อันที่จริง การดูดวงเป็นศาสตร์เก่า เป็นศาสตร์ที่อยู่คู่กับบ้านเมืองมาหลายร้อยปี เป็นที่นิยมของคนทุกชนชั้น ตั้งแต่คนธรรมดาไปจนถึงพระมหากษัตริย์
ทว่า ผ่านมาจนถึงวันนี้ ศาสตร์ของการดูดวงก็ไม่เคยตกยุค ไม่ว่าจะเป็นการดูเวลาตกฟาก ดูลายมือ ดูวันเดือนปีเกิด ไปจนถึงการดูไพ่ยิปซี ไพ่ญี่ปุ่น ไพ่ยุโรป ก็ยังคงเป็นศาสตร์สมัยใหม่ที่อยู่คู่กับการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา วอลเปเปอร์โทรศัพท์แทบทุกคนของเพื่อนเราเป็นวอลเปเปอร์มงคล วงสนทนาเวลารียูเนียนเพื่อนฝูงเป็นเรื่องควรเปลี่ยนเบอร์ให้เป็น ‘เบอร์มงคล’ หรือไม่ ขณะที่หมอทั้งหลายมีคิวดูดวงยาวเหยียด ยิ่งแม่น ยิ่งถูกพูดต่อปากต่อปาก ยิ่งแม่น ยิ่งราคาแพง แม้ไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่าตัวจริงของพวกเขาเป็นใคร ขณะที่ฟากลูกค้าเอง ไม่ว่าใครที่เข้าวงการนี้ล้วนออกไม่ได้สักคน
คำถามก็คือแล้วทำไมการดูดวงถึงเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทำไมการดูดวงถึงเป็นที่โดนใจของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเรื่อง ‘งาน’ และ ‘เงิน’ ที่อยู่เหนือเรื่องความรักหรือเรื่องสุขภาพเสียด้วยซ้ำ
1. เด็กรุ่นใหม่อยู่ในยุคสมัยอัน ‘เคว้งคว้าง’ จากสภาพเศรษฐกิจ–สังคม–การเมือง
เด็กรุ่นใหม่นั้นอยู่ในสภาพอันน่าผิดหวัง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีช่วงไหนที่เศรษฐกิจรุ่งโรจน์เลย นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จีดีพีโตอยู่ในอัตรา 2-5% ต่อปีเท่านั้น ยิ่งช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จีดีพีไทยติดลบไปถึง 6% และจนถึงวันนี้ ก็ยังหาทางฟื้นไม่ได้
ในทางการเมืองก็เช่นกัน หากเด็กจบใหม่วันนี้อายุ 21 ปี แปลว่าเขาอยู่กับการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตั้งแต่อายุ 12 ขณะเดียวกัน ในช่วง 3 ปีหลัง เขายังต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์จากโควิด-19 อาจกล่าวได้ว่าช่วงชีวิตนี้ แทบไม่เคยมีช่วงเวลาที่เศรษฐกิจรุ่งโรจน์เลย
นั่นจึงทำให้เด็กรุ่นนี้เคว้งคว้าง เขาไม่สามารถเติบโตจากอาชีพการงานตามสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ได้ การทำธุรกิจในสมัยนี้ก็ยากยิ่ง ไม่เคยมีช่วงเวลาที่ท้าทายเท่านี้มาก่อน ความท้าทายเหล่านี้ผลักให้เด็กรุ่นใหม่ต้องพึ่งที่ปรึกษาสำคัญ เป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณอย่าง ‘หมอ’
2. ‘งาน’ นั้นหายาก
สืบเนื่องจากข้อแรก อัตราการว่างงานในประเทศไทยนั้นพุ่งสูง ตัวเลขของบัณฑิตจบใหม่โตไม่ทันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ น้องๆ จบใหม่ที่เข้ามาทำงานกับ The MOMENTUM บอกว่าส่วนมากของบัณฑิตรุ่นนี้ยังอยู่ในสถานะ ‘หางาน’ และหากได้งานในห้วงเวลานี้ต้องถือว่าโชคดีเป็นไหนๆ แล้ว
การงานนั้นหายาก จึงเป็นเหตุให้ ‘หมอดู’ หลายคนเป็นที่พึ่งทางใจได้ว่า ชีวิตควรจะไปอย่างไรต่อดี จะยอมรับงานที่เงินน้อย งานหนัก ดีไหม หรือสุดท้ายจะปฏิเสธงาน ยอมไปช่วยอาจารย์ทำวิจัย ไปสมัครเรียนปริญญาโท หรือไปใช้ชีวิต ทำงานร้านอาหารที่ออสเตรเลียก่อนดี
3. ต้องการที่พึ่งในทาง ‘จิตวิทยา’
ใช่ – หลายคนต้องการบุคคลที่สามที่ให้คำปรึกษา พ่อ–แม่ อาจให้กำลังใจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนเพื่อนเองก็ตกอยู่ในสถานภาพเดียวกัน อาจกำลังหางานอยู่ หรืออาจประสบปัญหาในการทำงานจากเพื่อนร่วมงาน หรือจากหัวหน้า ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ขณะที่อาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ออกจากโลกแห่งความเป็นจริงมานานเป็นสิบๆ ปี ไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ ทำให้คุณไม่สามารถหาทางออกได้ ส่วนจะให้ไปนัดเจอนักจิตบำบัด ก็รู้สึกว่าเรื่องอาจจะใหญ่ไป
