เชื่อว่าตอนนี้คงมีหลายคนที่รู้สึกว่าอยากลาออกจากงาน แต่ก็ยังคิดไม่ตกว่าถ้าออกจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อข้าว จ่ายค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟ มิหนำซ้ำการหางานใหม่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายก็ดูจะยากเย็นเหลือเกิน

หากใครกำลังเผชิญปัญหาหมดไฟ เกิดความรู้สึกไม่อยากทำงาน หรือทำงานหนักจนขาดเวลาดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่ก็ยังลาออกไม่ได้ ‘Quiet quitting’ เทรนด์การทำงานใหม่ที่มาแรงอาจเป็นทางออกของปัญหาเหล่านี้

เทรนด์การทำงานแบบ Quiet quitting มีที่มาจากผู้ใช้แอปพลิเคชัน Tiktok ชื่อ zaidlepplin ที่อัปโหลดคลิปวิดีโอไวรัลเล่าว่าการลาออกไม่ใช่หนทางเดียวของการแก้ปัญหา แต่การลาออกจากแนวความคิดเดิมๆ ที่ยึดเหนี่ยวกับการทำงานหนัก ไม่อาสาช่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ของตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรทำ เพราะงานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิตและคุณค่าของคนไม่ได้ถูกกำหนดด้วยการทำงาน

ในเมื่อยังยื่นใบลาออกจากงานไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นลาออกจากค่านิยมที่ยึดติดกับการทำงานหนักแทน เช่น เปลี่ยนความคิดและเลิกค่านิยมการบ้างาน ไม่ทำโอทีที่ไม่ได้ค่าโอที ไม่ทำงานล่วงเวลาแบบฟรีๆ ให้กับบริษัท ไม่ทำงานในวันหยุด ไม่ตอบอีเมลเรื่องงานในเวลาดึกดื่น ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น และพยายามสร้างความเข้าใจกับตัวเองว่าการปฏิเสธงานที่นอกเหนือจากตำแหน่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

หลายคนเชื่อว่าเทรนด์ Quiet quitting มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่รับอิทธิพลมาจากกระแส #tangping ที่เรียกกันว่าการนอนราบเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนักแต่ได้ผลลัพธ์งานที่ตรงกันข้าม ส่งผลให้พนักงานต้องสูญเสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภายหลังแฮชแท็กดังกล่าวถูกรัฐบาลจีนบล็อกการเข้าถึง

ยังมีคนอีกมากที่มองว่าเทรนด์การทำงานตามเงินเดือนเป็นแนวคิดที่มาจากปรากฏการณ์ ‘The Great Resignation’ หรือการลาออกครั้งใหญ่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่การทำงานไม่สามารถแยกขาดกับชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ตื่นมาทำงานที่บ้านแบบทั้งวันทั้งคืน การทำงานในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือการทำงานหนักแต่ไม่ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

แม้จะมีผู้คนชื่นชอบแนวคิดการทำงานแบบ Quiet quitting แต่เมื่อมีคนชอบก็ย่อมมีคนไม่ชอบเช่นกัน การทำงานดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดของพวกเกียจคร้าน หาข้ออ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องทุ่มเทให้กับการทำงาน หรือมองว่าคนที่ทำงานโดยยึดแนวคิด Quiet quitting เป็นกลุ่มคนไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ซึ่งคนที่จะประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานได้ก็ต้องผ่านความยากลำบากและทำงานหนักด้วยกันทั้งนั้น

หากมีใครใช้เหตุผลหรือคำกล่าวเหล่านี้มาทำให้พนักงานที่อยากทำงานแบบ Quiet quitting รู้สึกผิด หรือหว่านล้อมให้ต้องทำงานหนักนอกเหนือจากตำแหน่งงาน คุณอาจตอบกลับไปได้ว่า “ขึ้นเงินเดือนให้ก่อนสิ และจะทำงานเพิ่มตามเงินเดือนที่ได้รับ” ก็ดูจะเป็นการตกลงที่ยุติธรรมต่อกันทั้งสองฝ่าย

Tags: , , ,