ปีเก่าผ่านมาแล้ว หันซ้ายหันขวาทำไมเพื่อนๆ จากหลายบริษัทถึงได้รับโบนัสกันนะ หรือบางคนทำงานดี ทำงานเก่งก็ได้รับเงินตอบแทนการทำงานที่สมน้ำสมเนื้อ (Performance Bonus)
แล้วทำไมมนุษย์เงินเดือนแบบฉันถึงไม่เคยได้รับโบนัสเลย จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า ‘โบนัสคืออะไร’ เพราะเกิดมาไม่เคยสัมผัสโมเมนต์นี้เลย แม้สักครั้งก็ยังไม่เคย
แต่ช้าก่อน ก่อนที่จะเริ่มสาธยายถึงข้อดีของการมีโบนัส อยากให้ทุกคนทราบก่อนว่า เงินโบนัสไม่ใช่เงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้าง ตามความหมายในมาตรา 5 แห่งเพราะราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า ‘ค่าจ้าง’ หมายถึง เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง เช่น เงินค่าจ้าง, ค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าชดเชยต่างๆ ดังนั้นการให้โบนัสจึงเป็นการตัดสินใจของนายจ้าง และการขึ้นอยู่กับผลประกอบการณ์ในแต่ละปี
แม้ไม่มีกฎหมายกำหนด แต่การมี ‘โบนัส’ ส่งผลดีต่อบริษัทอย่างไร?
อยากให้ทุกคนลองหลับตาจินตนาการภาพว่า จู่ๆ หัวหน้าขอให้คุณไปพบลูกค้าในวันหยุด จนคุณต้องพลาดเวลาสำคัญกับคนคนรัก เพื่อน และคนในครอบครัว หรือต้องประชุมในวันหยุดและล่วงเวลาการทำงาน คุณจะทำไหม?
งานวิจัยของ แอชลีย์ วิลแลนส์ (Ashley Whillans) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากหน่วยวิจัยด้านการเจรจาต่อรอง องค์กร และตลาดของ Harvard Business School ระบุว่า พนักงานมักจะตัดสินใจว่าจะใช้เวลากับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัว โดยพิจารณาจากเรื่องพื้นฐานอย่างเงินเดือน ค่าตอบแทนที่เหมาะสม โดยเฉพาะการที่ได้รับโบนัสจากการทำงาน หรือได้รับเงินเดือนคงที่โดยไม่ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้วิจัยยังกล่าวต่อว่า พนักงานที่ได้ค่าตอบแทนตามผลงานจะใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวน้อยลง 2% ต่อวัน และใช้เวลากับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานมากขึ้น 3% และเมื่อเฉลี่ยเป็นเวลาตลอดทั้งปี พบว่าพนักงานจะใช้เวลากับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานเพิ่มขึ้นกว่า 8 วันต่อปี เมื่อเทียบกับพนักงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามผลงาน
นอกจากนี้งานวิจัยเรื่อง Performance Pay and Productivity โดย เอ็ดเวิร์ด พี. ลาเซีย (Edward P. Lazear) ซึ่งเป็นงานที่ศึกษาความเกี่ยวข้องของเศรษฐศาสตร์แรงงานและแรงจูงใจทางการเงิน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบริษัท Safelite Glass Corporation เพื่อตรวจสอบสมมติฐานเกี่ยวกับผลกระทบของการจ่ายค่าจ้างแบบคิดตามผลงาน (Piece Rates) โดยพบว่า ประสิทธิภาพและผลผลิตของพนักงานเพิ่มขึ้น หลังจากเปลี่ยนไปใช้ระบบค่าจ้างตามผลงาน ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทหลายด้าน เช่น บริษัทสามารถดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถมากขึ้น และบริษัทจะได้รับผลผลิตระหว่างพนักงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากบางคนสามารถทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าคนอื่น
ทั้งนี้งานวิจัยยังชี้ให้เห็นผลลัพธ์ที่สำคัญคือ 1. อัตราการผลิตของพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 44% 2. บริษัทพบว่า ระบบค่าจ้างเดิมนั้นไม่เหมาะสม (Suboptimal) และ 3. การเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบใหม่ช่วยให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น
โดยสรุปง่ายๆ การมอบเงินโบนัสเป็นวิธีที่บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดีขึ้น ช่วยให้พนักงานมีความมั่นใจในรายได้ และเป็นการขอบคุณการทำงานตลอดทั้งปี
แต่การให้โบนัสไม่ว่าจะเป็นรายปี ตามผลงานรายบุคคลหรือทีม ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการของแต่ละบริษัท แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยคือ ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น ค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าชดเชยต่างๆ ควรได้รับอย่างถูกต้องและเที่ยงธรรม
แม้ว่าบางบริษัทจะไม่มีโบนัสพิเศษ แต่การไม่เอาเปรียบลูกจ้างหรือพนักงาน ก็เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผลมากขึ้นเช่นกัน
ที่มา:
–https://www.library.hbs.edu/working-knowledge/how-bonuses-get-employees-to-choose-work-over-family
– https://www.jstor.org/stable/2677854
Tags: โบนัส, เงินเดือน, กฎหมายแรงงาน, พนักงาน, ลูกจ้าง