วันหนึ่ง เพื่อนของคุณก็บอกว่า ได้คำตอบแล้ว มาจาก ‘หมอดู’ เขาก็ส่งไลน์ของหมอดูคนดังกล่าวให้กับคุณ แล้วคุณก็ลองโทรปรึกษาบ้าง กลายเป็นว่าเขาสามารถให้คำปรึกษาได้ดี สามารถบอกเรื่องที่เราอยู่แล้ว ตั้งใจจะทำอยู่แล้ว ให้เรามั่นใจมากยิ่งขึ้น และยังช่วยเตือนสติในช่วงเวลาอันวู่วาม สุดท้าย เสียงบอกต่อ ‘ปากต่อปาก’ นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในวงการดูดวง และหมอดูดังๆ ล้วนมาจากเสียงบอกต่อปากต่อปาก มากกว่าจะหาเจอในทวิตเตอร์ หรือหาเจอตามเพจต่างๆ ด้วยตัวเอง แน่นอน
บทความใน The Washington Post บอกว่า คนรุ่นใหม่สนใจเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น การอ่านดวงชะตา หรือรู้ดวงชะตา อาจไม่ได้มีส่วนประกอบในการตัดสินใจ แต่ทำให้ ‘อ๋อ’ ได้มากขึ้น หากเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่ตรงขึ้นมากับสิ่งที่ดวงชะตาได้ทำนายเอาไว้…
เพราะฉะนั้น ดวงชะตาอาจไม่ได้อยู่ในทุกมิติของชีวิตคุณ แต่การรู้ดวงล่วงหน้า ย่อมทำให้คุณอุ่นใจมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน
4. หมอดูที่ดี มักจะใช้ ‘จิตวิทยา’ เก่งจน ‘ฮีลใจ’ ได้
หมอดูที่ดีมักจะเจอลูกค้ามากหน้าหลายตา การเจอลูกค้าไม่ได้ทำให้ได้ ‘เงิน’ และ ‘ประสบการณ์’ เท่านั้น แต่ยิ่งทำให้รู้ว่าแพทเทิร์นที่คนดูดวงเป็นประจำต้องการนั้นคืออะไร การเก็บข้อมูลจากลูกค้าที่ดูประจำ จะทำให้หมอดูฝึกฝนจิตวิทยาว่าด้วยการใช้คำพูด การดำเนินเรื่อง และพูดในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ตรงใจ ถูกต้อง
ว่ากันว่า ศาสตร์ในการใช้จิตวิทยานั้น อาจสำคัญกว่าศาสตร์ในการดูดวงเสียเอง สำหรับหมอดูในโลกปัจจุบัน
5. ศาสนาไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคนรุ่นนี้ และไม่สามารถให้คำตอบได้ในหลายเรื่อง
เป็นที่รู้กันว่าอัตราการนับถือศาสนาของคนเจเนอเรชันใหม่นั้นน้อยลง และที่นับถืออยู่จำนวนมาก ก็เป็นการนับถือตามพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทำให้อัตราของคน ‘เคร่งศาสนา’ นั้น น้อยลงเช่นกัน
อัตราของผู้ที่นับถือศาสนาน้อยลง ย่อมแปลว่าการศึกษาหลักธรรม นั่งสมาธิ เข้าวัด-ทำบุญ หรือปฏิบัติตามหลักศาสนาอื่นก็ล้วนน้อยลงตามไป เมื่อขาดที่พึ่งทางใจ แล้วหันซ้ายหันขวาไม่สามารถหาคนช่วยเหลือได้ ‘หมอดู’ ในช่องทางต่างๆ จึงมีคุณค่าขึ้นมา
ใครบางคนกล่าวว่าหมอดูยุคนี้ อาจเป็นที่พึ่งของคนเจนใหม่ได้มากกว่า ‘พระ’ เสียอีก เพราะพูดจาน่าเชื่อถือกว่า และแม้กระทั่งจะพูดถึงหลักธรรม ก็ยังน่าฟังกว่าพระเทศน์…
6. เพราะการเข้าถึงนั้นง่ายแสนง่าย
ในอดีต เราอาจรู้สึกว่าการไปหาหมอดูที่ท่าพระจันทร์ หรือหมอดูใต้ต้นมะขามเป็นเรื่องใหญ่ หมอดูรุ่นพ่อรุ่นแม่เราอาจละลาบละล้วงข้อมูลบางส่วนมากเกินไปจนเราเกิดรำคาญ
แต่ปัจจุบัน ในโลกยุคอินเตอร์เน็ต โลกแห่งโซเชียลมีเดีย การเข้าถึงหมอดูเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่รับฟังจากเพื่อนแบบปากต่อปาก หาในติ๊กต่อก หรือเพื่อนส่งไลน์ต่อมาก็เข้าถึงได้แล้ว
บทความใน The Atlantic ไม่นานมานี้ย้ำว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นทำให้ทุกคนเชื่อในหลักดวงดาว โหราศาสตร์ และใช้การดูดวงประกอบการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ
ในสภาพสังคมอันผันผวน ขาดคนให้คำปรึกษา การดูดวงจึงเป็นเรื่องใหญ่ เคียงข้างกับการเดินสาย ‘มูเตลู’ ตามศาล วัด รูปเคารพต่างๆ
ส่วนจะเป็น ‘สูตรสำเร็จ’ หรือไม่ คงไม่ใช่… สุดท้ายขึ้นอยูกับความเชื่อ ความแม่น และหมอดูที่อาจเหมาะกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.theatlantic.com/health/archive/2018/01/the-new-age-of-astrology/550034/
https://www.washingtonpost.com/lifestyle/2023/06/13/astrology-millennials-gen-z-science/