“การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้รถฉีดน้ำปราบปรามผู้ชุมนุมเป็นการเดินหมากผิด”
“รัฐบาลพยายามต้อนผู้ชุมนุมให้เข้าตาจน”
“ทะเล่อทะล่าเข้าไปแบบไม่ดูตามาตาเรือจะเพลี่ยงพล้ำเอาได้”
“ทุกคนลุ้นใจจดใจจ่อว่าเกมนี้จะมีใครล้มกระดานหรือไม่”
แม้ว่าเดี๋ยวนี้หมากรุกจะไม่ได้เป็นที่นิยมกว้างขวางเหมือนแต่ก่อนเพราะเริ่มถูกเบียดตกขอบโดยเกมกระดานรุ่นใหม่หรือเกมบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ยังหยั่งรากลึกอยู่ในภาษาไทย อย่างที่เห็นได้ในสำนวนต่างๆ โดยเฉพาะสำนวนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนกลยุทธ์ในการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่าย ซึ่งต้องใช้สติปัญญา ความสามารถในการเดาใจคู่ต่อสู้และคาดการณ์ล่วงหน้า และความถี่ถ้วนในการมองเหตุการณ์ให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ เนื่องจากแต่ละก้าวที่เลือกเดินอาจส่งผลต่อสถานการณ์ในอนาคตและผลแพ้ชนะ (เหมาะกับการนำมาใช้อธิบายการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาลในขณะนี้ที่สุด)
แม้ว่าตัวหมากและกติกาของหมากรุกแบบตะวันตกอาจจะต่างจากหมากรุกไทยบ้าง เช่น มีบิชอป แทนที่จะมีโคน และบิชอปสามารถเดินในแนวทแยงได้ทั้งกระดานในขณะที่โคนเดินได้แค่หน้าสามหลังสอง แต่โดยพื้นฐานก็ยังคงเป็นเกมที่ต้องอาศัยการวางแผนและการตัดสินใจอันเฉียบคมเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นที่มาของสำนวนที่นำมาใช้ในภาษาทั่วไปอีกด้วย
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูที่มาของคำว่า ‘chess’ ที่ใช้เรียก ‘หมากรุก’ และศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายในภาษาอังกฤษที่มีที่มาจากเกมหมากรุก
คำว่า chess มาจากไหน
หมากรุกแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากเกม
กระดานที่ชื่อ จตุรงค์ (Chaturanga) ในอินเดียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 ส่วนที่เรียก จตุรงค์ ก็เพราะเกมกระดานนี้ประกอบด้วยพลทหารสี่เหล่า คือ พลทหารช้าง พลทหารม้า พลทหารรถม้า และพลทหารราบ
ในเวลาต่อมา เกมกระดานนี้ก็เดินทางผ่านเส้นทางสายใหม่ไปสู่เปอร์เซีย เมื่อไปถึงดินแดนใหม่ ชื่อก็เพี้ยนกลายไปเป็น chatrang อีกทั้งยังมีกติกาว่า เมื่อรุกตัวหมากกษัตริย์ของอีกฝ่าย จะต้องพูดว่า Shah ซึ่งหมายถึง กษัตริย์ (หรือที่คนไทยเรียก พระเจ้าชาห์) ในภาษาเปอร์เซียด้วย
ภายหลังดินแดนเปอร์เซียถูกชาวอาหรับมุสลิมเข้าพิชิต เกมนี้จึงเริ่มแพร่หลายในโลกมุสลิม จนในที่สุดก็เดินทางไปจนถึงยุโรป
ในขณะที่ชาวยุโรปบางกลุ่ม เช่น ชาวสเปนและโปรตุเกส นำคำว่า chatrang มาใช้เรียกชื่อเกมกระดานนี้ (ภาษาสเปนปัจจุบันเรียกหมากรุกว่า ajedrez มาจาก al-shatranj ในภาษาอาหรับ) แต่บางกลุ่มกลับนำคำว่า shah มาใช้แทน เช่น ในภาษาละติน คำว่า shah ถูกนำมาทำเป็นคำว่า scacchi เพื่อใช้เรียกหมากรุก (ปรากฏอยู่ในคำว่า scacchic ในภาษาอังกฤษ เป็นศัพท์ยากที่แปลว่า เกี่ยวข้องกับหมากรุก) ส่วนในภาษาฝรั่งเศสเก่า คำว่า shah ก็กลายมาเป็นคำว่า eschec (เอกพจน์) หมายถึง ตัวหมากรุก และ esches (พหูพจน์) หมายถึง เกมหมากรุก
