เหลืออีกไม่กี่วันจะเข้าสู่วันหยุดยาว หลายคนต้องกลับไปรวมญาติ เด็กต้องกลับไปเจอผู้ใหญ่ Reconnect และอัปเดตชีวิตกันอีกครั้ง ทันทีที่วันหยุดยาวเริ่มเติม

อันที่จริง เทศกาลรวมญาติน่าจะเป็นไปด้วยดี แต่เรื่องที่ยากลำบากก็คือเทศกาลแบบนี้ถือเป็นเทศกาลอันน่ากังวลใจเมื่อ ‘ญาติผู้ใหญ่’ บางคนก็ไม่ได้น่ารัก คำถามที่พบบ่อยในช่วงเวลาอย่างนี้ มีคำถามยอดนิยมอยู่ 3 ข้อ ที่บรรดาญาติผู้ใหญ่ของเราๆ มักจะชอบถาม และอยากรู้เป็นพิเศษ ทั้งที่ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรของพวกเขา

The Momentum รวบรวมวิธีตอบคำถามแบบไล่เรียงเป็นขั้นตอน เป็นการตอบคำถามแบบ ‘วิชาการ’ ในเรื่องส่วนตัวเหล่านี้ ซึ่งคุณอาจนำไปลองใช้ตอบญาติผู้ใหญ่ หรือหากญาติผู้ใหญ่ของคุณได้อ่านบทความนี้ก็จะเป็นการดี เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมคนอีกรุ่น อีกเจเนอเรชันถึงไม่อยากตอบคำถามเหล่านี้มากนัก… เผื่อบางทีคราวหน้า จะได้เตรียมคำถามที่ทำให้บทสนทนาราบรื่นมากกว่านี้

 

1. เงินเดือนเท่าไร?

อันที่จริงคำถามเรื่องเงินเดือนเป็นหนึ่งในคำถามสุดอ่อนไหว เงินเดือนเท่าไรเป็นเรื่องที่องค์กรมักจะเก็บเป็นความลับเสมอ ในแง่หนึ่งคือการรู้เงินเดือนเท่ากับการสร้างความแตกแยกเมื่อใคร เพราะสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือในที่ทำงานหนึ่งๆ มี ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เรื่องเงินเดือนอยู่เสมอ และมักจะมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้เงินเดือนของพนักงานไม่ได้เท่ากัน เป็นต้นว่า บางคนเข้าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี บางคนถูก ‘ซื้อตัว’ เข้ามาจากที่อื่น ทั้งที่ไม่ได้เก่งจริง หรือการอนุมัติของหัวหน้า และฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั้นๆ หาได้มีมาตรฐานเพียงพอ

แล้วทำไมคุณป้า คุณน้า หรือคุณปู่ถึงชอบถามเงินเดือนเรานัก? – หากเป็นญาติผู้ใหญ่ใจดี (และมีฐานะพอสมควร) ก็อาจเอาเงินใส่มือให้เราขณะกลับบ้าน แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นในทางตรงกันข้ามคือเอาเงินเดือนไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ได้เยอะกว่า มั่นคงกว่า หรือมีสวัสดิการอื่นๆ เป็นต้นว่า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะไม่มีใครถามถึงเงินเดือน 

ปัญหาสำคัญก็คือเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนนั้น สัมพันธ์เป็นอย่างยิ่งกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ประเทศไทยมีการการันตีเงินเดือนขั้นต่ำเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 ซึ่งรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขยับเงินเดือนข้าราชการที่จบปริญญาตรีขึ้นเป็น 1.5 หมื่นบาท (และโดนด่าทั่วบ้านทั่วเมือง) แต่การการันตีเงินเดือนก็หยุดอยู่แค่นั้น วันนี้ ยังมีห้างร้าน องค์กรบางส่วน ที่ยังใช้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย 

ปี 2565 ที่ผ่านมา อเด็คโก้ ประเทศไทย สำรวจพบว่าเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับเด็กจบใหม่อยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ที่แปลกคือเป็นอัตราที่ ‘เท่าเดิม’ ในขณะที่ตำแหน่งงานนั้นลดลงกว่า 24% และในเวลาเดียวกับที่อัตราค่าครองชีพในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอื้อซ่า

