วิวาทะที่ชวนให้ถกเถียงเสมอมา คือการนิยามคำว่า Work-Life Balanced หรือการหาสมดุลระหว่าง ชีวิต’ กับ งานด้วยการชั่งน้ำหนักให้พอดีกันว่า แค่ไหนจึงจะพอดี ไม่ทำงานหนักจนเกินเหตุ กระทั่งไม่มีเวลาให้คนรอบตัว และในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ชิลจนเกินไป ให้น้ำหนักไปในซีกของ ชีวิตจนงานไม่เดิน เป้าหมายการงานไม่เติบโต กลายเป็นสิ่งเป็นพิษให้กับคนรอบตัวในออฟฟิศและกับองค์กร 

คำถามก็คือแล้วทำไมคน Gen Z ถึงได้มองเรื่อง Work-Life Balanced เป็นเรื่องใหญ่นัก ขณะที่คนรุ่นก่อนหน้าแทบจะไม่สนใจ มองเป็นเรื่องไม่จำเป็นในชีวิต อันที่จริงเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่หากมีแนวคิดทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจ และสังคม ครอบอยู่อีกชั้น

เรื่อง Work-Life Balanced ไม่ใช่ค่านิยมที่เกิดขึ้นใหม่ เรื่องนี้ถกเถียงกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เมื่อ โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักปฏิวัติและนักอุตสาหกรรมชาวเวลส์ บอกว่าหนึ่งวัน (24 ชั่วโมง) ควรแบ่งออกเป็นทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และนอน 8 ชั่วโมง จนกลายเป็นเวลาทำงานมาตรฐานในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม กระแสธารของการสร้าง บาลานซ์ในที่ทำงานเกิดขึ้นเรื่อยมา จนเป็นการสะสม ชั่วโมงการทำงานในแต่ละสัปดาห์ว่าควรอยู่ที่ 20 ชั่วโมง ในศตวรรษที่ 19-20 จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานหนักหนามากเกินไป เรื่อยไปจนถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรี ในทศวรรษ 1960-1970 ที่เรียกร้องความเท่าเทียมด้านการทำงานระหว่าง หญิงชาย รวมถึงการเลี้ยงดูลูก ซึ่งถูกขีดเส้นให้เป็นหน้าที่ของสุภาพสตรี

แต่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก คำว่า สมดุลในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันออกไป คนรุ่น เบบี้บูมให้ค่านิยมกับการทำงานหนัก-พวกเขาเติบโตมาในยุคที่หัวหน้างานบอกว่ายิ่งทำงานหนัก ชั่วโมงการทำงานมากๆ กลับดึก ทำงานเสาร์-อาทิตย์ เขาก็จะประสบความสำเร็จโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับความภักดีในที่ทำงาน ที่แต่ละคนมักเลือกอยู่แห่งเดียวจนถึงวันเกษียณ นั่นเป็นช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก เติบโตเป็นเส้นดิ่งขึ้น ถ้าองค์กรทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ ย่อมหมายถึงรายได้ที่เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ โลกภายนอกไม่ได้เผชิญกับความผันผวนมากนัก การสร้างตัวด้วยการทำงานหนักจึงทำให้ Work-Life Balanced ค่อยๆ หายไป

กล่าวสำหรับคนรุ่นถัดมา Generation X มอง Work-Life Balanced ในแบบที่ดีกรีลดลง พวกเขาเห็นแล้วว่าในรุ่นที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักจนเกินไป ส่งผลกระทบกับ ครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาเริ่มโฟกัสที่ครอบครัวมากขึ้น เริ่มมองหากิจกรรมที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เลิกบังคับให้ทุกคนต้องทำงานหนักเป็นวัวงาน และเริ่มหาชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมมากขึ้น

ขณะที่มองในภาพกว้าง เศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ก็ไม่ได้รุ่งโรจน์เหมือนก่อนหน้า คน Gen X มองเห็นแล้วว่า ทำงานหนักมากๆ ไปก็ไม่ได้เป็นผลเท่ากับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พวกเขาเติบโตและทำงานในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นใหม่ Google เกิดในห้วงเวลานี้ ในอีกไม่กี่ปีถัดมา Blackberry ก็เกิดและตายในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงนี้

แล้วทำไมเด็ก Gen Z ถึงมีปัญหามากนัก กับ Work-Life Balanced?

