หากอ้างอิงตามทฤษฎีมาตรฐานอุตสาหกรรม (Thermal Environmental Conditions for Human Occupancy) โดยปกติต้องกำหนดให้อุณหภูมิของอาคารและสำนักงานอยู่ในระดับที่ 80% ของผู้อยู่อาศัยในอาคารแห่งนั้นยอมรับ ดังนั้นปัจจุบันวิศวกรและผู้จัดการอาคารจึงมักกำหนดการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยใช้สูตรที่เรียกว่า Predicted Percentage of Dissatisfied (PPD) ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยในช่วงปี 1960 ที่ทำการทดลองกับนักเรียนประมาณ 1,300 คน

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าอุณหภูมิร่วมตรงนี้จะเป็นความพึงพอใจของพนักงานทุกคน บ่อยครั้งเราจะเห็นภาพการปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้ลดต่ำลง เพื่อให้ใครสักคนในออฟฟิศรู้สึกเย็นขึ้นเมื่อเขาบ่นว่าร้อน และนั่นก็กลายเป็นการกระทำที่ทุกคนต่างยอมรับได้ ผ่านความเชื่อที่ว่า ‘ให้อากาศเย็นจนหนาวสั่นก็ยังดีกว่าปล่อยให้ร้อนจนเหงื่อแตกพลั่ก’

แต่รู้หรือไม่ว่า ข้อสรุปเช่นนี้กลับไม่ส่งผลดีกับใครเลย เพราะบางครั้งออฟฟิศที่หนาวเย็นเกินไป นอกจากจากอาจส่งผลทำให้พนักงานป่วยไข้ได้แล้ว ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ความคิดของพนักงานอีกด้วย โดยเฉพาะพนักงานเพศหญิง

อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ PLOS ONE ซึ่งได้ทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 543 คน ในการแก้โจทย์ปัญหาตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเล่นเกมผสมตัวอักษร โดยต้องทำแบบทดสอบที่เตรียมไว้หลายชุด ในห้องที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันตั้งแต่ 16-32 องศาเซลเซียส

ผลปรากฏว่าผู้ทดลองเพศหญิงสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นในด้านคณิตศาสตร์และภาษา เมื่ออยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิม โดยเพียงแค่ความแตกต่าง 1 องศาเซลเซียส สามารถทำให้คะแนนได้ดีขึ้นถึง 2% ส่วนผู้ทดลองที่เป็นผู้ชายจะมีผลกระทบต่อการทำงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้น เรื่องอุณหภูมิในออฟฟิศจึงเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบกับพนักงานทุกภาคส่วน และจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการแก้ไขในท้ายที่สุด โดยในเบื้องต้นเหล่าพนักงานสามารถแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้าด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. อย่าปล่อยให้ออฟฟิศเกิดสภาวะ ‘เย็นกระจุก ร้อนกระจาย’

บ่อยครั้งที่สาเหตุส่วนใหญ่ของออฟฟิศที่หนาวเกินไป เป็นเพราะการถ่ายเทของอากาศไม่ดีพอ จนทำให้บางจุดอากาศจากเครื่องปรับอากาศเข้าไม่ถึง จึงทำให้พนักงานออฟฟิศต้องเร่งเครื่องปรับอากาศให้เย็นขึ้น จนท้ายที่สุดก็จะเย็นจนเกินไป ส่วนใหญ่ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับออฟฟิศที่ติดเครื่องปรับอากาศเครื่องใหญ่ไว้จุดเดียวมากกว่าการติดเครื่องปรับอากาศแบบเดินท่อลมที่กระจายไปทั่วอาคาร

วิธีแก้ไขคือหากปรับรูปแบบการติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้เป็นแบบเดินท่อทั่วออฟฟิศได้ จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่หากไม่สามารถทำได้ พนักงานในออฟฟิศอาจต้องปรับตำแหน่งการนั่ง รูปแบบการจัดโต๊ะ กระทั่งการวางตู้ หรือสิ่งต่างๆ ที่บดบังการถ่ายเทอากาศ เพื่อให้ความเย็นกระจายไปทั่วทั้งห้องได้มากที่สุด

2. แสงที่อบอุ่นภายในออฟฟิศสามารถช่วยได้

มีงานวิจัยของ เดวิด ชิพเวิร์ท (David Shipworth) ผู้เขียนร่วมและนักวิจัยจาก UCL Energy Institute ระบุว่า แสงสีส้มในห้องสามารถส่งผลต่อความรู้สึกให้รู้สึกอบอุ่นได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางอากาศที่หนาวก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากการอยู่ในแสงสีฟ้าหรือสีขาวที่ไม่ส่งผลทางความรู้สึกแต่อย่างใด

ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้แสงไฟสีส้ม สร้างบรรยากาศในออฟฟิศที่อบอุ่น ก็ช่วยคลายหนาวทางใจลงไปได้เช่นกัน

3. ถามเพื่อนร่วมงานทุกคนถึงสภาพอากาศที่หนาวเกินไป

อย่างที่เกริ่นไปในข้างต้นว่า การตั้งค่าอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศใช้การอ้างอิงจากความเห็นร่วมกันของคนในอาคารกว่า 80% ดังนั้นสุดท้ายแล้ว การปรึกษากันของพนักงานออฟฟิศถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดก็สามารถช่วยแก้ไขเรื่องอากาศในที่ทำงานระยะยาวได้

ทั้งหมดก็เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาพอากาศที่เหมาะสมในที่ทำงาน

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/features-48424312

https://www.popsci.com/office-summer-cold/

https://www.vox.com/2015/8/3/9082541/office-cold-air-conditioning

https://aircondlounge.com/6-solutions-to-office-air-conditioner-too-cold/

Tags: , , , ,