ตื่นนอน ไปทำงาน กลับบ้าน หาอะไรกิน หาอะไรทำเล็กน้อย เข้านอน แล้วก็ตื่นเช้าไปทำงาน

หลายคนอาจเคยประสบกับภาวะที่เรียกว่าติดอยู่ในวงจรหรือลูป (Loop) ของการเป็นคนทำงานรับเงินเดือนที่มีเพียงแค่กิจวัตรดังกล่าวซ้ำๆ เป็นเวลานาน จนเริ่มรู้สึกเหมือนกับว่า ‘เป้าหมาย’ บางอย่างของชีวิตได้หล่นหาย ไร้ความตื่นเต้นในชีวิต และกลายเป็นการใช้ชีวิตไปวันต่อวันเพื่อรอรับเงินเดือนเท่านั้น

แต่ครั้นจะไม่ทำงานก็ไม่ได้ เพราะไหนจะค่าใช้จ่ายในชีวิตที่ต้องจัดการ สิ่งนี้ที่เผชิญอยู่อาจกลายเป็นความหนักใจและความเครียดสะสมที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เริ่มไม่มีความสุขแบบที่ ‘อธิบายไม่ได้’

ถ้าขยับมามองในภาพกว้าง ความจริงแล้วอาการของการติดอยู่ในวงจรแบบนี้ หรือ ‘Loop Addict’ เป็นหนึ่งในภาวะที่สร้างความเสียหายให้กับมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะการส่งผลต่อสุขภาพจิต ร่างกาย ครอบครัว และคนรอบข้างของคนที่ติดอยู่ในลูปดังกล่าว ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงคนที่ติดเหล้าหรือบุหรี่ ที่แม้อยากหยุดสูบหรือหยุดดื่ม แต่ก็ทำได้ยากยิ่ง เพราะทุกอย่างมันกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว

กลับมาที่เรื่องของการทำงาน สิ่งเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับภาวะเบิร์นเอาต์ไปจนถึงภาวะซึมเศร้าได้ด้วย เนื่องจากวงจรเหล่านี้ถูกสะสมเป็นเวลานานและไม่ได้ถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

พริบตาเดียว อายุคุณก็เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับความสงสัยและคำถามซ้ำเดิมว่า ‘ทำไมเราถึงต้องติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันที่น่าเบื่อเช่นนี้’ หรือ ‘ชีวิตมีแค่นี้จริงหรือ?’

แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าวันนี้คุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังติดอยู่กับวงจรของกิจวัตรการทำงานที่วนซ้ำเช่นนี้ และอยากก้าวออกมาจากมันเพื่อจุดไฟใหม่ให้ตัวเองอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น และการเปลี่ยนแปลงที่ว่า อาจซุกซ่อนอยู่ในวิธีการที่คุณไม่คาดคิดก็ได้ เพียงแค่ต้องเรียนรู้วิธีมองเห็นสิ่งเหล่านั้นอย่างใกล้ชิดผ่านเลนส์ใหม่ๆ

1. จำไว้ว่าไม่มีใครแก่เกินเรียนรู้

ในปี 1936 แอนน์ มาร์ตินเดลล์ (Anne Martindell) ลาออกจากวิทยาลัย Smith College หลังผ่านไปปีเดียว เนื่องจากพ่อของเธอซึ่งเป็นผู้พิพากษาบังคับให้ลาออก เนื่องจากกลัวว่าผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาจะไม่ได้แต่งงาน

แต่ในปี 2002 มาร์ตินเดลล์กลับไปที่วิทยาลัย Smith College อีกครั้ง และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญากิตติมศักดิ์เมื่ออายุ 87 ปี ซึ่งในช่วงชีวิตที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น เธอทั้งได้ทำงานการเมือง และเป็นวุฒิสมาชิกรัฐนิวเจอร์ซีย์และเอกอัครราชทูตประจำนิวซีแลนด์และซามัวตะวันตกด้วย

เรื่องของมาร์ตินเดลล์อาจทำให้คุณย้อนกลับมาถามตัวเองว่า คุณได้เริ่มทำบางอย่างที่ยังทำไม่สำเร็จแล้วหรือไม่? มีอะไรที่คุณรู้สึกอยากเรียนรู้อยู่เสมอ หรือมีทักษะอะไรที่คุณต้องการพัฒนาไหม?

ถ้ามี ก็ควรรู้ไว้ว่า คุณสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นได้เท่าที่ต้องการ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เลือกกิจกรรมที่ทำให้คุณตื่นเต้นและกระตุ้นอารมณ์จิตใจได้ในสถานที่ที่เหมาะสม

2. ลองเปลี่ยนเส้นทางของกิจวัตรทีละนิด

บางคนเคยพูดไว้ว่า ‘อย่าไปเส้นทางเดิมซ้ำสอง’ เพราะสถานที่ที่ดีที่สุด อาจถูกค้นพบระหว่างการพาตัวเองออกนอกลู่นอกทาง ลองนึกภาพเวลาไปเที่ยวแล้วคุณหลงจากเส้นทางที่วางแผนไว้ แต่กลับได้พบสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่มีไกด์บุ๊กเล่มไหนแนะนำ