ในท้ายที่สุด ภาษาอังกฤษก็รับคำว่า esches จากภาษาฝรั่งเศสเก่ามาใช้เรียกหมากรุก แต่เสียงค่อยๆ เพี้ยนไปจนกลายมาเป็น chess อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน
ส่วนคำว่า eschec นั้น ภาษาอังกฤษก็รับเข้ามาและกลายมาเป็นคำว่า check ที่ใช้พูดเวลารุกตัวหมากกษัตริย์ของอีกฝ่าย
แต่ที่พีคก็คือ คำว่า check นี้พัฒนาความหมายไปไกลมาก คือ กลายมาเป็นคำว่า check ที่แปลว่า ห้ามปราม ยับยั้ง แบบที่เจอในสำนวน keep something in check ที่แปลว่า คอยปรามหรือควบคุม และ checks and balances ที่หมายถึง การตรวจสอบถ่วงดุล อีกทั้งยังกลายมาเป็นกริยา check ที่แปลว่า ตรวจสอบ แบบที่เราชอบใช้ทับศัพท์อีกด้วย
นอกจากนั้น คำว่า check ยังถูกนำมาใช้เรียกของที่เป็นเครื่องตรวจสอบ
ยืนยันความเป็นเจ้าของ และกลายมาเป็น check ที่แปลว่า เช็คธนาคาร (สะกดว่า cheque ในภาษาอังกฤษแบบบริทิช) ด้วย
คำที่มาจากเกมหมากรุก
Checkmate
คำนี้ถ้าเทียบกับในหมากรุกไทยก็คือ ‘รุกฆาต’ ปกติผู้เล่นจะพูดในกรณีไล่ต้อนตัวขุนอีกฝ่ายให้เข้าตาจนได้สำเร็จ เดินทางไหนก็โดนกิน
คำนี้ที่มาจาก eschec mat ในภาษาฝรั่งเศสเก่า ซึ่งมาจากคำภาษาอารบิก shah mat อีกทอด หมายถึง กษัตริย์ตายแล้ว หรือ กษัตริย์เพลี่ยงพล้ำแล้ว พอภาษาอังกฤษยืมมาแล้วก็นำมาเปลี่ยนตัวสะกดให้ใกล้เคียงกับคำที่มีอยู่ในภาษาอังกฤษ จึงกลายมาเป็น checkmate ในที่สุด
ปัจจุบันคำนี้นำมาใช้นอกเหนือบริบทเกมหมากรุกในเชิงเปรียบเปรย คือปราบอีกฝ่ายได้ราบคาบ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ได้โดยสมบูรณ์ เป็นได้ทั้งคำนามและกริยา เช่น The MP hoped to checkmate his opponent with the latest confidential document he had just obtained. ก็คือ ส.ส.คนนี้หวังโค่นฝ่ายตรงข้ามด้วยเอกสารลับที่เพิ่งได้มา
Stalemate
คำนี้ในเกมหมากรุกหมายถึง สถานการณ์ที่ผู้เล่นฝ่ายหนึ่งไม่ได้ถูกรุกอยู่แต่ตกอยู่ในสภาพเดินหมากไม่ได้ ทำให้จบเกมแบบเสมอ
อันที่จริงแล้ว คำว่า stale ใน stalemate ก็หมายถึง การต้อนจนมุมในหมากรุกอยู่แล้ว แต่ในภายหลังมีการนำคำว่า mate แบบที่เจอในคำว่า checkmate มาแปะเพิ่ม เกิดเป็น stalemate ซึ่งเชื่อกันว่าทำไปเพื่อให้ขนานกับ checkmate
นอกจากในเกมหมากรุกแล้ว เรายังเจอคำนี้ในภาษาอังกฤษที่ใช้กันทั่วไป
ได้ด้วย หมายถึง ทางตัน สถานการณ์ที่สองฝ่ายยันกัน ไม่มีทางออก เช่นสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ หลายคนก็อาจจะอธิบายว่าเป็น a political stalemate คือ ทางตันทางการเมือง ต่างฝ่ายต่างไม่ถอย แต่ก็เดินหน้ากันไม่ได้ทั้งคู่
Pawn
