ปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ กำลังรุนแรงขึ้นทั่วโลก สภาวะเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่สภาพถดถอย หรือ Recession รอบใหม่ และแน่นอนว่า ‘ค่าแรง’ และ ‘รายได้’ ล้วนปรับขึ้นไม่ทันกับค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ‘คนรุ่นใหม่’ มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งน้อยกว่าคนรุ่นก่อนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความ ‘ไม่มั่นคง’ ในระบบเศรษฐกิจ โดยทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจโตเฉลี่ยที่ 7.2% ทว่าในทศวรรษ 2010 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยเพียง 3.6% สะท้อนถึงโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งและสร้างรายได้ที่ลดลง

ผลสำรวจของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาด้านการบัญชีบิ๊กโฟร์ชื่อดัง สำรวจกลุ่ม Gen Z ที่เกิดระหว่างปี 1995-2000 และมิลเลนเนียลส์ที่เกิดระหว่างปี 1984-1995 พบว่า กว่า 1 ใน 3 ของ Gen Z กังวลที่สุดเกี่ยวกับ ‘ค่าครองชีพ’ ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ 45% ใช้ชีวิตแบบได้รับ ‘เช็ค’ ในแต่ละเดือนเพื่อจ่ายหนี้ ขณะที่ 1 ใน 3 กังวลว่าเมื่อถึงเวลาเกษียณ พวกเขาอาจต้องประสบกับความยากลำบากในชีวิต

ด้านบทความใน BBCwork ระบุว่า แม้ปัญหาเศรษฐกิจจะกระทบกับคนทุกเจเนอเรชัน หากสำหรับ Gen Z ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 นั้นรุนแรงกว่า เหตุเพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งเรียนจบ เพิ่งเริ่มสร้างตัว ก็ได้รับผลกระทบด้านการเงินเสียแล้ว ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่สามารถวางแผนด้านการเงิน ไม่สามารถวางแผนอนาคตในระยะยาวได้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั้งหลายทั่วโลก ต่างก็บอกว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้วที่พวกเขาจะกังวล

เพราะนับตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 คนรุ่น Gen Z ต่างก็ได้รับผลกระทบด้านความ ‘ไม่มั่นคง’ อยู่ก่อนแล้ว ผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตอนใต้ จาก the World Economic Forum’s Centre for the New Economy and Society แสดงให้เห็นว่า เมื่ออายุเท่ากัน คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะมี ‘บ้าน’ เป็นของตัวเองได้น้อยกว่าคนรุ่นก่อนหน้าอย่างชัดแจ้ง

กอนซาโล พาส-พาโด (Gonzalo Paz-Pardo) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งธนาคารกลางยุโรป ระบุเหตุผลสำคัญก็คือราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉลี่ยนั้นสูงขึ้นมาก หากเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าการที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเป็นเจ้าของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ได้นั้น ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากเป็น เพียงแต่พวกเขาไม่สามารถซื้อบ้านได้

นอกจากรายได้จะน้อย และการงานไม่มั่นคงแล้ว ยังพบว่าปัญหาอีกอย่างมาจาก ‘ค่าครองชีพ’ ผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า ค่าครองชีพนั้นพุ่งสูงเกินกว่าค่าแรงไปมาก จนพบว่า Gen Z ในปัจจุบันนั้น มีกำลังซื้อน้อยกว่าบรรดาเบบี้บูมเมอร์ หรือกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ช่วงปี 1945-1960 ในช่วงเวลาที่พวกเขาเหล่านี้มีอายุเท่ากันถึง 86%

ยิ่งไปกว่านั้น โรคระบาดยังได้สร้างความยากลำบากทางการเงินให้กับ Gen Z ข้อมูลการสำรวจในสหรัฐฯ เช่นกันพบว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 18-35 ปี กว่า 59% ต่างก็ตัดสินใจ ‘ชะลอ’ เหตุการณ์สำคัญในชีวิต เป็นต้นว่า ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน และมีลูก สูงกว่าคนอายุ 35-55 ปี ที่ตัดสินใจชะลอเรื่องดังกล่าวในอัตรา 40% และลดลงเหลือ 23% สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามที่อายุ 55 ปีขึ้นไป

และปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อยังถมปัญหานี้ให้รุนแรงขึ้น แน่นอนว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนหลายพันล้านคนลำบากขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 9.9% และ 8.3% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อในอาร์เจนตินาพุ่งสูงถึง 78.5% และตุรกีประสบปัญหาเงินเฟ้อพุ่งกว่า 80% ในส่วนของไทย อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 6.7% พร้อมกันนี้ยังซ้ำเติมด้วยราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในระดับวิกฤตในอีกหลายประเทศ

โลกที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ ‘หนี้’ ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น การออมเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ต้องพูดถึงกองทุนสำรองฉุกเฉิน การเก็บออมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือการสร้างครอบครัวเผื่อสำหรับวัยเกษียณ

ด้าน แคสเซนดรา มาตินเชก (Kassandra Martinchek) ที่ปรึกษาวิจัยประจำองค์กรคลังสมอง Urban Institute Center on Labor, Human Services and Population ในสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์เมื่อทศวรรษก่อนอย่าง Hamburger Crisis เมื่อปี 2008 นั้น ยังหลอกหลอนกลุ่มมิลเลนเนียลส์ ซึ่งต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในห้วงเวลานั้นพอดี โดยคนรุ่นนี้ต้องเจอกับปัญหาค่าแรงที่ต่ำเตี้ย และหางานทำอย่างยากลำบาก ซึ่งล้วนทำให้ประสบปัญหาในการวางรากฐานอนาคต นอกจากนี้ แม้จะผ่านมานานหลายปี แต่คนรุ่นนี้ ก็ยังได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่า และเลื่อนขั้นได้ยากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เจอเหตุการณ์ Recession

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นว่า การเข้าสู่ตลาดแรงงานของคนรุ่นนี้หลังการระบาดของโรคระบาดใหญ่ ความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจ และภาวะที่ทั่วโลกอาจเข้าสู่สภาพ Recession อีกครั้ง บรรดา Gen Z อาจประสบปัญหาในภาวะที่ใกล้เคียงกัน หรืออาจเจอกับสภาพที่หนักหน่วงกว่า และเมื่อเริ่มต้นได้ยากในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน การเก็บออมหรือการใช้ชีวิตหลังจากนั้นย่อมยากลำบากอย่างถึงที่สุด

ผลกระทบที่ตามมายังปรากฏในเชิงจิตวิทยา ผลสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมาในสหราชอาณาจักร พบว่า 83% ของบรรดา Gen Z รู้สึก ‘กดดัน’ ในการไปให้ถึงเป้าหมาย เมื่อเทียบกับตัวเลข 77% ของคนรุ่นก่อนหน้า และ 66% ของคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1975 ลงไป จนถึงวัยเบบี้บูมเมอร์ที่รู้สึกกดดันในช่วงเวลาที่มีอายุเท่ากัน

เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ ‘เงิน’ ล้วนหมายรวมถึงเรื่องอารมณ์และเรื่องจิตใจ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ต้องดิ้นรนเรื่องการเงิน ย่อมส่งผลกระทบไปถึงชีวิตทุกด้าน รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างและความสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากนี้ เมื่อมีความเครียดด้านการเงิน ย่อมทำให้คนรุ่นนี้อาจมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง หรือออกไปเที่ยวกับเพื่อนฝูงน้อยลง กลายเป็นผลกระทบเชิงสังคม ที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต

บทสรุปของเรื่องนี้ก็คือ โลกจะได้เห็นคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จด้านการเงินได้เหมือนที่รุ่นพ่อรุ่นแม่พวกเขาเคยทำ และชีวิตของพวกเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ไปเรื่อยๆ เป็นทั้งความรู้สึก ‘พ่ายแพ้’ และการ ‘ปีนเขา’ ที่สูงชันขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งยากที่จะรู้ตอนจบ

ปัญหาสำคัญก็คือในโลกอันยุ่งเหยิงนี้ คนทั่วโลกก็ยังไม่มีโอกาสรู้ได้ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในสภาวะอันยากลำบากนี้ และยังต้องจัดการกับจิตใจตัวเองว่าโลกนี้ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และจะไม่มีอะไร ‘ง่าย’ อีกต่อไปแล้ว

 

ที่มา

https://www.bbc.com/worklife/article/20221013-why-gen-z-are-right-to-be-worried-about-money

https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/global/Documents/deloitte-2022-genz-millennial-survey.pdf

Tags: , , , ,