“เราผิดไหม จนตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร”
“อายุจะ 30 ปี แต่ชีวิตไม่มั่นคง หาตัวตนไม่ได้”
“ดูเพื่อนคนอื่นสิไปถึงไหนกันแล้ว”
เชื่อว่าไม่มากก็น้อยในบรรดาผู้อ่านต้องเคยฟังประโยคคำถามเหล่านี้มาบ้าง หรือบางคนอาจเป็นผู้กล่าวคำถามนี้ออกมาเองทั้งกับเพื่อน คนรอบตัว หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับตัวเอง
หากมาดูกันอย่างจริงจังแล้ว ชีวิตคนคนหนึ่งมีแรงกดดันอยู่มากมาย แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปข้างหน้าและละทิ้งค่านิยมที่ล้าหลังหลายอย่างไว้ข้างหลัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘สังคม’ ยังมีหมุดหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ชีวิตเราอยู่ แม้ไม่มีใครตั้งกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมาอย่างจริงจัง หรือมีรูปแบบแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ทุกคนต่างทราบและปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด
แน่นอนว่าในแต่ละสังคมล้วนมี ‘หมุดหมาย’ หรือ Milestone ในชีวิตที่ต่างกันออกไป ยกตัวอย่างสังคมตะวันออกที่มีค่านิยมว่า ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยตอนอายุ 22 ปี แต่งงานตอนอายุ 30 ปี มีลูกและซื้อบ้านก่อนอายุ 35 ปี ซึ่งการที่เราสามารถทำตามหมุดหมายเหล่านี้ได้อาจหมายถึง ‘ความสำเร็จ’ และหากเราไม่สามารถทำตามเดดไลน์เหล่านั้นได้ ก็อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่า ‘ล้มเหลว’ ในชีวิตได้เช่นกัน
เมลานี เคอร์ติน (Melanie Curtin) นักเขียนและนักกิจกรรม ทำการสำรวจสั้นๆ กับกลุ่มคนมิเลนเนียลจำนวน 300 คน หลังจากที่เธอรู้สึกว่าตัวเอง ‘ผิดหวังมากเกินไปจนส่งผลเสีย’ เนื่องจากเธอไม่ติดอันดับในรายชื่อ Forbes 30 Under 30 จนทำให้เธอรู้สึกว่า ตัวเองไม่เป็นที่น่าจดจำ เป็นสิ่งที่น่าอาย จนคิดว่าชีวิตที่ผ่านมาไม่ได้พยายามหรือทำอะไรมากพอ ในขณะที่เวลากำลังนับถอยหลังลงเรื่อยๆ
เคอร์ตินจึงทำแบบสอบถาม 3 เรื่องคือ 1. การวัดความสมบูรณ์แบบที่เราคาดหวัง (Self-oriented Perfectionism) เช่น การตั้งเป้าหมายในตัวเอง การตั้งมาตรฐานในชีวิต และต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ 2. การวัดความสมบูรณ์แบบที่เราคาดหวังในตัวคนอื่น (Other-oriented Perfectionism) เช่น เราคาดหวังให้คนอื่นทำตามสิ่งที่เราคาดหวัง หรือปฏิบัติต่อเราอย่างไรบ้าง และ 3. การวัดความสมบูรณ์แบบที่สังคมกำหนด (Socially Prescribed Perfectionism) หมายถึงการที่เราต้องรู้สึกสมบูรณ์แบบตามมาตรฐานที่สังคมหรือคนอื่นตั้งไว้ เช่น ต้องมีผลการเรียนที่ดี ต้องเป็นพนักงานตัวอย่างไม่ขาดไม่ลาแม้จะป่วย และต้องแต่งงานมีบ้านมีรถตอนอายุ 30 ปี
นอกจากนี้ผลสำรวจนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยระหว่างปี 1989-2016 พบว่า นักศึกษายุคใหม่แสดงลักษณะของความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นที่เด่นชัดที่สุดมาจากความคาดหวังทางสังคมที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งจำเป็น