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้หลายบริษัทปรับลดเงินเดือนลง รัดเข็มขัด หรือหาทางเอาคนออก ผลกระทบอันน่าเศร้าก็คือ นอกจากจะมีเด็กจบใหม่นับล้านๆ คนตกงานแล้ว คนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ก็ไม่ได้มีเงินเดือนมากพอในระดับที่ ‘อยู่ได้’  

ไม่ว่าใครจะหลอกเราก็แล้วแต่ ทว่าตัวเลขนั้นหลอกไม่ได้ ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ GDP นั้น อยู่ในระดับทรงตัว แถวๆ 1 – 4% มาเนิ่นนาน นับตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มต้นเมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน จากนั้น การเมืองก็ไม่ได้มีเสถียรภาพ ไม่ได้มีนโยบายที่ต่อเนื่อง ประเทศไทยหาตัวเองไม่เจอ ไม่สามารถเป็นศูนย์กลางการลงทุนในระดับภูมิภาคได้ ทำได้เพียงการเป็นประเทศรับจ้างผลิต ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงโฆษณาได้แต่โครงการก่อสร้างถนนหนทาง ว่าเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่ดีแล้ว

วกกลับมาที่เงินเดือน – การที่เงินเดือนไม่ได้เพิ่ม GDP ไม่ได้โต ขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่เดิม ทำให้เงินเดือนไม่ได้สูงขึ้นตามไป นั่นทำให้ทุกคนที่เป็นเด็กจบใหม่อยู่ในวงจร อยู่ในวัฏจักรที่เงินเดือนต่ำ หลายคนน่าสงสารที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริง หรือเป็นได้ว่า ถ้าอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วพวกเขาจะ ‘รวย’ กว่านี้มาก…

เมื่อเงินเดือนต่ำ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องตอบคำถามใคร เพราะฉะนั้น หากคุณป้า คุณน้า หรืออาม่า อยากรู้ ก็ลองอธิบายความเป็นไป – ประวัติศาสตร์ของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การการันตีขั้นต่ำ และเรื่อง GDP การลงทุน – ภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้เขาดูว่าทำไมเราถึงเงินเดือนน้อย และทำไมเราถึงไม่อยากตอบคำถามนี้

 

2. มีแฟนหรือยัง? 

สัมพันธ์กับข้อแรก ในสภาพที่เพิ่งตั้งตัว สภาพเศรษฐกิจ และสภาพสังคมเป็นเช่นนี้ การตัดสินใจจะเลือกคบใคร หรือเลือกไม่คบใคร ย่อมเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะแค่หาเลี้ยงตัวเองก็ไม่พอแล้ว

แต่ในสังคมแบบไทยๆ ซับซ้อนกว่านั้น มีแฟนหรือเป็นโสดนั่นเรื่องหนึ่ง แต่มีแฟนเป็นใครนั้นเรื่องใหญ่กว่า คนมีประสบการณ์ย่อมรู้ดีว่าใครก็แล้วแต่ที่คุณเลือกคบจะถูกวิจารณ์ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา นิสัย บุคลิก ท่าเดิน ปอกผลไม้เป็นไหม หรือล้างจานสะอาดหรือไม่ คู่ควรพอกับลูกหลานเขาหรือไม่

ถึงจุดนี้ ในบรรดาผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ญาติพี่น้องจะเลือกให้จับคู่กับคนที่มี ‘สถานะทางเศรษฐกิจ/สังคม’ ใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น ส่งไปเรียนโรงเรียนดังหรือโรงเรียนนานาชาติ ตั้งแต่เด็ก เพื่ออย่างน้อยจะได้แวดล้อมด้วยที่อยู่ในสภาพเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน หรือจัดสภาพสังคมที่ทำให้วัยลูก วัยหลาน พบกันได้ง่ายขึ้น เรื่องมันอาจไม่ได้ซับซ้อนประเภท ‘คลุมถุงชน’ เหมือนเมื่อ 40-50 ปีก่อน แต่พ่อแม่ผู้ปกครองผู้มีอันจะกินเลือกวิธีที่ง่ายกว่านั้นโดยการจัดสภาพสังคม – การศึกษา ให้ลูกตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด 

