หนึ่งในสิ่งที่เป็นเป้าหมายเมื่อช่วงเวลาปีใหม่มาถึง คือการตั้ง ‘ปณิธาน’ หรือที่เรียกว่า New Year’s Resolution ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เราอยากจะไปให้ถึงในปีนั้นๆ โดยหมายมั่นเป็นอย่างดีในตอนเริ่มต้นว่า ‘ฉันจะบรรลุมันให้ได้เลย’
แต่คุ้นๆ ไหมว่า เมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่งหรือสองสัปดาห์แรกไป ความตื่นเต้นที่มีต่อปณิธานนั้นกลับระเหยหายไปทีละนิด สมุดโน้ตหรือโพสต์อิทที่มีปณิธานเขียนไว้เป็นข้อๆ ถูกลืมเลือน และสุดท้ายก็กลับสู่วงจรชีวิตแบบเดิม ที่ไม่ได้นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายใดๆ เลย กระทั่งปลายปีเวียนมาถึงอีกครั้ง
จะเก็บเงิน จะไปเที่ยวต่างประเทศ จะออกกำลังกาย เป้าหมายต่างๆ ถูกผลัดไปเป็นปณิธานของปีหน้า (ที่ไม่รู้ว่าจะได้ทำหรือไม่) อีกครั้ง…
ถ้าอย่างนั้นแล้ว สาเหตุของความล้มเหลวในการตั้งปณิธานปีใหม่คืออะไรกันแน่?
1. ปณิธานปีใหม่ถูก ‘ประดิษฐ์’ ขึ้นหรือด้วยความ ‘ลังเลใจ’
หากเราลองย้อนกลับมาถามตัวเองดีๆ ว่า ‘ทำไมเราต้องตั้งปณิธานปีใหม่’ ถ้าคำตอบของเราคือ ‘เป็นสิ่งที่ต้องทำ’ หรือ ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ นั่นอาจเป็นปัญหาใหญ่ของความล้มเหลว เพราะมันหมายถึงเรามองว่า ปีใหม่คือ ‘ความจำเป็น’ ของการตั้งปณิธาน โดยไม่ได้คำนึงด้วยซ้ำว่า ปณิธานที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการจะทำจริงๆ หรือรู้สึกอยากทำมันอย่างแรงกล้าหรือไม่
หากเราตั้งปณิธานทั้งหลายที่ยาวเป็นหางว่าวเพียงเพราะ ‘ความจำเป็น’ นั่นอาจหมายถึงการเตรียมให้ตัวเองเดินไปเผชิญความล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
2. ปณิธานปีใหม่คือสิ่งที่ ‘ควรทำ’ มากกว่า ‘อยากทำ’
บางครั้งปณิธานปีใหม่ก็สามารถโน้มน้าวให้เราเลือกจะ ‘ยอมรับ’ กับปณิธานบางข้อที่เรา ‘คิดว่า’ ต้องตั้งไว้ ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านั้นมาจากคนอื่นไม่ใช่ตัวเราเอง เช่น แฟนของเราหงุดหงิดกับนิสัยการสูบบุหรี่ หรือแฟนของเรามักบ่นว่าเราไม่ออกกำลังกายเลย และเราก็รู้ตัวดีลึกๆ ว่าควรเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ และนั่นคือจุดที่การตั้งปณิธานปีใหม่มักเข้ามามีบทบาทด้วยความหวังว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เราได้
แต่ปัญหาคือ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจ ‘ยังไม่พร้อม’ สำหรับสิ่งเหล่านั้น เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง และนั่นทำให้แม้ว่าจะเป็นปณิธานปีใหม่ ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรเลย
3. ความรู้สึก ‘อยากเริ่มใหม่’ เพียงชั่ววูบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดของ ‘การเริ่มต้นใหม่’ แทรกซึมอยู่ในปณิธานปีใหม่ทั้งหลายที่เราตั้งไว้ เพราะการมองว่า ‘ปีหน้าฟ้าใหม่มาถึง ฉันก็ต้องเริ่มต้นใหม่สิ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสำหรับบางคน เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ แต่ประเด็นสำคัญคือ เหตุผลดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เพราะ ‘การเริ่มต้นใหม่’ อย่างแท้จริง เกี่ยวข้องกับการลงมือทำ รวมถึงการจัดการกับอะไรก็ตามที่คอยขัดขวางไม่ให้เรา ‘เริ่มต้นใหม่’ สำเร็จตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ซึ่งจุดสำคัญที่มากกว่าการ ‘ตั้งปณิธาน’ คือ ‘การจัดการ’ ปัญหาเหล่านั้นต่างหาก
4. การตั้งปณิธานโดยไม่ได้วางแผนอย่างเหมาะสม
ปณิธานส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับ ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ ในชีวิตของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงจำเป็นที่ต้องมีการวางแผน มีการสนับสนุน และมีความรับผิดชอบหรือวินัยสูง เพื่อช่วยให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทางจิตใจที่จะเข้ามาขัดขวางระหว่างทางได้ เช่น หากหนึ่งในปณิธานของเราคือ การมีรูปร่างที่ดีขึ้น การจะไปถึงฝั่งฝันได้ ต้องวางแผนให้ดี ไม่ว่าจะเป็นตารางการออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก การเลือกรับประทานอาหาร และดำเนินตามแผนการอย่างมีวินัย
ถึงแม้ว่า ‘ปณิธานปีใหม่’ จะสามารถเป็นไปได้ แต่เราต้องมองโลกแห่งความเป็นจริงให้ชัดด้วยว่า บางครั้งเราไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงเพราะ ‘ความรู้สึก’ ต้องการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่ววูบ แต่อาจต้องอาศัยหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเกื้อหนุน รวมถึง ‘ความคิด’ ‘การวางแผนอย่างรอบคอบ’ และ ‘วินัย’ ที่สูง เพื่อที่ปณิธานปีใหม่ จะไม่เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวเฉพาะช่วงปีใหม่ และเหือดหายไปหลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลเท่านั้น
อ้างอิง
– https://time.com/4608612/stop-new-years-resolutions/
– https://www.activeminds.org/blog/you-dont-need-a-new-years-resolution/
Tags: ปีใหม่, Work Tips, New Years Resolutions, พนักงานออฟฟิศ, ปณิธานปีใหม่