“คนรุ่นใหม่ แข่งขันกันเรื่องความสำเร็จกับคนอื่นมากขึ้น เพื่อที่จะตอบสนองกับแรงกดดันทางสังคม ความสำเร็จ และความรู้สึกที่ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบถึงจะรู้สึกปลอดภัย เหล่านี้เชื่อมโยงกับสังคมและการมีคุณค่า” หัวหน้าผู้เขียนงานวิจัยกล่าว
เจฟฟรีย์ อาร์เนตต์ (Jeffrey Arnett) นักวิจัยอาวุโสจาก Clark University ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาวัยผู้ใหญ่ตอนต้น กล่าวว่า “เราถูกสร้างให้เรียนรู้และทำตามบรรทัดฐาน” ที่สำคัญคือเขาย้ำว่า “โดยทั่วไปแล้วเรามักทำตามที่สังคมคาดหวัง”
อาร์เนตต์อธิบายต่อว่า บรรทัดฐานเหล่านี้เกิดจากการผสมผสานของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่พัฒนามาเรื่อยๆ โดยเป็นผลมาจากความคิดและการตัดสินใจ ผ่านการพูดคุยของผู้คนนับล้าน โดยไม่มีใครควบคุมจริงๆ “สิ่งเหล่านี้พัฒนาไปเรื่อยๆ พวกเรารับรู้และปฏิบัติตามโดยไม่มีใครเป็นผู้กำหนด”
นักวิจัยอาวุโสจาก Clark University ยังอธิบายต่อว่า ครอบครัวมีอิทธิพลและบทบาทอย่างมากในการกำหนดบรรทัดฐานเหล่านี้
แม้ว่าเศรษฐกิจ การศึกษา และค่านิยมทางสังคมจะเปลี่ยนไป แต่ในแบบสำรวจทางสำมะโนประชากรสหรัฐฯ กลับพบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าควรมีความมั่นคงทางการเงินตั้งแต่อายุ 21 ปี แต่ในแบบสำรวจเดียวกันระบุต่อว่า คนทั่วไปมักจะเรียนจบมหาวิทยาลัยตอนอายุ 22 ปี
ความขัดแย้งของข้อมูลข้างต้นส่งผลต่อหมุดหมายในชีวิตของใครหลายคน หลายคนอาจรู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถทำตาม Milestone ได้ แม้จะพยายามอย่างหนักก็ตาม ส่งผลให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเครียดและกดดันอย่างมาก ทั้งการต้องเดินตามแบบแผนของคนรุ่นพ่อแม่ หรือบรรทัดฐานที่คนรุ่นก่อนๆ ปฏิบัติไว้ แม้ว่าบรรทัดฐานและความคาดหวังบางอย่างจะไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันก็ตาม
อีกผลสำรวจระบุว่า คนที่อายุมากกว่า 25 ปี ที่วางแผนจะแต่งงาน มีลูก และซื้อบ้านก่อนอายุ 30 ปี มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ ในทุกๆ เจเนอเรชัน โดยผู้ทำวิจัยระบุว่า การที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายในชีวิตในเวลาที่ตั้งไว้ได้ อาจเป็นสาเหตุของอาการ ‘ตายจากความสิ้นหวัง’
ทั้งการค้นหาตัวเอง การตั้งเป้าหมายในชีวิต ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง สิ่งสำคัญคือ เราควรตั้งคำถามกับตัวเองต่างหากว่า ความกดดัน ความคาดหวัง ความต้องการ เป้าหมาย และการเปรียบเทียบต่างๆ นานา เป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่คนอื่นหรือสังคมคาดหวังกันแน่
ไม่ใช่เรื่องที่ผิด หากเรายังค้นหาตัวเองไม่เจอ หรือยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และไม่ใช่เรื่องที่แปลก เพราะมนุษย์สามารถชอบหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง หรือมีความชอบที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาได้ ขอแค่เรามีความสุขในการใช้ชีวิตแต่ละวันก็พอ
ที่มา:
– https://www.bbc.com/worklife/article/20210315-the-tyranny-of-life-milestones
Tags: อายุ30, ประสบผลสำเร็จ, ความคาดหวัง, ความสมบูรณ์, WorkTips, เป้าหมาย