แต่ถัดจากนั้นลงมา คนธรรมดา คนกลางๆ ต่างก็หาแฟนยากขึ้น ข้อมูลจาก 101PUB ที่ทำร่วมกับ สสส. เมื่อเร็วๆ นี้ เปรียบกรุงเทพฯ เสมือน ‘ศาลาเยาวชนโสด’ ขนาดใหญ่ โดยผลสำรวจเยาวชนวัย 15-25 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า เยาวชนในมหานครแห่งนี้ถึง 53.5% เป็นโสด มิได้คบหาแฟนหรือคนรักแม้แต่คนเดียวในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 48.1% และหากไม่พบรักในสถานศึกษาหรือที่ทำงานแล้ว ก็มีโอกาสน้อยลงในการพบคนรักในอินเตอร์เน็ต (33.5%) ส่วนพื้นที่สาธารณะนั้นต่ำที่สุด มีอัตราเพียง 4.1% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน เมื่อ 4 ปีก่อน นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) และอาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum รวบรวมข้อมูลบอกว่าเมืองอย่างกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีทั้ง ‘ต้นทุน’ ที่สูง ทั้งเรื่องค่าครองชีพ ค่าที่อยู่อาศัย การขาดพื้นที่สาธารณะให้คนได้พบปะกัน และขาดสวัสดิการสังคมในระยะยาว 

ด้วยเหตุนี้ หากญาติผู้ใหญ่ท่านถามว่ามีแฟนหรือยัง และยังไม่อยากตอบก็ลองอธิบายดูว่าในเมืองใหญ่เมืองนี้ให้เลี้ยงตัวเอง ด้วยรายรับเท่านี้ ด้วยค่าใช้จ่ายขนาดนี้ ก็เป็นเรื่องยากลำบากมากแล้ว…

 

3. เมื่อไรจะแต่งงาน?

ขั้นตอนต่อไปหลังจากคบกับแฟนมาได้ระยะหนึ่งก็คือ เมื่อไรจะแต่งงาน… อันที่จริงคำถามนี้ก็เป็นคำถาม ‘ส่วนตัว’ มากๆ เพราะการแต่งงานมักจะเป็นการตกลงใจกันของคนสองคน และหากยังไม่พร้อม ทั้งเรื่องการลงหลักปักฐาน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงาน หรือเรื่อง ‘เวลา’ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตอบคำถามกับญาติพี่น้องง่ายๆ

อันที่จริงการแต่งงานในยุคนี้ ถือเป็นเรื่องยากลำบากพอสมควร ด้วย ‘ค่าจัดงาน’ ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีใครควบคุม ค่าจัดงานมีตั้งแต่ค่าถ่ายภาพพรีเวดดิง ค่าแต่งหน้าทำผม ค่าเช่าสถานที่ ค่าอาหารจัดเลี้ยง หรือออแกไนเซอร์ทั้งพิธีจีน ไทย ฝรั่ง หรือกระทั่งเรื่อง ‘สินสอด’ ที่หลายครอบครัวก็ยังเคร่งครัด

ทั้งหมดนี้ การจัดงานแต่งงานอาจมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท ซึ่งก็ต้องลุ้นอีกครั้งว่าการ ‘ใส่ซอง’ จากแขกเหรื่อที่มาในงานในยุคนี้ยังคุ้มอยู่หรือไม่

ขณะเดียวกัน หากการแต่งงาน หมายถึงการลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัว ก็ต้องหาที่อยู่ใหม่ ปัญหาคือราคาอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ นั้นแพงขึ้นเรื่อยๆ การลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัว อย่างน้อยก็ต้องมีคอนโดมิเนียมขนาดเกิน 30 ตารางเมตร ซึ่งในเขตเมืองรอบนอก ที่รถไฟฟ้าผ่าน เดินทางได้สะดวกสบายนั้น ต้องมีอย่างน้อย 3 ล้านบาท และหากสร้างครอบครัวไม่สะดวกสำหรับคอนโดมิเนียม ก็ต้องว่ากันถึงทาวน์เฮาส์ที่ ณ วันนี้ ในสถานที่ตั้งที่ยังพอเดินทางเข้าเมืองได้สะดวกสบาย ราคาพุ่งเกิน 6 ล้านบาท ไปแล้ว

