สำหรับบางคน การตื่นเช้าถือเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างยิ่ง เช่น ผู้ว่าฯ กทม. ป้ายแดง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีตารางชีวิตด้วยการตื่นตั้งแต่ตี 5 และเดินทางไปวิ่งที่สวนลุมพินีเป็นปกติทุกวัน วันละ 4 รอบ หรือประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนจะเริ่มงานในการลงพื้นที่สำรวจปัญหากรุงเทพฯ ตลอดทั้งวัน 

ชัชชาติเคยให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับการตื่นเช้าไปวิ่งที่สวนลุมฯ ว่า “สวนลุมพินีเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่อยากเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเปลี่ยนเมือง เนื่องจากได้มาเจอเพื่อนและใช้พื้นที่สาธารณะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น โดยมองว่าเป็นสิ่งที่มีค่าและเป็นเรื่องพื้นฐาน จึงอยากทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นได้”

จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แล้ว เราจะเห็นชัชชาติมีตารางชีวิตที่แน่นเอี้ยดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าไปวิ่ง ลงพื้นที่ พบปะประชาชน หรือไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากความรู้ ความสามารถ และการเตรียมตัวในงานด้านการบริหารที่ดีแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า นิสัยและวินัยของ ‘การตื่นเช้า’ เพื่อวิ่งออกกำลัง ก็เป็นอีกเคล็ดลับที่ทำให้ผู้ว่าที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีนี้ สามารถเริ่มต้นวันด้วยพลังงานสดใหม่และความสดชื่น และถือเป็นการเตรียมตัวก่อนจะใช้เวลาทั้งวันในการทำงานต่อได้

อย่างไรก็ดี เข้าใจได้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่รักในการตื่นเช้า แม้จะอยากแค่ไหน แต่พอคิดว่าต้องแหกขี้ตาตื่นมาตั้งแต่เช้าตรู่ให้ได้เป็นประจำ และใช้ชีวิตต่อทั้งวัน จิตใจมันก็พาลจะขี้เกียจขึ้นทันที จนต้องล้มเลิกความตั้งใจในการตื่นเช้าไป

หรือแม้กระทั่งบางคนที่จำเป็นต้องตื่นเช้า เพราะเหตุผลด้านต่างๆ ในชีวิต เช่น ต้องเดินทางไปเข้างานตั้งแต่เช้า ต้องเตรียมตัวเรื่องอาหารการกินสำหรับลูกหรือสามีที่จะไปโรงเรียนและไปทำงาน หรือ ต้องการเวลาเตรียมตัวก่อนไปทำงาน โดยที่ไม่ใช่คนที่ชอบตื่นเช้าเลย ก็อาจเป็นอีกอุปสรรคที่ทำให้รู้สึกห่อเหี่ยวได้

หากเรากำลังเผชิญความรู้สึกที่ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยปรับเปลี่ยนนิสัยนี้ 

โดยพื้นฐานแล้ว นาฬิกาชีวิตซึ่งกำหนดจังหวะชีวิตของเรา จะถูกหลอมรวมเข้ากับตัวตนของเราในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ‘นิสัย’ บางประการก็สามารถช่วยทำให้การตื่นเช้าขึ้นเป็นสิ่งที่น่าเบื่อน้อยลงได้ มาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. ใช้สัญญาณภายนอกเพื่อปรับนาฬิกาชีวิตให้เหมาะสมและสม่ำเสมอ

1.1 แสงสว่าง – ดร.อาฟิฟา ชามิม-อุสซาแมน (Afifa Shamim-Uzzaman) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน และผู้อำนวยการ Ann Arbor VA Sleep Disorders Center กล่าวว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำให้ร่างกายของเรารู้สึก ‘ตื่น’ คือการเปิดรับแสงสว่างเมื่อตื่นนอน

แสงแดดจะช่วยปรับนาฬิกาภายในของคุณ โดยการจัดการฮอร์โมน ‘เมลาโทนิน’ ที่มีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ เมื่อได้รับแสง ร่างกายจะหยุดการผลิตเมลาโทนิน นั่นหมายถึงร่างกายจะปลุกเราว่าได้เวลาตื่นนอนแล้ว ในทางกลับกัน ช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะก่อนนอน พยายามอย่าจ้องแสงสีน้ำเงินที่มาจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพราะแสงเหล่านั้นจะส่งสัญญาณให้ร่างกายของเราเข้าใจว่ายังเป็นเวลากลางวัน ทำให้อาจนอนไม่หลับได้ง่ายๆ

1.2  การขยับเคลื่อนไหว – การออกกำลังกายเบาๆ หลังตื่นนอน หรือเพียงแค่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวในตอนเช้า ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการบอกนาฬิกาชีวิตของเราว่า ถึงเวลาต้องตื่นแล้ว

1.3 ความสม่ำเสมอ – ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะหากต้องการตื่นเช้า การกำหนดเวลาเข้านอนให้สม่ำเสมอสำคัญมาก ในทางตรงกันข้าม การตื่นนอนก็เช่นกัน นั่นหมายความว่า แม้จะต้องตื่นเช้าในช่วงวันทำงาน พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ เราก็ควรพยายามตื่นให้ไม่สายเกินกว่าหนึ่งหรือสองชั่วโมงจากเวลาตื่นของวันปกติ เพื่อไม่ให้การตื่นนอนระหว่างวันทำงานและวันหยุด ‘สวิง’ มากเกินไป 

2. ให้รางวัลตัวเอง และค่อยเป็นค่อยไป

การพยายามสร้างแรงจูงใจให้ลุกจากเตียงในตอนเช้า อาจจะเป็นการฝึกสติเพื่อเตือนตัวเองว่า ตื่นเช้าเพื่อใครหรืออะไรก็ได้ เช่น เรื่องง่ายๆ อย่างการสัญญากับตัวเองว่า จะทำวอฟเฟิลหรือขนมปังทันทีหลังจากที่ลุกออกจากเตียงในตอนเช้าตรู่

หลังจากเริ่มทำได้สม่ำเสมอ ลองเพิ่มความพยายามโดยการตื่นให้เร็วขึ้นกว่าที่ตั้งใจไว้สัก 2-3 นาที ก่อนจะเพิ่มเป็น 5 นาที ทีละนิด จะช่วยให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตารางการตื่นนอนได้แบบค่อยเป็นค่อยไปจนคุ้นชิน ในทางกลับกัน ลองพยายามเข้านอนเร็วขึ้นทีละนิด ก็สามารถช่วยให้ตื่นเช้าได้สดชื่นขึ้นเช่นกัน

3. อดทนและรอคอย

ต้องไม่ลืมว่า การฝึกตัวเองให้ตื่นเช้าเป็นกระบวนการปฏิบัติเพื่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทน ช่วงแรกอาจจะเป็นเรื่องยากและนาฬิกาชีวิตเรายังไม่คุ้นเคย แต่หากฝึกไปเรื่อยๆ โดยรักษาวินัยไว้ ร่วมกับการตั้งเป้าหมายว่าเราจะตื่นเช้าเพื่ออะไร ท้ายที่สุด ร่างกายจะค่อยๆ ปรับจนการตื่นเช้าที่แสนน่าเบื่อกลายเป็นเรื่องปกติได้ในที่สุด

ที่มา: 

https://www.npr.org/2021/11/02/1051553451/how-to-wake-up-early

https://www.inc.com/rhett-power/5-monday-morning-task-for-a-successful-week.html

Tags: ,