เคยรู้สึกไหม นั่งทำงานต่อๆ กันแล้วเหนื่อย นั่งทำงานนานๆ แล้วเมื่อย สมองล้า คิดอะไรไม่ออก ยิ่งฝืนดันทุรังทำงานต่อไป ทุกอย่างก็ยิ่งแย่ลง เรื้อรังเข้ามากๆ ก็อาจทำให้เบื่องาน กลายเป็นภาวะ ‘หมดไฟ’ กลายเป็นเบิร์นเอาต์ (Burnout) แบบที่คนยุคนี้เจออยู่บ่อยๆ

สาเหตุสำคัญก็คือ การจัดการ ‘เวลา’ ที่ทำให้หลายคนรู้สึกเครียด กระวนกระวาย บางห้วงเวลาก็ขี้เกียจ บางห้วงเวลาก็ขยัน แต่เวลาขยันมักอยู่ได้ไม่นาน ขณะเดียวกัน หากเดดไลน์ไฟลนก้น ก็สามารถทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน แต่หลังจากนั้นยิ่งล้า

จะดีกว่าไหม ถ้าสามารถจัดการเวลาได้อย่าง ‘มีชั้นเชิง’ สามารถคุมเวลาของตัวเองได้อยู่มือ อันที่จริงมีสิ่งที่เรียกว่า โพโมเดโร (Pomodoro Technique) หรือการจัดการเวลาแบบ ‘มะเขือเทศ’ ซึ่งใช้สูตร ‘พัก’ ทุก 25 นาที เพื่อให้สามารถจดจ่อกับการทำงาน การเรียน กระทั่งการอ่านได้ดีขึ้น

จุดเริ่มต้นมาจาก ฟรานเชสโก ซิริลโล (Francesco Cirillo) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวอิตาเลียน เมื่อครั้งเขายังเป็นนักเรียน ในทศวรรษ 1980 โดยตั้งชื่อ Pomodoro จากตัวจับเวลาทรงมะเขือเทศที่ตั้งอยู่ในห้องครัวของเขา หลังจากประสบปัญหาไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน

วิธีการก็คือ หากเริ่มทำงาน อ่านเปเปอร์ เรียนหนังสือออนไลน์ ครบ 25 นาที ก็จะไปพักราว 5 นาที (อย่าเกินกว่านั้น) กลับมาทำงาน อ่าน เรียน อีก 25 นาที แล้วพักราว 5 นาที เมื่อเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่าหนึ่งชั่วโมงจะสามารถทำงานได้เต็มที่ถึง 50 นาทีเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน หากครบ 4 Pomodoro หรือทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที รวม 4 รอบ (2 ชั่วโมง) ก็สามารถขยายเวลาพักได้ยาวขึ้น อาจยาวไปได้ถึง 15-20 นาที 

หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการ ‘จัดการเวลา’ เพราะบางคนไม่สามารถรู้ว่าควรทำงานได้มี ‘ลิมิต’ ขนาดไหน บางคนนั่งทำงานทั้งวัน หันหน้ามาอีกที พระอาทิตย์ก็ตกดินแล้ว ไม่อาจมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนคนอื่นๆ ไม่มีสังคมภายนอก ขณะที่บางคน เมื่อพักดื่มน้ำ กินขนม นั่งคุย สูบบุหรี่ ก็เลยเถิด รู้ตัวอีกทีอาจนานถึง 30 นาที

การจัดการเวลาที่ดี จะทำให้สามารถ ‘เซ็ต’ ตัวเองได้ว่าใน 25 นาที ควรทำอะไรบ้าง เรียงลำดับความสำคัญจากเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน โฟกัสกับสิ่งนั้น แล้วจัดการให้ได้ภายใน 25 นาที ขณะที่อีก 5 นาทีที่พัก ก็สามารถใช้เวลานั้นคิดว่าต้องทำอะไรต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลจากคนที่ทดลองแล้วว่า หากใช้เวลา 25 นาที จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงจัง จะทำให้สามารถโฟกัสได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้รู้คุณค่าของ ‘เวลา’ ได้ดีขึ้น ว่าควรจัดการเวลาอย่างไร

แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ว่า Pomodoro Technique จะเหมาะกับทุกคน เพราะหลายงาน หลายวาระ วิธีการนี้ก็ใช้ไม่ได้ เป็นต้นว่าตัวคุณถูก ‘รบกวน’ ได้ง่ายเหลือเกิน มีอะไรนิดอะไรหน่อยก็สติหลุด ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรืองานที่คุณทำไม่สามารถจัดการด้วยตัวคุณคนเดียว หากแต่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 อีกมาก รวมถึงหากมีงานรีบ งานเร่ง หรืองานเผา เทคนิคนี้ก็อาจไม่เหมาะ เพราะคุณคงอยากทำงานให้เสร็จเร็วมากกว่าที่จะนั่งทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที

นอกจากนี้ สภาพสังคมอันโหดร้ายในออฟฟิศบางแห่งยังบังคับให้คุณต้องทำงานแบบ Multitask กล่าวคือ ต้องทำหลายอย่างเป็นเวลาพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น กำลังเขียนรีพอร์ตบางอย่างอยู่ แต่หัวหน้าคุณของานอีกชิ้นหนึ่ง ณ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ก็อาจทำให้เวลาของคุณ ‘รวน’ ได้ และที่จัดลำดับความสำคัญไว้แต่เดิมก็อาจพังหมด

แต่ไม่ว่า Pomodoro Technique จะใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ก็เป็นการดีที่คุณจะเริ่มงานในแต่ละวันด้วยการลองเขียน Post-it แปะที่โต๊ะว่า วันนี้ต้องทำอะไร มีเรื่องอะไรต้องทำ ที่ยังไม่ได้ทำ งานที่ต้องทำวันนั้น ระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว คืออะไร แล้วเริ่มการกำหนดเวลาพักของคุณ ให้งานของคุณไม่ต้องลากยาว และเวลาพักก็ไม่ต้องเนิ่นนานจนเกินไป

คีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ที่ ‘การจัดลำดับความสำคัญ’ ว่าเรื่องอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด หากไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ การงานก็จะรบกวนคุณไปอีกนาน และหากเรื้อรังต่อไป ก็แปลว่าคุณอาจไม่เหมาะกับงานนี้ในที่สุด

สามารถทดลองจับเวลา ลองจัดลำดับความสำคัญของงานได้ทาง https://www.pomodorotechnique.com

Tags: , ,