ที่สำคัญคือรัฐยังขาดนโยบาย Housing ต่างจากในหลายประเทศ ไม่ได้สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ให้เด็กจบใหม่มีที่อยู่ราคาสมเหตุสมผลเป็นของตัวเอง หากแต่ปล่อยให้แต่ละคนต้องหาเช่า หาซื้อ ตามยถากรรม ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ‘บ้าน’ และ ‘คอนโดมิเนียม’ จึงทะยานขึ้นเรื่อยๆ ตามกลไกตลาด ทั้งที่เงินเดือน-รายได้ขั้นต่ำแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย

ยังไม่นับรวมคำถามที่ว่าเมื่อมีลูกหลานแล้วจะให้เรียนหนังสือที่ไหน… เป็นที่รู้กันว่าระบบการศึกษาไทยไม่ได้มีคุณภาพเพียงพอในการผลิตเด็กให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ผลิตเด็กให้มีคุณภาพได้เพียงพอในการต่อสู้กับชาติอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหาทางส่งลูกไปเข้าโรงเรียนดีๆ แพงๆ ให้ได้ โรงเรียนดีๆ เช่น เซนต์คาเบรียล วัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพคริสเตียนนั้น มีค่าเทอมอยู่ในหลักหลายหมื่นบาท และต้องจ่ายเพิ่มอีกหากต้องการหลักสูตรภาษาอังกฤษ  

และแน่นอนว่าการเรียนในโรงเรียนนั้นไม่เพียงพอ ผลการสำรวจโดย 101PUB และ สสส.พบว่า เยาวชนกว่า 1 ใน 3 คิดเป็น 35.1% ทุ่มทรัพยากรไปกับการเรียนพิเศษ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะครู และโรงเรียน ไม่พร้อมที่จะทำให้พวกเขาเก่งขึ้น นั่นหมายความว่าผู้ปกครองต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอย่างน้อยอีกหลักหมื่นบาทเพื่อให้ลูกได้เรียนพิเศษให้ทัดเทียมกับลูกหลานคนอื่น

เหตุและปัจจัยทั้งหมดที่ยังไม่แต่งงาน ยังไม่นับรวมความมั่นคงทางอาชีพ สถานะทางการเงินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ไปจนถึงความพร้อมในการใช้ชีวิตคู่ เพราะฉะนั้น ‘เมื่อไรจะแต่งงาน’ จึงมิใช่เพียงคำถามสนุกๆ แต่เป็นคำถามจริงจัง ที่ชวนให้ต้องคิดถึงเหตุและปัจจัยทั้งหมด

การตอบคำถามเหล่านี้ ด้วยวิธีแบบนี้อาจทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่อาจสบายใจขึ้น หรือมีบทสนทนาใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้มอง ‘ภาพกว้าง’ ว่าทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทุกคนในสังคมต้องเผชิญ และเรื่องพวกนี้จะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยบริบทโลกขณะนี้

การใช้ชีวิตในฐานะ First Jobber เป็นคนรุ่นใหม่ในสภาวะโลกอันผันผวน โลกหมุนเร็วขึ้น และอยู่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยถดถอย เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเท่ากับในช่วงเวลาที่คุณป้า คุณน้า คุณพ่อ คุณแม่ เติบโต

ขอเพียงเข้าใจกันบ้างว่าสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อมทั่วโลกเป็นอย่างไร และทุกวันนี้พวกเราใช้ชีวิตกันอย่างลำบากเพียงใด พร้อมกับแสดงความเห็นใจ ส่งแรงสนับสนุนกันบ้าง หรือเปิดบทสนทนาใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง

งานรวมญาติพี่น้องจะน่าไปมากขึ้นอีกเยอะ!

 

อ้างอิง

https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/overview-salary-guide-2022

https://themomentum.co/interview-niramon-kulsrisombat-uddc/

https://101pub.org/bangkok-youth-love/

https://101pub.org/shadow-education-in-thailand/

Tags: , , , ,