เคยรู้สึกไหมว่า องค์กรใช้งานเราหนักขึ้นเรื่อยๆ ด้วยภาระงานที่ไม่ได้ตรงกับ Job Description ตั้งแต่แรก?

ตอนแรก เขาอาจมอบหมายให้คิดยุทธศาสตร์เฉยๆ แต่เมื่อไม่มีคนทำ คุณต้องเป็นคนทำเอง หรือในตอนเข้างาน คุณเป็นพนักงานฝ่ายปฏิบัติการเฉยๆ แต่เมื่อองค์กรขยาย เมื่อหัวหน้าลาพักร้อน ลาไปเฝ้าพ่อแม่ป่วย หรือลาออก คุณกลับต้องไปดูแลงานส่วนนั้นแทน พร้อมกับรับเรื่องปวดหัวอีก 40 เรื่อง ขณะเดียวกัน เจ้าของร้านกาแฟอาจจ้างคุณมาเป็นบาริสตา แต่ในเวลาเดียวกันก็ให้เลี้ยงลูกเจ้าของร้านด้วย หรือคุณเป็นพนักงานไอทีที่บริษัท แต่ถ้าเราเตอร์ที่บ้านเจ้านายเสีย ก็ต้องนั่งรถตามไปซ่อมให้

เสน่ห์ของการเป็นพนักงานใหม่ก็คือ คุณมีโอกาสฝึกฝนตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสที่จะเรียนรู้ มีโอกาสที่จะผิดพลาด และการเติบโตในหน้าที่การงานถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่การเติบโตที่ให้ทำทุกอย่างจนเกินขีดความสามารถ กินเวลาพักผ่อน และทำให้ภาระติดตัวรุงรังจนไม่มีโอกาสได้ทำทุกอย่างให้ดี โดยที่ได้รับเงินเดือนเท่าเดิมย่อมไม่ใช่เรื่องดี

คำถามก็คือแล้วจะจัดการตัวเองอย่างไร หากถูกมอบหมายให้ทำงานเกินหน้าที่เป็นคุณรุจน์ ยามรุจน์ ป้ารุจน์

1. เล่นเกมยาว

เอาเข้าจริง หากงานไม่ ‘ไร้สาระ’ เกินไป เป็นต้นว่าให้เลี้ยงลูก ให้ล้างจาน ให้ซักผ้าให้เจ้านาย แต่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าจำเป็น เริ่มมีลูกน้อง โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม อาจเป็นการ ‘อัปสกิล’ มากขึ้น และหากมีความอดทนได้มากพอด้วยเงินเดือนเท่าเดิม คุณอาจได้เปรียบคนอื่นๆ ที่อายุเท่ากัน และอาจทำให้เรซูเม่ พอร์ตฟอลิโอของคุณนั้น สวยหรูมากขึ้นเมื่อไปยื่นสมัครงานที่อื่น

ขณะเดียวกัน การทำงานหนักในฐานะ ‘หัวหน้า’ ก็มีข้อดีอยู่ เพราะการเป็นหัวหน้าทำให้เราสามารถกำหนดทิศทางขององค์กรตามที่เราอยากเป็นมากขึ้น และยิ่งนานวันเข้า คุณจะได้ฝึกทักษะที่หาไม่ได้ที่ไหน เมื่อคุณต้องเริ่มบริหารจัดการนโยบายทั้งเรื่องคน เงิน ทรัพยากร และเวลา

คนเจเนอเรชันก่อนหน้ามักถูกสอนให้ทำงานหนัก และไม่เกี่ยงงาน ใช่ บางมหาวิทยาลัยมีคำขวัญว่า ‘งานหนักไม่เคยฆ่าคน’ ขณะที่บางมหาวิทยาลัยชูจุดขายว่า นักศึกษาที่จบจากที่นี่จะรับมือกับงานหนักได้มากกว่าที่อื่น แต่ปัจจุบัน ค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่กลับไม่สนใจเรื่องการทำงานหนัก ได้เงินเท่าเดิมอีกต่อไป หากแต่ให้ความสนใจกับการแบ่งระยะเวลาการทำงาน และแบ่งเวลาไปใช้ชีวิตมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเกมยาวก็คือ คุณต้องหาสมดุลให้ได้ระหว่าง ‘เวลา’ กับ ‘งาน’ รวมถึงต้องพยายามหาลิมิตสุดท้ายว่า ด้วยเงินเท่าเดิม คุณสามารถทำงานต่อไปได้นานเพียงใด ตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่าอะไรทำให้คุณรักงานนี้ และที่ที่คุณทำงานอยู่นั้นดีกว่าที่อื่นอย่างไร หากไม่ได้คำตอบเหล่านี้ ก็โปรดอย่าทนเล่นเกมยาว

2. ตอบไปตรงๆ ว่าทำไม่ได้

เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือไม่รู้จะ ‘ปฏิเสธ’ อย่างไร ในแง่หนึ่ง หัวหน้าอาจมีบุญคุณกับคุณ และตอนแรก คุณก็อาจอยากลองทำหน้าที่ใหม่ๆ ที่ท้าทาย แต่เมื่อลองแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ ส่งผลเสียกับตัวคุณเองและคนรอบข้าง และส่งผลเสียกับงานที่ทำให้ไม่ได้ดีสักอย่าง ก็ลองปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาและสุภาพ

