เคยเป็นไหม บางทีรู้สึกว่า ใช้พลังกับการจัดการมากแล้ว แต่ก็แก้ปัญหาร้อยแปดไม่ได้ รู้สึกไหม ทำงานอะไร ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งเมื่ออายุประมาณหนึ่ง เริ่มต้องทำหน้าที่บริหารจัดการ ลูกน้อง’ ในออฟฟิศ เริ่มต้องเป็นตัวกลางประสานระหว่าง ข้างบนกับ ข้างล่างก็เริ่มมีจิตใจว้าวุ่น ไม่สามารถจัดการอะไรได้โดยง่าย และไม่สามารถยึดหลักการบางอย่างในการจัดการกับ คนได้

ใช่ จัดการคนถือเป็นเรื่องท้าทายที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะคนมีหลากประเภท หลายรูปแบบ มากแนวคิด ยิ่งมากคน ก็ยิ่งมากความ และแต่ละคนก็มีพื้นฐาน มีความต้องการที่แตกต่างกัน เมื่อไม่สามารถจัดการอะไรได้ เวลานั้นหลายคนจึงมักจะแชร์ คำพระหรือ คำคมต่างๆ เพื่อปลอบประโลมจิตใจหรือให้กำลังใจตัวเอง

น่าสนใจก็ตรงที่คนที่เริ่มแชร์เรื่องเหล่านี้ เริ่มต้นจากการไม่เชื่อ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย บางคนเรียกตัวเองว่า ‘ไม่มีศาสนา’ ด้วยซ้ำ แต่อยู่มาวันหนึ่ง ก็เริ่มศรัทธา เริ่มยึด คำพระแชร์โควตหลวงพ่อ หลวงปู่ พุทธทาสภิกขุ ธรรมะกระตุกจิตกระชากใจแบบ ‘อาจารย์แดงกีตาร์’ กระทั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าข่ม 

ความจริงลึกๆ แล้วก็ไม่ใช่ไม่มีสาเหตุที่หลายคนเลือกเข้าหาธรรมะในยามทุกข์ใจ Work Tips สัปดาห์นี้ ช่วยค้นหาคำตอบว่า ทำไมหลายคนเลือกเข้า ‘ทางพระ’ เมื่อจัดการอะไรไม่ได้ด้วยตัวเอง

1. จิตใจว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ต้องการสงบสติอารมณ์ 

ในวันที่หาทางออกไม่ได้และทางแก้ไขปัญหามีมากกว่า 2-3 แนวทาง สิ่งที่หลายคนต้องคิดคือจะทำอย่างไรต่อ หากไม่สามารถจัดระบบความคิดได้ ก็จะฟุ้งซ่านต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

การจัดระบบความคิดที่ดีที่สุดหนีไม่พ้นการทำสมาธิ อันที่จริงการทำสมาธิไม่ใช่หลักการในทางพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่คือจัดการกับจิตใจฟุ้งซ่านของตัวเอง ทำจิตนิ่งๆ คิดค่อยๆ หาทางแก้ไขปัญหา และบางครั้งก็คือการตระหนักว่า “เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง” บางเรื่องถ้าจิตนิ่งๆ มีเวลาคิดจัดลำดับความสำคัญ 1 2 3 4 เริ่มคิดออกแล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ดีขึ้น

กระนั้นเอง บางคนอาจตัดสินใจทำสมาธิ วิปัสสนา หรือ ‘ดีท็อกซ์’ เข้าคลาสอบรมการเรียนสมาธิ เข้าป่าไปบวชเลยก็มี บางครั้งอาจเป็นด้วยการทำสมาธิเบื้องต้นอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากพอ หรืออาจติดใจเข้าสู่ทางธรรมไปกับสาย ‘พระป่า’ ไปเลยก็มี

2. มีหลายอย่างที่ ควบคุมไม่ได้’ 

บางเรื่อง เราสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง แต่หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยอีกร้อยแปดประการ 

ยกตัวอย่างเช่น หากสามารถจัดการเรื่องภายในทีม ภายในองค์กรได้ แต่อยู่ดีๆ ‘ลูกค้า’ ก็ปฏิเสธสิ่งที่องค์กรเสนอไป เพราะงบประมาณไม่พอ หรือมีข้อเสนอที่ดีกว่า บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่อาจตัดสินใจลงทุนผิดที่ผิดทาง เพราะอยู่ดีๆ การเมืองก็เปลี่ยนทิศ โครงการใหญ่ที่ลงทุนไปก่อนขาดทุนมหาศาลเข้าข่ายล้มละลาย บริษัทหลายแห่งตัดสินใจลงทุนไปก่อน แต่อยู่ดีๆ เกิดวิกฤตโควิด-19 จนต้องปิดประเทศ เรื่องพวกนี้ล้วนเป็นเรื่องที่คุมไม่ได้และจัดการตัวเองไม่ได้ทั้งสิ้น

ปัจจัยทั้งหมดต่อให้ใช้หลักบริหารดีแค่ไหนก็ควบคุมไม่ได้ บางครั้งเป็นเรื่องของ อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล บางครั้งเป็นเรื่องของ คำสั่งที่ไม่ต้องการอย่างอื่น นอกจาก เขาต้องการแบบนี้ ขณะที่บางอย่างเป็น ‘ปัจจัยภายนอก’ ที่ทำให้สิ่งที่คาดการณ์-คาดคะเนไว้ประสบปัญหา เจอกับทางตัน

