“ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

“ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า” (วันไหน?)

“งานหนักไม่เคยทำร้ายใคร” (จริงหรือ?)

“ใครๆ ก็ทำงานวันหยุดกันทั้งนั้น”

นอกจากประโยคข้างต้น ยังมีอีกร้อยแปดสารพัดวลีและคำคมสะกิดใจ เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนทำงานหนักแบบกัดฟันสู้ชีวิต ซึ่งคำพูดเหล่านี้กำลังตอกย้ำค่านิยมหรือวัฒนธรรมการทำงานหนัก (The cult of overwork) และการทำงานหนักเพื่อผลผลิตที่มากกว่าเดิม (Productivity) ที่พยายามจะชี้ให้เห็นว่าการทำงานแบบ ‘ถวายหัว’ เป็นเรื่องดีมากแค่ไหน และจะดีขึ้นไปอีกหากงานชิ้นนั้นมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีเวลาการใช้ชีวิตอย่างจำกัดเพียงวันละ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

หากจะทำงานทั้งทีต้องเอาให้คุ้ม ต้องรีบ ต้องเร่ง ต้องไว ต้องด่วน และต้องมีปริมาณมากๆ จนหลายคนปลดล็อกศักยภาพและขีดจำกัดการทำงานของตัวเองจนใกล้ระเบิด รั้งแต่จะส่งผลให้ผู้คนติด ‘กับดักผลผลิต’ (Productivity Trap)

กับดักผลผลิตได้สร้างวัฒนธรรมความเชื่อ ปลูกฝังค่านิยมให้สังคมบูชาคนทำงานหนัก สนับสนุนชื่นชมความคิดที่ว่าการทำงานมากๆ ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเป็นเรื่องดี จนหลายครั้งเหล่าแรงงานต้องทำงานหนัก ทำงานเร็ว เพื่อให้ได้รับงานชิ้นต่อไปมาทำอีกแบบวนลูปเป็นวัฎจักร บ้างก็ต้องยอมทำเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายหรือเพื่อได้รับคำชื่นชม

แต่การกระทำเหล่านี้จะไปจบลงที่จุดไหน ในเมื่อความต้องการของตลาดในโลกทุนนิยมนั้นไม่เคยเพียงพอ จนทำให้เราอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่ตั้งแต่ต้นเลยว่า การทำงานเร็ว ทำงานได้หลายอย่างในเวลาสั้นๆ จะไปหยุดที่ตรงไหน แล้วมันตอบโจทย์ที่ต้องการได้จริงหรือ?

The Momentum ชวนผู้อ่านสำรวจตัวเองผ่าน 5 ข้อสังเกตว่า Productivity การทำงานหนักเพื่อผลผลิตที่มากกว่าเดิม กำลังทำร้ายคุณอยู่หรือไม่?

1. ความตั้งใจทุ่มเทกับงานมากเกินไป ทำให้เราละเลยความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ครอบคลุมทั้งครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน การติดกับดักผลผลิตที่ว่า จะแสดงออกมาในรูปแบบโหมงานหนักจนกลับถึงบ้านดึกดื่น ทำงานล่วงเวลาจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่นนอกจากอาบน้ำ เล่นโทรศัพท์อีกสักหน่อยแล้วเข้านอน ไปจนถึงการไม่สามารถแบ่งเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวได้ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นขั้นแรกของการละเลยคนรอบข้าง เช่น ลืมนัด ทำงานจนหลงลืมวันสำคัญอย่างวันเกิด หรือวันครบรอบการแต่งงาน

เมื่อต้องทำงานหนักที่ทลายขีดจำกัดของตัวเองมาตลอดทั้งสัปดาห์ พอวันหยุดสุดสัปดาห์เวียนมาถึง คุณก็อาจจะไม่มีแรงทำอะไรนอกจากนอน ซึ่งอาการหมดแรงนี้ส่งผลให้คุณไม่มีเวลาได้อยู่กับตัวเอง (ในกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการนอน) รวมถึงไม่มีเวลาอยู่กับคนรอบข้าง เพราะเหนื่อยจากการทำงานมากเกินไป

2. Productivity ส่งผลให้เราละเลยการดูแลสุขภาพ

การจะดูว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณบางอย่างอาจเริ่มต้นจากการสังเกตตัวเองในเรื่องง่ายๆ เช่น การขยับตัว อาการเจ็บปวดตามร่างกาย อย่างการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ จนเข้าข่ายอาการออฟฟิศซินโดรมหรือไม่ สำรวจว่าตัวเองลุกออกจากหน้าคอมพิวเตอร์ล่าสุดเมื่อไร กินอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่หรือไม่ กินข้าวตรงเวลาไหม ทำงานจนทำให้คุณลืมกินข้าวกลางวันหรือเปล่า ไปจนถึงคำถามที่ว่าออกกำลังกายล่าสุดตอนไหน แม้คำถามเหล่านี้อาจดูเป็นคำถามพื้นฐาน แต่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าตอนนี้ คุณจัดการเวลาในชีวิตได้ดีหรือไม่ มีเวลาให้ร่างกายพักผ่อนและฟื้นฟูมากแค่ไหน

