นับตั้งแต่ที่โลกเผชิญกับโควิด-19 องค์กรเล็กใหญ่ต่างต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน บ้างก็จัดตารางสลับวันให้พนักงานเข้าออฟฟิศ ลดเวลานั่งทำงานในบริษัท และจำเป็นที่จะต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทำงานและสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
วิธีการทำงานแบบ WFH มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือลดความเสี่ยงเรื่องคลัสเตอร์โควิด-19 ส่วนข้อเสียที่จะเกิดขึ้นคือ ‘ภาวะหมดไฟ’ หรือ Burnout Syndrome ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ เพราะเมื่อเทียบกับกิจวัตรปกติตั้งแต่ออกเดินทางไปทำงาน แวะซื้อกาแฟ พูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบกับเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ กลายเป็นว่าการทำงานที่บ้านทำให้เราแค่ลุกจากที่นอนเพื่อพบกับงานกองโต บางวันอาจต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมง ทำให้บ้านไม่ใช่เซฟโซนไว้พักผ่อนเหมือนเดิมอีกต่อไป
คริสติน เอ็ม. ครอว์ฟอร์ด (Christine M. Crawford) แพทย์และผู้อำนวยการด้านจิตเวชจาก National Alliance on Mental Illness เปิดเผยถึง 5 วิธีลดภาวะหมดไฟเมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยเหลือคนทำงานที่กำลังเผชิญกับภาวะดังกล่าวก่อนการหมดไฟจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า ดังต่อไปนี้
1. ออกกำลังกายบริหาร
การนั่งทำงานหรือประชุมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ พร้อมกับนั่งกินข้าวไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและความดัน เพราะร่างกายไม่เผาผลาญไขมัน วิธีออกกำลังกายเบาๆ ในบ้านอย่างเดินขึ้นลงบันได กระโดดตบ วิ่งเหยาะอยู่กับที่ และทำสควอช อย่างต่ำวันละ 1-2 นาที จะช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉงตลอดวัน หรือออกไปเดินสูดอากาศหน้าบ้าน แบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่นั่งจมจ่อมหน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว
2. ยืดหลัง
การนั่งหลังขดหลังแข็งจดจ่อหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ คือต้นตอหลักของโรคออฟฟิศซินโดรม การยืดหลัง หมุนไหล่ ขยับบริเวณต้นคอ 30-60 วินาที จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว เลือดลมสูบฉีดหล่อเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น
3. ลดขนมขบเคี้ยว
กลูโคสจากการกินน้ำตาลหรือช็อกโกแลตช่วยทำให้สมองมีความจำที่ดียิ่งขึ้น แต่ถ้ากินในปริมาณที่มากเกินไปก็ไม่ดีแน่ ดร.คริสตินจึงเสนอให้กินผลไม้หรือธัญพืชแทนความหวานจากช็อกโกแลต เช่น ลูกพรุน ลูกเกด ถั่วชนิดต่างๆ หรือจะนำไปผสมกับขนมขบเคี้ยวในอัตรา 2 ส่วน 3 เพื่อลดปริมาณขนมก็ได้
4. การดื่มน้ำ
หลายคนน่าจะเคยนั่งทำงานนานๆ จนลืมดื่มน้ำ ทำให้เลือดสูบฉีดหัวใจไม่มากพอ นานวันเข้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อม จึงจำเป็นต้องวางขวดน้ำ กระติกน้ำ แก้วน้ำ จิบที่ละนิดเมื่อรู้สึกกระหาย ถ้าต้องการเพิ่มรสชาติอาจเติมน้ำมะนาวหรือฝานแตงกวาใส่ลงเพิ่มความสดชื่น ทดแทนการดื่มน้ำอัดลม และถ้าจะให้ดีควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 1.5 ลิตร
5. พักสายตาจากการทำงาน
การยึดติดกับงานนานจนเกินไปคือจุดเริ่มต้นของการสะสมความเครียด หากมีเวลาพัก แนะนำสลับหน้าจอไปดูคลิปวิดีโอตลก อ่านบทความดีๆ ในโซเชียลมีเดียบ้างก็ไม่เสียหาย
ดร.คริสตินยังแนะนำเทคนิคเพิ่มเติมสำหรับแบ่งเวลาพักผ่อนเมื่อต้องทำงานที่บ้าน ด้วยเทคนิคการจัดการเวลาอย่างเหมาะสม (Pomodoro Technique) คือ แบ่งเวลาพัก 30 นาที ทุก 3 ชั่วโมง หากรู้สึกเหนื่อยล้าให้พักไปทำอย่างอื่นประมาณ 10 นาที
เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ ควรพักผ่อนจากการทำงานจริงๆ งดเปิดคอมพิวเตอร์หรือเปิดโทรศัพท์เพื่อเช็กข้อความเกี่ยวกับงาน จัดทริปเพื่อผ่อนคลายกายใจตัวเอง ออกกำลังกาย พบปะเพื่อนฝูง ทำงานบ้าน และเตรียมพร้อมก่อนจะต้องกลับมาลุยงานสัปดาห์ต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องหมดไฟจากการทำงาน
ที่มา:
https://health.usnews.com/…/taking-a-break-from-work
https://www.indeed.com/…/caree…/taking-a-break-from-work
Tags: Burnout, Work From Home, Work Tips, การทำงาน