การเป็นผู้บริหารต้องอยู่ตรงกลาง เมื่อควบคุมอะไรไม่ได้ ก็ไม่รู้จะหวังพึ่งอะไร ถึงวันหนึ่ง เขาก็จะแชร์ธรรมะ เพื่อปลอบใจตัวเองว่าได้แค่นี้ก็ดีแล้ว

เรื่องพวกนี้ ทำเอาหลายคนเข้าทางธรรม หวังจะสนใจธรรมะมากขึ้น เป็นต้นว่า กฏอิทัปปัจจยตา พยายามทำความเข้าใจ ‘กฎเกณฑ์ของสรรพสิ่ง’ ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ และค่อยๆ หาเหตุแห่งการดับทุกข์

แน่นอนว่าแม้เข้าใจเหตุ แต่บางครั้งก็อาจแก้ปัญหาไม่ได้ แต่การศึกษาธรรมะอาจช่วยให้ ‘เย็น’ ลง เข้าใจโลกได้มากขึ้น เข้าใจทุกข์ได้มากขึ้น

3. ใช้ธรรมะเพื่อทำความเข้าใจ คน’ 

ปัญหาใหญ่หลายที่ทำงานคือความไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจหลายอย่างเป็นเรื่อง ‘ความโกรธ’ เป็นเรื่องความอิจฉาริษยา บางที่เป็นเรื่องคนพาล บางเรื่องเป็นการพยายามทำความเข้าใจกับความผิดพลาด ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์

แต่ทั้งหมดนี้ บางครั้งเราอาจไม่เข้าใจเลยว่าการตัดสินใจบางอย่างเป็นด้วยเหตุอะไร ทำไมบางคนถึงมีความอยากมากเกินพอดี ขณะที่บางคนก็ทุกข์เสียเหลือเกินจนต้องหาทางดับทุกข์ในที่สุด

เมื่อหาคำตอบไม่ได้ บางครั้งก็เข้าทางธรรม อันที่จริงพระพุทธเจ้า รวมถึงพระสงฆ์ยุคใหม่หลายรูปที่พยายามพูดถึงเรื่องการทำความเข้าใจกับคน และทำความเข้าใจ ‘ทุกข์’ ที่เกิดกับคน

“เมื่อยึดถือติดคาอยู่ว่าจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งมั่นหมายลงไป ครั้นสิ่งต่างๆ นั้นหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ตรงกับที่ยึดอยากมั่นหมาย เราก็ถูกบีบคั้นกดกระชากบดขยี้ เป็นภาวะที่เรียกว่าความทุกข์” ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เคยเขียนไว้ในหนังสือ

4. ‘ตถตา’ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง

อันที่จริง หลักการของ ‘ตถตา’ เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามหายาน ซึ่งมีความหมายถึง ‘ความเป็นเช่นนั้น’ การเป็นอย่างนั้น เป็นอีกชื่อหนึ่งของ ‘ปฏิจจสมุปบาท’ ซึ่งหมายความว่าโลกนี้อยู่ภายใต้ลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่บางครั้งเราไม่สามารถจัดการอะไรได้ พุทธทาสภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระสงฆ์ผู้ ‘แหกขนบ’ ชื่อดัง อธิบายคำว่า ‘ตถตา’ ขึ้นใหม่ โดยพยายามบอกว่า เมื่อไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ก็ให้ทำความเข้าใจ 

 พุทธทาสภิกขุเมื่อไม่สามารถจัดการได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือทำความเข้าใจ บางอย่างต้องใช้คำพุทธอธิบาย ว่าสุดท้าย มันก็เป็นเช่นนั้นเอง 

ตถตา นี้สำคัญมาก ถ้าเห็นแล้วปุถุชนก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้า เพราะถ้าเห็นแล้วก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆในโลก โดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็น ตัวกู-ของกู

“ก็เพราะเขาไม่เห็นความความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งนั้นๆ เพราะเขาไม่รู้ หรือโง่เขลาต่อสิ่งนั้นๆ จึงไปยึดเอาเป็นสิ่งที่น่ารักมีความรัก และโกรธในสิ่งที่ชวนให้โกรธ เกลียดในสิ่งที่ชวนให้เกลียด กลัวในสิ่งที่ชวนให้กลัว แล้วก็เป็นทุกข์เอง” คือคำปราศรัยของพุทธทาสภิกขุ ที่กลายเป็นหลักธรรมอันโด่งดัง และกลายเป็นพุทธแนวใหม่ ที่ไม่ใช่ว่าด้วยการทำบุญ แต่คือการทำความเข้าใจกับชีวิต เสมือนหนึ่ง ‘ปรัชญา’ 

หากทำความเข้าใจ ‘ชีวิต’ ได้ การทำงานก็จะง่ายขึ้น การจัดการกับคนก็จะเบาขึ้น ‘แบก’ อะไรน้อยลง

เพราะสุดท้าย… มันก็เป็นเช่นนั้นเอง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://www.pagoda.or.th/buddhadasa/2019-05-24-10-14-12.html

https://www.watnyanaves.net/th/book-reading/542/4

Tags: , , , ,