8 ชั่วโมงสำหรับการทำงาน แบ่งกับ 8 ชั่วโมงเพื่อพักผ่อน และอีก 8 ชั่วโมงแห่งสันทนาการ

เวลาที่ว่านี้คือผลลัพธ์จากการต่อสู้ของขบวนการแรงงานในสหรัฐอเมริกาเมื่อศตวรรษที่ 19 ที่ต่อสู้กับเวลาทำงานเดิมที่ยาวนานถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน และทำงานยาวนาน 6-7 วันต่อสัปดาห์ บางครั้งต้องกินนอนในโรงงานเพื่อผลิตสินค้าให้ทันความต้องการของตลาด จนขบวนการแรงงานได้ร่วมกันต่อสู้ชูประเด็นการทำงานแบบ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่นานมานี้ หลายประเทศเริ่มหันมาทดลองให้มนุษย์เงินเดือนทำงานน้อยลงจากเดิม เหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ หรือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เห็นได้ชัดจากการขยับของกลุ่มภาคธุรกิจกว่า 70 แห่งในสหราชอาณาจักร ผ่านแคมเปญ ‘4 Day-Week Global’ ที่มีเป้าหมายสร้างสมดุลในชีวิต (Work Life Balance) เป็นผลจากงานวิจัยหลายแห่งที่ชี้ให้เห็นว่า พนักงานที่ทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง

แคมเปญดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยลดความเครียด ลดภาวะหมดไฟในการทำงาน และลดภาวะซึมเศร้าของพนักงานออฟฟิศได้ ผ่านสูตรการทำงาน 100-80-100 ที่พนักงานจะได้รับเงินเดือน 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าชั่วโมงการทำงานจะลดลงเหลือเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทจะได้งานที่มีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์

การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ส่งผลดีต่ออะไรบ้าง?

1. ประสิทธิภาพงานดีขึ้น

การเปลี่ยนแนวคิดการทำงานจากเดิมที่ยึดโยงกับชั่วโมงการทำงานเป็นหลัก แต่ให้บริษัทหันมามองที่คุณภาพและผลลัพธ์ของงานแทน ผลทดลองการลดชั่วโมงการทำงานของหลายบริษัทหลากธุรกิจทั่วโลกชี้ไปในทางเดียวกันว่า การลดชั่วโมงการทำงานส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

2. คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น

พนักงานมีเวลาดูแลจัดการตัวเอง เมื่อมีเวลาว่างได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ก็จะส่งผลให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายดีตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดภาวะเครียด หมดไฟ และภาวะซึมเศร้า ผลการทดลองยังกล่าวอีกว่า พนักงานที่ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มีอัตราลาป่วยน้อยลง แสดงให้เห็นว่าเมื่อพนักงานมีสุขภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุข ผลลัพธ์เหล่านี้จะส่งผลดีต่อองค์กรอีกด้วย เมื่อพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงาน จะก่อให้เกิดความรักต่อองค์กร และสุดท้ายจะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

การลดเวลาทำงานเกี่ยวอะไรกับสิ่งแวดล้อม? หากมองดูแล้ว แทบทุกกิจกรรมของมนุษย์ล้วนสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ส่งผลเสียต่อโลก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเมื่อเวลาการทำงานลดลง อัตราการเดินทางที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงตามลำดับ และเมื่อแรงงานมีเวลามากขึ้น วิถีชีวิตมนุษย์ออฟฟิศก็จะเปลี่ยนไป เช่น อัตราการสั่งอาหารเดลิเวอร์รีลดลง เพราะมีเวลาทำอาหารกินเอง

4. ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

การลดวันทำงานลงเกี่ยวอะไรกับความเท่าเทียมทางเพศ? ปกติแล้วเพศหญิงจะต้องเป็นผู้แบกรับบทบาท ‘แม่’ พวกเธอมักถูกคาดหวัง ถูกผลักภาระให้กลายเป็นคนดูแลงานบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามี ตามวลีที่ว่า ‘งานในอย่าให้ขาด งานนอกอย่าให้พร่อง’ การลดเวลาทำงานจึงส่งผลให้ผู้ชายมีเวลาว่างมากขึ้น อาจสามารถช่วยงานบ้านและช่วยเลี้ยงดูลูกได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาดูแลลูกอีกด้วย

ปัจจุบัน มีประเทศใดบ้างที่เริ่มเปลี่ยนมาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กันมากขึ้น?

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเบลเยียมได้รับสิทธิการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือนเต็มอัตรา ซึ่งพนักงานสามารถตัดสินใจเองว่าจะทำงาน 4 หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ ภายใต้ความรับผิดชอบงานที่เท่าเดิม

บริษัทอีกแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรเริ่มทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ นาน 6 เดือน เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการทำงานที่สั้นลง โดยมี 50 บริษัททั่วประเทศเข้าร่วม คิดเป็นพนักงานกว่า 3,000 คน เข้าร่วมโครงการ 4 Day-Week Global แคมเปญนี้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston university) และกลุ่มคลังสมองออโตโนมี (Autonomy)

ไอซ์แลนด์ก็เริ่มนำร่องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2015-2019 โดยลดเวลาการทำงานลงเหลือ 35-36 ชั่วโมง จาก 40 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมโครงการนี้จำนวน 2,500 คน ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ชัดว่าการลดชั่วโมงการทำงานเพิ่มประสิทธิภาพของงานมากขึ้น

ในปี 2015 สวีเดนเคยทดลองการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ผ่านข้อเสนอลดเวลาทำงานเหลือ 6 ชั่วโมงต่อวันแทนการทำงาน 8 ชั่วโมง แต่ผลลัพธ์ของการศึกษาครั้งนี้ให้คำตอบที่หลากหลาย มีทั้งพอใจและหลายฝ่ายมองว่าสิ้นเปลืองเงินมากเกินไป

ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศที่พิจารณาให้ลดการทำงานเหลือ 4 วัน ภายใต้เงื่อนไขลดจำนวนเงินเดือนลงด้วย ประเด็นนี้นับเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไป เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนักจนมีพนักงานเสียชีวิตจากการทำงานหนักมาแล้ว

 

ที่มา

https://www.4dayweek.com/why-pilot

https://www.euronews.com/next/2022/06/06/the-four-day-week-which-countries-have-embraced-it-and-how-s-it-going-so-far

Tags: , ,