ว่ากันจริงๆ แล้วเด็ก Gen Z ถือว่าน่าสงสารมาก โลกหมุนเร็วเกินกว่าที่พวกเขาจะวิ่งตามทัน ทักษะที่เคยสร้างมาจากโรงเรียน จากมหาวิทยาลัย ถึงวันหนึ่งก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป บริษัทใหญ่ๆ ของโลก กลายเป็นบริษัท Tech ที่อยู่ดีๆ ก็จ้างคนเยอะๆ ในอัตราเงินเดือนสูงๆ แล้วอีกไม่กี่เดือนถัดมาก็มีข่าวเลย์ออฟ (Layoff) พนักงานตามมา เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาทดแทนได้ การทำงานกลายเป็นเรื่องที่วันหนึ่ง องค์กรต้องการคุณมากๆ อีกวันก็กลายเป็นไม่ต้องการ ขณะที่ผู้บริหารก็หาจุดลงตัวกับการหาสมดุลไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการระบาดของโควิด-19 มาถึงเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้กิจกรรมทุกอย่างชะงักงันหมด และยังส่งผลกระทบมาถึงวันนี้

อาจกล่าวได้ว่า สภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โลกสร้างให้คนรุ่นนี้บอบบาง และคนรุ่นนี้อีกส่วนก็ถูกวิจารณ์ว่า ‘เปราะบาง’ ด้วยตนเอง นอกจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม ทำให้พวกเขา ‘เหนื่อย’ กว่าปกติแล้ว การรวมกลุ่มกันเพื่อสังเคราะห์สิ่งที่ตัวเองเจอ วิจารณ์ว่าโลกนี้มันหนักหนา การเห็นเพื่อนบางส่วน บางคน ที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อบอกว่าตัวเองมี ‘ชีวิตดี’ ไปพักผ่อนที่ญี่ปุ่น กินโอมากาเสะแพงๆ มีเวลาว่างเพนต์งานบนใบไม้ ดริปกาแฟ ก็ทำให้เห็นว่าพวกเขาควร ‘บาลานซ์’ บ้าง และควรมีโอกาสในการตัดขาดจากโลกการทำงาน

ในอีกแง่หนึ่ง คนรุ่นนี้ไม่ได้มีเป้าหมายว่าด้วยการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นอีกแล้ว พวกเขาอยู่คนเดียวได้ คนจำนวนไม่น้อยอาจจะเลือกมีคู่ชีวิตที่ไม่ต้องแต่งงาน ไม่ต้องมีลูก พวกเขาเลือกจะใช้ชีวิตเพื่อตัวเองมากกว่าจะใช้ชีวิตเพื่อสร้างครอบครัว เมื่อไม่มีเป้าหมายก็จะทำงานเพื่อตัวเองในระดับที่เหมาะสม มีเวลาพักผ่อน ทบทวนตัวเอง และอยู่กับตัวเอง จึงเป็นคำตอบที่หลายคนเลือก

ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง นิยามการ ‘สร้างชาติ’ ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะ ‘คนไทย’ ก็ทำให้คนสนใจภาพรวมน้อยลง คนรุ่นนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการ ‘สร้างชาติ’ ว่าหากทุกคนตั้งใจทำงาน จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ทุกอย่างกระเตื้อง แล้วจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เสียงของประชาชน เสียงของคนรุ่นใหม่ถูกทำให้เงียบลงเรื่อยๆ กระทั่งคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าประเทศและระบบเศรษฐกิจเป็นของ ‘พวกเขา’ ไม่ใช่ ‘พวกเรา’ แน่นอนว่าการทำงานเพื่อ ‘ส่วนรวม’ ก็ค่อยๆ หดหายไป

เหตุปัจจัยทั้งหมดกลายเป็นเหตุผลว่า ทำไม ‘งาน’ ถึงไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และทำไมพวกเขาจึงเลือก ‘บาลานซ์’ มากกว่าตั้งหน้าตั้งตาทำงานต่อไปเรื่อยๆ

สุดท้าย เรื่อง Work-Life Balanced อาจจบลงด้วยการตกลงกับตัวเองให้ชัดว่าบาลานซ์ ‘งาน’ ควรจะอยู่ตรงไหน ขณะที่องค์กร-หัวหน้า ก็ต้องมีนโยบายว่าด้วยการบาลานซ์ ซึ่งมีเหตุผลชัดเจนว่าแบบไหนคือบาลานซ์ แบบไหนคือหย่อน และแบบไหนคือตึงเกินไป โดยเกิดจากการศึกษาทดลองมากกว่าจะสร้างสมมติฐานขึ้นมาเอง ไม่สามารถตรวจสอบได้จนตึงเกิน หรือหย่อนเกินจนกระทบกับงาน

ในระดับชาติ การตั้งวาระว่าประเทศจะเบนเข็มไปทางไหน จะสู้ในระบบเศรษฐกิจโลกด้วยวิธีการใด และต้องการให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ต้องการให้ ‘วัยแรงงาน’ ร่วมสร้างชาติไปได้อย่างไร ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เช่นนั้น ประเทศจะหมดความสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก และประชากรจะอยู่แบบ ‘หลักลอย’ คนเก่งๆ จะ ‘สมองไหล’ ออกไปยังประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

Work-Life Balanced จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ว่าใครก็มิอาจมองข้ามได้

Tags: , , , ,