3. ทำงานหนักจนรู้สึกผิดเวลาป่วยหรือลางาน

ความรู้สึกผิดเวลาที่ได้หยุดงาน รู้สึกไม่มีอะไรทำ อยากทำงาน หรือการนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นว่าเขายังทำงานกันอยู่เลยแล้วทำไมเราถึงลาหยุด แม้การลาที่ว่านั้นจำเป็นต้องลาเพราะเจ็บป่วยก็ตาม หากกำลังรู้สึกแบบนี้แปลว่าคุณกำลังตกอยู่ในหลุมพรางของระบบงานที่เป็นพิษ

ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดพักและจัดแจงเวลาเสียใหม่ เพราะการลางานควรจะต้องเป็นการหยุดพักแบบจริงๆ ไม่ใช่แจ้งลางานไปแล้วแต่ต้องแบกคอมพิวเตอร์ไปไหนมาไหนเพื่อเตรียมรับมือกับงานที่ไม่คาดคิด หรือการต้องคอยตอบอีเมลในวันหยุด นอกจากนี้มีผลวิจัยชี้ว่า พนักงานที่ใช้วันลาหยุดไปพักร้อน หรือแวะหยุดพักจากการทำงานมาอย่างยาวนาน จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงกว่าพนักงานที่ไม่เคยหยุดพักอีกด้วย

4. การยึดโยงคุณค่าตัวเองกับการทำงาน

หากคุณกำลังติดอยู่ในกับดักการทำงานหนักจนเป็นพิษ เช่น วันไหนที่ไม่ได้ทำงานจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ขี้เกียจ ไร้ประโยชน์ หรือวันไหนที่คุณทำงานได้น้อยกว่าปกติ ก็จะรู้สึกว่าวันนี้เป็นวันที่แย่มาก เพราะผลผลิตของงานกลายเป็นตัวกำหนดคุณภาพและอารมณ์ของคุณ กว่าจะรู้ตัวอีกทีคุณก็เผลอนำคุณค่าของตัวเองไปยึดโยงไว้กับงานเสียแล้ว

5. Productivity ทำให้ทำงานได้น้อยลงและงานที่ได้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ

เมื่อคุณขูดรีดตัวเองเป็นระยะเวลานานจนร่างกายและจิตใจกรีดร้องว่าเหนื่อย งานที่ออกมาก็จะไม่ใช่งานที่ดีเสมอไป แต่ขณะเดียวกันก็มักมีวลีที่โต้แย้งความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนักว่า “ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งเหนื่อย ก็ยิ่งทำให้เติบโต” มาทำให้คุณยอมฝืนตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เราอยากบอกว่าสิ่งนี้ไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย

ความเครียดและความเหนื่อยล้าสะสมจากการทำงานหนักจะแสดงออกมาทั้งทางร่างกาย จิตใต และผลงานที่มีประสิทธิภาพน้อยลง หากยังคงฝืนทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะสายเกินไปที่คุณจะซ่อมแซมรักษาทั้งร่างกายและจิตใจให้คงเดิมได้

แล้วเราควรจะทำอย่างไรให้หลุดพ้นกรอบและกับดักการทำงานหนัก?

1. ไม่ผิดเลยถ้าบางครั้งเราจะต้อง ‘ปฏิเสธงาน’

งานไหนที่คิดว่ามากเกินไป เป็นงานที่อยู่นอกเหนือหน้าที่หลัก หรือพิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำเพิ่มเลยแม้แต่น้อย เราสามารถเรียนรู้ข้อจำกัดของตัวเองเพื่อไม่ให้เหนื่อยจนเกินไปและบอกปฏิเสธงานนั้นๆ ได้ เช่น ลองกำหนดว่าใน 1 สัปดาห์เราสามารถทำงานได้มากน้อยแค่ไหน ทำงานในแบบที่ไม่กดดันตัวเองและหรือทำให้รู้สึกหมดไฟไปเสียก่อน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือต้องไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือไม่นำมาตรฐานการทำงานหนักจนเกินพอดีของตัวเองไปเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้อื่นด้วยเช่นกัน

2. จดรายการสิ่งที่ต้องทำ (To do list) อาจช่วยได้

การจดบันทึกนอกจากเป็นการย้ำเตือนตัวเองแล้ว ยังทำให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เพื่อประเมินว่าปริมาณงานที่มีอยู่ในมือนั้นเหมาะสมหรือไม่ ขูดรีดแรงงานเกินไปหรือเปล่า เพราะภาพรวมจะทำให้เราอุดช่องโหว่การทำงานได้ หากรายการไหนที่ทำไม่เสร็จ หรือเลื่อนไปวันอื่นได้ ก็ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำให้ครบเป้าหมายในแต่ละวัน อาจเหมือนคำพูดติดตลกที่กล่าวว่า “อย่าทำวันนี้ให้ดีที่สุดเพราะพรุ่งนี้จะไม่มีอะไรให้ทำ เก็บไว้ทำวันอื่นบ้างก็ได้”

3. แบ่งเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ

ประโยคที่ว่า “เหนื่อยวันนี้สบายวันหน้า ไม่มีจริง” ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้คุณอาจจะพบกับวันที่ยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยกว่าเดิมก็ได้ เพราะฉะนั้น เราอาจวางแผนชีวิต แล้วดูว่าการทำงานแค่ไหนที่พอดี การทำงานแบบไหนที่จะทำให้ทุกวันของเราเป็นวันที่สบายและรับผิดชอบงานได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

 

ที่มา

https://www.exploringtherapy.com/therapy-blog/ways-toxic-productivity-might-be-hurting-you

Tags: , ,