เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่านครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้บังคับใช้กฎหมายแรงงานข้อใหม่ว่าด้วยความโปร่งใสในการจ่ายค่าแรง โดยผู้ว่าจ้างจะต้องเปิดเผยข้อมูลค่าจ้างให้ชัดเจนตั้งแต่ประกาศรับสมัครงานในทุกแพลตฟอร์มที่ลงโฆษณาไว้ เช่น LinkedIn, Glassdoor หรือ Indeed
กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อทำให้ระบบการจ้างงานมีความยุติธรรม หลังจากมนุษย์ออฟฟิศในนิวยอร์กกว่า 4 ล้านชีวิต ต้องพบเจอปัญหาการจ่ายค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศและเชื้อชาติ ตลอดจนปัญหาที่พวกเขาไม่สามารถจะประเมินได้ว่า จริงๆ แล้ว ตำแหน่งงานแต่ละงานควรมีฐานค่าแรงเท่าไรจึงจะสอดคล้องกับ Job Description เพื่อประกอบการตัดสินใจในการหางานและต่อรองกับผู้ว่าจ้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมที่บริษัทและพนักงานจะไม่พูดเรื่องเงินเดือนแบบตรงไปตรงมา
รายละเอียดสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานว่าด้วยความโปร่งใสในการจ่ายค่าแรงมีดังนี้
ผู้ว่าจ้างต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับค่าแรงในโฆษณาประกาศหางาน ประกอบด้วยค่าจ้างขั้นต่ำสุดถึงสูงสุดสำหรับตำแหน่งนั้นๆ, อัตราค่าจ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลา, ส่วนแบ่งค่าคอมมิชชันที่จะได้ คิดเป็นร้อยละ (ถ้ามี), ข้อมูลเกี่ยวกับเงินโบนัส, เงินชดเชยกรณีต่างๆ, ค่าตอบแทนที่จะได้จากงานอื่นที่เพิ่มเข้ามา ตลอดจนโอกาสในการขยายฐานเงินเดือนหากเลื่อนตำแหน่ง
กฎหมายนี้จะบังคับใช้กับบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์กที่มีพนักงานตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป ซึ่งรวมถึงเจ้าของกิจการ และหนึ่งในนั้นจะต้องปฏิบัติงานอยู่ในนครนิวยอร์ก
กฎหมายนี้ครอบคลุมโฆษณาการรับสมัครงานทั้งแบบพนักงานประจำเต็มเวลา (Full-Time) แบบไม่ประจำ (Part-Time) ผู้ที่ปฏิบัติงานระยะไกล พนักงานแบบ Work From Home นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับเหมาอิสระ หรือคนงานประเภทอื่นๆ ที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนแห่งนครนิวยอร์ก
หากผู้สมัครงานพบเห็นว่าบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายนี้ สามารถทำเรื่องร้องเรียนไปที่คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนนครนิวยอร์ก ได้แบบไม่ต้องระบุตัวตนผู้ร้องเรียน เพื่อให้หน่วยงานเข้าตรวจสอบองค์กรนั้นๆ
หากบุคลากรปัจจุบันในบริษัทใดได้รับผลกระทบจากความไม่โปร่งใส ในการให้ข้อมูลเรื่องค่าจ้างตั้งแต่ก่อนสมัครเข้ามาทำงาน สามารถทำเรื่องยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแพ่งได้ โดยคณะกรรมาธิการจะไม่ประเมินโทษทางแพ่งสำหรับการร้องเรียนครั้งแรก ตราบใดที่นายจ้างแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้แก้ไขข้อละเมิดต่อกฎหมายภายใน 30 วัน มิฉะนั้นธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอาจต้องจ่ายค่าปรับทางแพ่งสูงถึง 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9.5 ล้านบาท)