การตอบไปตรงๆ อาจนำไปสู่การพยายามหาทางออกใหม่ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการหาจุดสมดุลในงานที่เพิ่มขึ้นและลดลงได้ หรืออาจมีการเซ็ตขีดจำกัดไว้ว่างานที่เพิ่มขึ้นจะมีปริมาณมากได้ถึงเท่าไร มากแค่ไหนจึงเกินกว่าที่เราจะ ‘Cut Off’ ได้สมบูรณ์แบบ หรือสร้างข้อตกลงว่าคุณจะ ‘ช่วย’ ในสภาพนี้ได้ในระยะเวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี จนกว่าจะมีการปรับค่าตอบแทน

หากคำปฏิเสธไม่ได้รับการตอบกลับอย่างมีวุฒิภาวะ และการพูดคุยไม่ได้ผลลัพธ์แบบที่ ‘ผู้ใหญ่’ คุยกัน ก็อย่าไปกังวลหากจะต้องเตรียมโยกย้ายหาที่ทำงานใหม่ เพราะหากอยู่ต่อไปก็อาจส่งผลเป็นพิษทั้งกับคุณและกับองค์กร

3. คุยกับ HR เพื่อปรับตำแหน่งหรือขอเงินเพิ่มอย่างเป็นทางการ

ลองคิดดูว่าบางทีหัวหน้างานของคุณอาจสั่งเพิ่มหน้าที่ เพิ่มความรับผิดชอบโดยพลการ การตัดสินใจไม่เพิ่มเงิน อาจเป็นความรู้สึกของหัวหน้าคุณเพียงคนเดียวที่อยากจะช่วยบริษัทและช่วยองค์กรประหยัดเงิน ทว่าไม่ได้แจ้งเบื้องบน และไม่ได้แจ้งฝ่ายทรัพยากรบุคคล

เพราะฉะนั้น ลองเขียนเนื้อหา แจงเหตุผลกับรายละเอียดเนื้องานเป็นเอกสาร เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ บอกให้ละเอียดว่าถ้าปรับเงินคุณ บริษัทจะได้อะไรเพิ่มบ้าง งานจะดีขึ้นได้อย่างไร แล้วคุณพร้อมจะทำอะไรเพิ่มขึ้นบ้างด้วยค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น จัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังให้ดี บางทีการเขียนอะไรให้ชัดก็ทำให้ข้อตกลงวิน-วินทั้งคู่ คุณได้ค่าตอบแทนเพิ่ม บริษัทได้งานที่มีคุณภาพเพิ่ม ไม่ใช่งานที่ต้องถ่างตาทำ ควบรวมทุกอย่างโดยที่ไม่ได้มีอะไรออกมาดีสักอย่าง

4. ลาเธอได้สักที ลาก่อนให้เธอโชคดี

ถึงที่สุด การลาออกไม่ได้แปลว่า ‘ยอมแพ้’ เสมอไป แต่บางครั้งคือการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอคนใหม่ๆ เจอโลกใหม่ๆ ที่พร้อมรับฟังคุณมากกว่า มีระบบงานที่ชัดเจนกว่า ทำให้คุณได้ทั้งทำสิ่งที่อยากทำและได้ประสบการณ์อันล้ำค่า และค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล

แต่แน่ละ การลาออกย่อมมีความเสี่ยงและมีความท้าทาย องค์กรใหม่อาจจะเลวร้ายกว่า ความมั่นคงอาจจะไม่มากเท่าที่เดิม และไม่มีใครตอบได้ว่า การย้ายงานจะทำให้คุณไม่เจอคนงี่เง่าเหมือนที่ทำงานเก่า ยิ่งในโลกแห่งความผันผวน องค์กรใหญ่หลายแห่ง บริษัทเทคระดับโลกก็ล้วนมีประวัติในการปฏิบัติกับพนักงานเยี่ยงปศุสัตว์มาแล้ว

ทว่าหากคุณคิดทบทวนแล้วว่า การทำงานหนักโดยสูญเปล่าไม่ได้ส่งผลดีกับทั้งตัวคุณ คนข้างกาย คนรอบข้างในบริษัท และองค์กร ก็จงถอยออกมาเสีย แล้วบอกกับทุกคนว่า ‘ขอให้โชคดี’ จบกันอย่างสวยงาม อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

แต่ในโลกนี้ บางทีเหตุผลตรงไปตรงมาก็ไม่ได้มีคนอยากรับฟัง และหัวหน้า-เพื่อนร่วมงานคุณบางส่วนก็คงไม่พร้อมที่จะรับฟัง

ทั้งหมดนี้อาจเป็นข้อคิดที่ดีในวันที่คุณเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ลองหยุดพักเสียบ้าง ค่อยๆ ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ ปัญหาใหญ่อาจทุเลาลง

อ้างอิง

https://www.linkedin.com/…/wait-what-i-have-work…/

https://www.indeed.com/…/pay…/how-to-ask-for-more-money

Tags: , ,