“ดูสิ คนนี้สนิทกับหัวหน้าเป็นพิเศษ เขาต้องโตเร็วแน่นอน”

“คนนี้ทำงานไม่เห็นได้เรื่อง แต่ได้งานใหญ่ เขาต้องมีอะไรกับพี่xxx แน่ๆ”

“พี่ได้ยินมาว่า ทีมนั้นได้เงินเดือนมากกว่าเรา 3 เท่า วันๆ ไม่เห็นเขาทำอะไรเลย”

เรื่องราวเหล่านี้ มักเกิดขึ้นเป็นปกติในที่ทำงาน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ยิ่งอยู่รวมกันเยอะ มากคนก็มากความ ยิ่งมีหลายแผนก หลายฝ่าย ไม่ได้สื่อสาร ไม่ได้พูดคุย หรือมักจะมีการแบ่งฝ่าย เฉพาะกลุ่มเรื่องซุบซิบเหล่านี้ก็ยิ่งขยายใหญ่โต

สำหรับหลายคนอาจเป็นเรื่องน่ารำคาญใจ แต่ผลการวิจัยจาก เมแกน รอบบินส์ (Megan Robbins) และ อเล็กซานเดอร์ คาราน (Alexander Karan) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย UCLA มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาบอกว่าจากการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ออฟฟิศ พบว่า 85% นั้น บทสนทนามักจะเป็นเรื่องทั่วไปและไม่ได้ toxic อะไร เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั่วๆ ไป และมีราว 15% เท่านั้น ที่เป็นข้อมูลในแง่ลบ

กระนั้นเอง 15% ของการนินทาอาจส่งผลร้ายอย่างคาดไม่ถึง… เมื่อกลางปี 2021 ที่ผ่านมา Netflix บริษัทสตริมมิงยักษ์ใหญ่ของโลกไล่ พนักงานอาวุโสของตัวเองออกถึง 3 คน หลังจากมีพนักงานคนหนึ่งไปพบการแสดงความคิดเห็นเชิงนินทาเพื่อนร่วมงานผ่านแอพพลิเคชัน Slack ผู้บริหารให้เหตุผลว่าการนินทาในแอพพลิเคชันดังกล่าวไม่ใช่ครั้งเดียว แต่เป็นการเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายเดือน อีกทั้ง Netflix ยังกำหนดด้วยว่าการนินทาลับหลังนั้นขัดต่อวัฒนธรรมองค์กร

บทความในนิตยสาร Forbes รายงานว่า Netflix นั้น มีวัฒนธรรมที่ชัดเจนว่าด้วยความโปร่งใสขั้นสุด โดยหากจะมีฟีดแบ็คทั้งด้านดี และด้านร้าย ก็ต้องมี ต่อหน้าเท่านั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นลับหลัง และไม่ว่าจะเป็นล่างขึ้นบน บนลงล่าง หรือในระนาบเดียวกัน Netflix ก็ให้ทุกคนสามารถฟีดแบ็กกันและกันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมกับสร้างวัฒนธรรมที่ให้ทุกคนพร้อมน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และคำตำหนิติเตียนโดยไม่มี อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องได้เสมอ สิ่งที่องค์กรปรารถนาก็คือคถามที่ถามอยู่บ่อยครั้งว่า มีอะไรที่เราทำได้ดีกว่านี้ขึ้นอีกและถามคนอื่นๆ ว่า มีฟีดแบ็คอะไรอีกหรือไม่ที่ยังไม่ได้แชร์

“เราเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้น และเป็นคนที่ดีขึ้น หากสามารถทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ และฟีดแบ็คมีความตึงเครียดน้อยลง และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน ฟีดแบ็คเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารในที่ทำงานและควรเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน มากกว่าจะให้ฟีดแบ็คกันอย่างไม่เป็นทางการเพียงปีละครั้ง

“ขณะเดียวกัน คำติชมยังทำให้เราสามารถลดการนินทาว่าร้าย ทำให้เราสามารถสื่อสารกันได้อย่างตรงไปตรงมา และทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กันแบบมืออาชีพได้ดียิ่งขึ้น และเราก็สนับสนุนการฟีดแบ็คไปสู่บุคคลในระดับที่สูงกว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่เราพยายามแนะนำ และหวังจะเห็นในพนักงานทุกคน” คือข้อกำหนดที่มีให้กับพนักงานทุกคนที่ทำงานกับ Netflix

เมื่อข้อกำหนดขีดเส้นไว้เช่นนี้ จึงทำให้พนักงาน 3 คน ถูกไล่ออกอย่างชัดเจนเมื่อนินทาผู้อื่นต่อเนื่องติดต่อกันหลายเดือน แม้จะไม่ได้มีลักษณะ บุลลีเหยียดผิว หรือ เหยียดเพศ ก็ตาม…

แต่นั่นเป็นเรื่องของ Netflix การนินทาว่าร้ายผู้อื่นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในองค์กรอื่นๆ แม้การทำงานแบบ Work from Home ทำให้คนเจอหน้ากันน้อยลง แต่การนินทานั้นไม่ได้ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการทำงานที่บ้านเต็มรูปแบบเปลี่ยนไปสู่การทำงานแบบ Hybrid และมีคนสองจำพวก คือพวกที่อยู่บ้าน และพวกที่อยู่ออฟฟิศ

ซารา เจ เพอร์รี (Sara J. Perry) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการประจำมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา บอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจ หากคนที่เข้าออฟฟิศพร้อมกันมักจะจับกลุ่มกันและพูดคุยเกี่ยวกับคนที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศ จนสุดท้ายได้กลายเป็นการแบ่ง พวกเราและ พวกเขา’ 