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการตอบรับของกระแสสังคมที่สะท้อนชัยชนะของลูกจ้าง และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากขององค์กรที่ต้องปรับตัว
หลังการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันนี้เกิดขึ้นกับนิวยอร์กได้ไม่นาน สังคมได้เห็นการตื่นตัวจากฝั่งลูกจ้างอย่างชัดเจน ชาวนิวยอร์กเริ่มต่อสายหาบริษัทที่ให้ข้อมูลช่วงราคาค่าจ้างในโฆษณาประกาศรับสมัครงานที่กว้างเกินไป เพื่อขอให้บริษัทปรับเปลี่ยนข้อมูลให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การให้ข้อมูลเงินเดือนแบบกว้างระหว่าง 5 หมื่น-1.4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออย่างในตำแหน่งผู้รายงานข่าวที่ระบุไว้ว่าระหว่าง 1.2-2.1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ
ฝั่งผู้จ้างหลายองค์กรทั้งในและนอกมหานครนิวยอร์ก จะต้องเข้าไปปรับข้อมูลในเว็บไซต์รับสมัครงาน เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในตลาดแรงงาน เพราะพวกเขาเชื่อว่าอีกไม่นาน กฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้ทั่วสหรัฐอเมริกา
ยังมีผู้ว่าจ้างบางส่วนที่ไม่อยากเข้าร่วมการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ว่า ซ้ำยังโต้กลับด้วยการนำโฆษณารับสมัครงานทั้งหมดออกจากแพลตฟอร์ม และหาช่องทางอื่นในการจัดหาพนักงานแทน โดยบางบริษัทใช้วิธีให้ผู้สมัครส่งประวัติย่อไปยังอีเมล เพื่อติดต่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานแบบส่วนตัว บางบริษัทเลือกวิธีให้บริษัทจัดหาบุคลากรเอกชนโฆษณาตำแหน่งงานว่าง และแจ้งช่วงการจ่ายเงินค่าแรงเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเพ่งเล็งจากตัวกฎหมายดังกล่าว
การหาช่องทางลัดเลาะของเหล่านายจ้างหัวหมออาจไม่ได้ผลเสมอไป จากกรณีศึกษาที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ที่มีการบังคับใช้กฎหมายคล้ายๆ กันเมื่อเดือนมกราคม 2021 จนเกิดเหตุให้นายจ้างหลายรายเลือกเปลี่ยนไปจ้างพนักงานระยะไกลแทน โดยแจ้งว่างานนี้ไม่สามารถทำจากเมืองนี้ แต่กลับไม่รอดพ้นสายตาของกระทรวงแรงงาน รัฐบาลจึงส่งคำเตือนไปยังนายจ้างหลายร้อยคนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และในเดือนกรกฎาคม 2021 ก็ได้เริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับธุรกิจ 3 แห่งที่ละเมิด ด้วยการให้จ่ายค่าปรับ
ในมุมของผู้เชี่ยวชาญ โทนี กัวดาก์นี (Tony Guadagni) หัวหน้าอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทที่ปรึกษาการ์ตเนอร์ แสดงความคิดเห็นว่า “นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับฝ่ายบุคคลที่ต้องไปอธิบายให้เหล่าผู้บริหารเข้าใจเรื่องความโปร่งใสนี้ แต่ผมบอกได้เลยว่ามันจะสร้างผลดีให้กับทั้งคนทำงานและองค์กรแน่นอน”
เขายังแบ่งปันมุมมองเสริมว่า การเปิดเผยข้อมูลเรื่องค่าแรงจะทำให้องค์กรได้เจอกับลูกจ้างที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตัวงานและฐานเงินเดือน และสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในตลาดแรงงานผ่านโฆษณาประกาศหางานได้อีกด้วย
ที่มา
https://www.cnbc.com/2022/11/03/nycs-new-salary-transparency-law-is-off-to-a-rocky-start.html
Tags: การทำงาน, นิวยอร์ก, แรงงาน, Work Tips, กฎหมายแรงงาน