข้อมูลว่า ผู้สมัครงานส่วนใหญ่ใช้เวลาราว 20-40 ชั่วโมงในการเขียนเอกสารแนะนำตัวเอง ทว่าเมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ลินด์ซีย์ มัสเทน (Lindsay Mustain) อดีตผู้บริหารฝ่ายบุคคลของแอมะซอน (Amazon Inc.) บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ ระบุว่า เขาใช้เวลาในการสแกนเรซูเม่ของผู้สมัครแต่ละคนเพียง 6 วินาทีเท่านั้น

คำถามก็คือ แล้วใน 6 วินาที พวกเขามองหาอะไรบ้าง?

1. รูปแบบการเขียน – แน่นอนว่าเนื้อหาคือเรื่องสำคัญ แต่หากใน 3-6 วินาที ผู้คัดเลือกมองหาไม่เจอข้อมูลสำคัญต่างๆ ในเรซูเม่ ก็เป็นไปได้แน่นอนว่าเอกสารนั้นอาจถูกคัดออก โดยมัสเทนแนะนำว่า ควรเขียนแบบ ‘Minimalist’ ด้วยรูปแบบที่เรียบง่าย ไม่ต้องมีรูป และไม่ต้องมีกิมมิกอย่างอื่น ขอแค่ให้บรรดาผู้ที่คัดเลือกใบสมัครอ่านได้ง่าย หยิบขึ้นมาให้ได้ง่ายที่สุดก็พอ

2. เนื้อหา เป้าหมายของเนื้อหามีอยู่ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง สรุปขอบเขตงานที่ทำให้ได้ และบ่งบอกความสำคัญให้ได้ว่างานที่ทำส่งผลอะไร เหตุใดจึงมีความสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่า ควรจะต้องเป็นสิ่งที่ตอบ Pain Point ขององค์กรได้ เป็นต้นว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้ หรือหาเงินเพิ่ม และสร้างคุณค่าใดๆ ให้กับองค์กรได้

3. คีย์เวิร์ด, ภาษา คำศัพท์ที่ใช้ ควรต้องเป็น ‘ภาษา’ เดียวกันกับที่องค์กรที่คุณยื่นใบสมัครใช้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้สมัครควรต้องค้นคว้าอย่างละเอียดโดยอาจผ่านเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่าองค์กรที่ยื่นใบสมัครนั้นใช้ภาษาอย่างไรบ้างกับทั้ง ‘คนใน’ และ ‘คนนอก’ อย่างลูกค้าและผู้ที่องค์กรจำต้องติดต่อประสานงานด้วย 

คำถามต่อมาก็คือ แล้วมีคุณสมบัติจำเพาะอะไรอีกที่บรรดาองค์กรและบรรดาฝ่ายบุคคลมองหาผ่านเรซูเม่?

ข้อแรก เจฟ ไฮแมน (Jeff Hyman) ซีอีโอของบริษัทรีครูทร็อกสตาร์ บริษัทจัดหางานในสหรัฐฯ ระบุเคล็ดลับว่า การเขียนเรซูเม่ควรจะเขียนให้จบใน 1 แผ่น และเขียน ‘ความสำเร็จ’ ในงานที่ทำผ่าน เป็นข้อๆ ผ่าน ‘บุลเล็ตพอยต์’ 

เป็นต้นว่างานที่ทำนั้นคืออะไร มีความสำเร็จหรือผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง แทนที่จะเขียนเพียง Job Description ว่าเคยทำอะไรมาบ้าง ตัวอย่างอาจเป็น ได้ ‘เลื่อนขั้น’ 4 ครั้ง ใน 2 ปี ได้ทำงานยากชิ้นหนึ่ง หรือได้เป็น ‘เมนเทอร์’ ให้กับใครสักคน

ข้อสอง ไฮแมนแนะนำว่าควรใส่คำบางคำที่อธิบายง่ายๆ เกี่ยวกับตำแหน่งที่คุณเคยทำหรือเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่คุณจะสมัคร เช่น หากคุณจะสมัครงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขายก็ควรต้องมีประวัติว่าเคยออกแบบระบบจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานขาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเคยประสบความสำเร็จในการจัดการเรื่องที่มีความซับซ้อนและบริหารทีมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ หากไม่รู้รายละเอียดเหล่านี้ว่าต้องเขียนอย่างไร ก็ลองค้นเข้าไปในโปรไฟล์ LinkedIn ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งคล้ายๆ กัน หรือแบบเดียวกันกับคุณ

สุดท้าย คุณควรต้องขยายส่วนที่เป็นทักษะความเป็น ‘ผู้นำ’ และทักษะในการ ‘บริหารจัดการ’ ให้เด่นชัด

ไฮแมนบอกว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการหาคนคือหาบุคคลที่ใช้ทั้งในแง่การ ‘นำ’ และ ‘เป็นตัวอย่าง’ ที่ดี ให้กับคนอื่นๆ โดยบรรดาฝ่ายทรัพยากรบุคคลทั้งหลายต่างก็อยากได้คนที่เติบโตจากการเป็นคนธรรมดา แล้วทุ่มเททำงาน ทำงาน ทำงาน จนได้เป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการ ฉะนั้น สิ่งที่องค์กรล้วนมองหาคือต้องเป็นทักษะในด้านการเป็นผู้นำ การพัฒนาคน รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับใครหลายๆ คน จนมีผลลัพธ์บางอย่างออกมา

ด้วยเหตุนี้ เวลาเขียนเรซูเม่จึงขอให้พยายามนึกถึงการ ‘เค้นพลัง’ พนักงานใหม่ออกมา หรือนำทีม ริเริ่มโปรเจกต์อะไรใหม่ๆ หรืออาจมีส่วนช่วยในการพูดปลุกใจพนักงานใหม่ใส่ไว้ในเรซูเม่ด้วย

“แน่นอนว่า สิ่งที่บรรดาองค์กรมองหา ไม่ได้มีเพียงแต่ ‘พนักงานใหม่’ เท่านั้น แต่ยังมองหาความสามารถพิเศษอื่นๆ ที่องค์กรยังขาดเข้ามาเติมเต็ม และยังสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทในอนาคตเพิ่มเติม” ไฮแมนระบุ 

Tags: , ,