เมื่อไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันพร้อมหน้า สิ่งที่ตามมาก็คือการขาดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานและผู้นำ สภาพจิตใจเปราะบางมากขึ้น เมื่อไม่ได้เจอกันพร้อมหน้าทั้งหมด ผสมปนเปกับการขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอน ความไม่คลุมเครือ สิ่งที่ตามมาคือคำถาม คำถาม และ คำถาม และแน่นอน บรรดาเรื่อง Gossip แปลกๆ ทั้งหลาย

แอนโธนี วีลเลอร์ (Anthony Wheeler) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการและคณบดีคณะบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยไวด์เนอร์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา บอกว่า ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือเรื่องนินทาไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว แต่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้นำไม่สามารถสื่อสารได้ดี วัฒนธรรมองค์กรไม่ได้แข็งแรง และพนักงานต่างก็ไม่ไว้ใจกัน

ในขณะที่วัฒนธรรมองค์กรไม่ได้แข็งแรงนัก วัฒนธรรมย่อยก็ก่อตัวขึ้น เกิดเป็นช่องทางสื่อสารที่มากขึ้น กลายเป็นเรื่อง Gossip ที่หลากหลาย และเกิดจากหลายมุมมอง”

และเพียงแค่การประชุมซูมแต่ละครั้ง พนักงานคนหนึ่งไม่ยอมเปิดกล้อง เรื่องนินทาก็อาจจะขยายใหญ่โต “เขากำลังทำอะไร”​ “เขาหลับหรือเปล่า” หรือ “เขาทำงานนอก” “เขาซ่อนใครไว้” ล้วนกลายเป็นเรื่องนินทาได้เสมอ หากความไม่ไว้ใจเกิดขึ้น

แล้วหัวหน้าควรทำอย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่าไม่มีทางที่หัวหน้าจะหยุดเรื่องเหล่านี้ได้เหมือนกับทฤษฎีโลกสวยของ Netflix เพราะเรื่องนินทาถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ในฐานะ สัตว์สังคมและยิ่งห้ามนินทา ก็ยิ่งมีแต่จะทำให้พนักงานรู้สึกแปลกแยก ทำให้พนักงานลาออกมากขึ้น ทั้งยังลดประสิทธิภาพการทำงาน

ไบรอัน สตาลลิงส์ (Brian Stallings) ผู้บริหารของบริษัท Lucid Software ผู้ผลิตแพลตฟอร์มการทำงานออนไลน์ของสหรัฐฯ เห็นว่าเรื่อง Gossip นั้น ช่วยทำให้พนักงาน คลายเครียดได้ และในบางครั้งก็ช่วยเชื่อมพนักงานเข้าด้วยกัน ช่วยขจัดความเหงาและความเบื่อหน่าย ทั้งยังเป็นรูปแบบหนึ่งของความบันเทิง เรื่องของการนินทาจึงดำเนินต่อไปไม่ว่าการทำงานจะเป็นการทำงานที่ออฟฟิศ หรือเป็นการทำงานในลักษณะไฮบริดก็ตาม

เพราะฉะนั้น การนินทาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถควบคุมได้ ด้วยวิธีอย่าง

– จัดระบบฟีดแบ็คอย่างสม่ำเสมอแบบเดียวกับ Netflix

– ตั้งกฎไว้ว่าห้ามนินทาผู้อื่นลับหลังในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน และอาจต้องมีการตักเตือน มีบทลงโทษ หากเริ่มมีการแบ่งฝ่าย มองคนอื่นด้วยอคติ เป็น พวกเขา’ – ‘พวกเรา’ 

สร้างช่องทางสื่อสารโดยตรงกับหัวหน้างาน หรือคนอื่นๆ ผ่านช่องทางอาทิ กล่องรับฟีดแบ็คสื่อสารกับหัวหน้าโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงความกระอักกระอ่วน หากต้องพูดถึงคนอื่นโดยตรงซึ่งๆ หน้า

ด้วยวิธีเหล่านี้ อาจลดดีกรีความรุนแรง ลดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือ การเมืองภายในไปได้ แต่สุดท้าย สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือเรื่อง Gossip จะไม่หายไปจากออฟฟิศ เรื่อง Gossip จะยังคงอยู่ต่อไป แต่หากควบคุมได้ ไม่ทำให้เกิดผลร้ายกับใครเป็นวงกว้าง

ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายเช่นเดียวกัน หากจะนินทาใครสักหน่อยตอนเช้า หรือตอนพักเที่ยงกินข้าวกลางวัน ตามธรรมชาติของมนุษย์ จะได้เพิ่มรสชาติอาหารให้เอร็ดอร่อยยิ่งขึ้น เติมแรงพลังให้สามารถทำงานจนถึงเย็นได้ต่อไป

เพียงแต่ต้องพึงระลึกไว้ อย่าทำให้ใครเสียหาย โดยไม่ได้มีโอกาสชี้แจง และอย่าให้กระทบกับ การงานเป็นวงกว้างเท่านั้นเอง…

 

ที่มา

https://www.fastcompany.com/90807155/how-work-gossip-has-changed-in-the-age-of-hybrid-work

https://jobs.netflix.com/culture

https://www.shrm.org/resourcesandtools/hr-topics/employee-relations/pages/office-gossip-policies.aspx

https://www.bbc.com/worklife/article/20210818-why-gossiping-at-work-is-good-for-you

https://www.betterup.com/blog/gossip-in-the-workplace

Tags: , , , ,