ในชีวิตประจำวัน คุณอาจไม่ได้ออกเดินทางไปไหนไกลนอกจากที่ทำงาน แต่หากเป็นไปได้ ลองเปลี่ยนเส้นทางของกิจวัตรบางอย่างที่เป็นวงจรดูทีละนิด เช่น หากคุณเลี้ยงสุนัข ลองพา ‘น้อง’ ของคุณไปเดินเล่นในถนนที่ไม่เคยไปหลังเลิกงาน หรือลองเปลี่ยนร้านกาแฟยามเช้าที่ต่างจากร้านประจำ เมื่อคุณได้เริ่มออกจากเส้นทางเดิมเล็กๆ น้อยๆ ไม่เพียงแต่ทำให้ได้พบสถานที่ใหม่ๆ แต่อาจมีโอกาสได้พบผู้คนที่น่าสนใจระหว่างทางด้วย

3. ลอง ‘เล่น’ ในที่ทำงาน

วันทำงานของคุณอาจเต็มไปด้วยสิ่งที่ต้องทำไม่จบไม่สิ้น ทั้งการประชุม งานกองพะเนิน จนรู้สึกมึนงงในบางที เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ การหาทำกิจกรรมสนุกๆ เพื่อผ่อนคลายในที่ทำงาน อาจทำให้คุณมีแรงจูงใจมากขึ้นในการพาตัวเองมาที่ทำงานในแต่ละเช้า มากกว่าการต้องพยายามฉุดกระชากลากตัวเองให้มาถึงที่ทำงาน

วิธีง่ายๆ เช่น ลองซื้อบอร์ดเกมมาไว้ในที่ทำงาน หรือแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในที่ทำงานไว้สำหรับกิจกรรมผ่อนคลาย แล้วจัดการแข่งขันเล็กๆ ในช่วงพักกับเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้แม้จะดูเหมือนเป็นการต้องใช้สมองเพิ่มเติม แต่ก็สามารถจุดประกายไอเดียใหม่ๆ หรือเปลี่ยนกิจวัตรการทำงานแบบเดิมๆ ของคุณได้

4. ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงาน

เมื่อพบปัญหาเดิมๆ ในที่ทำงานและต้องการแก้ไข การใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือมองปัญหาจากมุมที่ต่างจากเดิมจะทำให้คุณได้พบหนทางที่อาจไม่คาดคิดมาก่อน และยังทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกด้วย

ประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีเพียงแค่การทำให้ได้พบเส้นทางใหม่ในการจัดการบางอย่าง แต่มันส่งผลถึงสุขภาพจิตด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การเพิ่มความมั่นใจ เพราะหากคุณสามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ด้วยการเปลี่ยนไอเดียใหม่ ก็เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองว่าสามารถทำสิ่งนั้นได้

นอกจากนั้น การใช้ความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นช่องทางที่ทำให้ได้แสดงความคิดหรือความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ นั่นหมายถึงการที่คุณสามารถเปิดเผยตัวตนของตัวเองโดยไม่มีอะไรมาตีกรอบ ที่สำคัญ ความคิดสร้างสรรค์ยังช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ด้วย

5. กำหนด Bucket List ตามอำเภอใจในแต่ละวัน

หลายคนน่าจะรู้จัก ‘Bucket List’ หรือ รายการสิ่งที่อยากทำก่อนตาย เช่น ประเทศที่อยากไป กิจกรรมที่อยากทำ หรืออะไรก็ตาม แต่หากคุณกำลังประสบกับวงจรกิจวัตรประจำวันซ้ำซากของการตื่นเช้าไปทำงาน กลับบ้าน นอน ลองทำ ‘Bucket List’ ให้ตัวเองมีเป้าหมายใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยทำในแต่ละวันดู

เช่น ลองสั่งอาหารจานใหม่ที่ไม่เคยกิน ไปร้านอาหารที่ไม่เคยไป เปลี่ยนเส้นทางในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไปบ่อยๆ ฟังพอดแคสต์ใหม่ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่คุณอยากรู้หรือสงสัย ไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น จัดประชุมแบบแยกคุยต่างสถานที่แทนที่จะรวมกันอยู่ในออฟฟิศ ฟังเพลงใหม่ๆ จากศิลปินที่ไม่เคยฟัง หรือออกกำลังกาย

ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างในคราวเดียว แต่ลองเลือกทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนนิสัยและกิจวัตรประจำวันของคุณดู และช่วงเวลาเหล่านั้นอาจจุดไฟหรือจุดประกายความคิด ความรู้สึกใหม่ๆ ในชีวิตของคุณได้

สุดท้ายนี้ การพยายามออกจากวงจรของชีวิตที่ซ้ำซากและน่าเบื่ออาจไม่ง่ายนัก แต่หากคุณ ‘เขย่า’ มันทีละนิด ‘เปลี่ยนแปลง’ มันทีละหน่อย คอยทบทวนตัวเองว่าประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้ลองนั้นเป็นไปด้วยดีหรือไม่ ให้เวลาในการปรับตัว และไม่ยอมแพ้เร็วจนเกินไป คุณก็อาจเริ่มมองเห็นสีสันใหม่ๆ จากชีวิตเดิมๆ ได้

Tags: , , ,