“วันนี้ไม่อยากทำงานเลย” เชื่อว่าหลายคนต้องเคยพบเจอกับความรู้สึก ‘ขี้เกียจ’ ในช่วงชีวิตการทำงาน แม้รู้ทั้งรู้ว่าการไม่รีบจัดการงานในมือ จะสร้างความลำบากในอนาคต แต่ทำไมเราถึงยังมีอาการขี้เกียจกัน
ปัจจุบันแม้ยังไม่มีการเปิดเผยถึงที่มาแน่ชัดของอาการความขี้เกียจ เพราะแต่ละคนมีสาเหตุความขี้เกียจแตกต่างกันออกไป แต่เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพอย่าง Live Healthily ได้เผยว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก คือลักษณะนิสัยและไลฟ์สไตล์, ปัญหาสุขภาพ และสภาพจิตใจ
โดยรากเหง้าความขี้เกียจของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางด้านสภาพจิตใจ ถือเป็นปัญหากับผู้คนในสังคมมากที่สุด เนื่องจากการเก็บข้อมูลพบว่าความเกียจคร้านที่เกิดจากอาการ ‘วิตกกังวล’ และ ‘อาการซึมเศร้า’ ทำให้คนเลือกจะแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าด้วยวิธี ‘เลิกให้ความสนใจเกี่ยวกับงานที่ทำ’ ซึ่งเป็นกลไกในการป้องกันตัวเองจากความเครียด และอาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้น
ส่วนสาเหตุเกี่ยวกับลักษณะนิสัยไลฟ์สไตล์อาจเกิดขึ้นจากการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือการใช้งานร่างกายที่หนักเกินไปจนรู้สึกว่าตัวเอง ‘พักผ่อนไม่เพียงพอ’ และก่อให้เกิดความรู้สึกเหนื่อย ขาดแรงบันดาลใจในการเริ่มทำงาน ซึ่งอาจจะต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อแก้ปัญหาทางด้านการนอนหลับของคุณ
ส่วนปัญหาทางด้านสุขภาพที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่สังเกตได้ง่ายที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวอันมีผลต่อความเหนื่อยของร่างกายอย่างอาการไทรอยด์ หรือการขาดวิตามินที่ทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น หากเราต้องการจะเอาชนะอาการเกียจคร้านของตนเอง อาจลองสำรวจตัวเองดูว่าสิ่งใดที่ทำให้คุณรู้สึก ‘ไร้พลังงานจะทำงาน’ และลองแก้ไขต้นตอของปัญหาดู หรือสร้างลักษณะนิสัยใหม่ทับพฤติกรรมเดิม โดยในขั้นแรกยังไม่ต้องตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไป แต่ควรจะสร้างเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง เช่น หากมีงานค้างอยู่ในมือ และรู้ตัวว่าความขี้เกียจกำลังจะเข้าครอบงำ ให้ลองทำงานในขั้นง่ายที่สุดของงานชิ้นนั้นก่อน รวมถึงวางแผนงานว่าต้องทำสิ่งใดก่อนหลังบ้าง และลองบังคับตัวเองให้ทำตามแผนที่วางไว้
แต่อย่าพยายามวางแผนที่ทำให้ตัวเองเครียดเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาทางด้านสภาพจิตใจตามมา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นอันดับ 1 โดยไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะจะทำให้ความตั้งใจการจัดการความขี้เกียจยิ่งถดถอยลงไป
นอกจากนี้ การวางเดดไลน์ให้กับตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นการอนุญาตให้ตัวคุณนั้นสามารถขี้เกียจได้เต็มที่ ตราบใดที่ยังไม่เกินเดดไลน์ และหากงานของคุณสำเร็จลุล่วงได้อย่างดีทันตามเวลา ไม่ว่าคุณจะขี้เกียจหรือไม่ ก็ไม่มีใครมาต่อว่าคุณได้แน่นอน
ภาพ: Getty Image
ที่มา:
–https://www.mvorganizing.org/what-is-the-main-cause-of-laziness/
–https://www.livehealthily.com/healthy-habits/why-am-i-so-lazy
–https://www.verywellmind.com/how-to-stop-being-lazy-4164781
Tags: Psychology, Laziness, Work Tips