คำนี้ใช้เรียกตัวหมากทหารเท้าบนกระดานหมากรุก เทียบได้กับตัวเบี้ยในหมากรุกไทย มีอยู่ 8 ตัวบนกระดาน หน้าที่เหมือนเป็นทัพหน้าและนับว่ามีศักดิ์ต่ำสุดในกระดาน
คำนี้สืบกลับไปได้ถึงคำว่า pedonem ในภาษาละติน หมายถึง ทหารเท้า มากจาก pes ที่แปลว่า เท้า อีกทอด ดังนั้น pawn จึงเป็นญาติกับคำหลายๆ คำในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเท้า เช่น pedal, pedestrian, และ pedigree (ส่วน pawn ที่แปลว่า จำนำ เป็นคนละคำกัน มาจากคำว่า pan ในภาษาฝรั่งเศสเก่า หมายถึง คำมั่น สิ่งประกัน)
ในภาษาประจำวัน คำว่า pawn ถูกนำมาใช้ในสำนวน be a pawn in somebody’s game ก็คือ เป็นเพียงหมากในเกมให้คนที่มีอำนาจกว่าใช้ ถ้าต้องแลกหรือสละไปก็ไม่เสียหาย เช่น เวลาฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลพูดถึงนักเรียนที่ออกมาชุมนุม ก็อาจจะพูดว่า They are just pawns in the game of politics. ก็คือ เป็นแค่ตัวเบี้ยในเกมการเมืองเท่านั้น
Endgame
หลายคนที่เป็นคอหนังซูเปอร์ฮีโร่ของค่ายมาร์เวลน่าจะคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี อันที่จริงแล้ว คำนี้เป็นคำที่ใช้ในแวดวงหมากรุก หมายถึง ช่วงท้ายเกมที่เหลือหมากอยู่ไม่กี่ตัวบนกระดาน แต่คำนี้ได้ถูกหยิบยืมมาใช้นอกวงการด้วย หมายถึง ช่วงสุดท้ายที่ทุกอย่างเริ่มงวด เริ่มใกล้ได้เห็นข้อสรุปสุดท้าย ใช้ได้กับสถานการณ์หลายอย่าง เช่น สงคราม การพิพาท ตัวอย่างเช่น The endgame is upon us. ก็คือ ถึงช่วงที่ใกล้รู้ดำรู้แดงแล้ว
Gambit
ในวงการหมากรุก gambit หมายถึง การเปิดเกมด้วยการสละตัวเบี้ยเพื่อสร้างความได้เปรียบ ยอมเดินตัวเบี้ยให้อีกฝ่ายหนึ่งกิน มีที่มาจากคำว่า gambetto ในภาษาอิตาเลียน หมายถึง การขัดขาให้สะดุด ในปัจจุบัน คำนี้ถูกนำมาใช้นอกวงการหมากรุกด้วย หมายถึง การเปิดฉากหรือการชิงลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความได้เปรียบ เช่น ถ้าเรามองว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ผ่านมาน่าจะเป็นกลเม็ดที่รัฐบาลตั้งใจงัดมาใช้ชิงความได้เปรียบ ก็อาจจะพูดว่า The declaration of the severe emergency situation was meant to be an opening gambit.
Zugzwang
คำนี้เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเยอรมัน ประกอบจาก Zug ที่แปลว่า การเดินหมาก และ Zwang แปลว่า การบีบบังคับ ใช้หมายถึง การยอมเดินหมากแบบเสียเปรียบเพราะสถานการณ์บีบบังคับ ในภาษาอังกฤษนำเอามาใช้พูดถึงสถานการณ์ที่ถูกบีบให้ต้องยอมทำอะไรที่เป็นผลเสียกับตัวเองได้ด้วย เช่น หลังจากที่รัฐใช้รถฉีดน้ำสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ถูกประณามจากหลายฝ่ายและทำให้ผู้ชุมนุมยกระดับการประท้วง รัฐก็ตกอยู่ในสภาพที่จำต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้สถานการณ์ แต่ไม่มีทางออกที่ดีเลย เพราะถ้าบีบผู้ชุมนุมมากขึ้นก็อาจจะนำไปสู่เหตุรุนแรงกว่าเดิม แต่หากผ่อนปรนผู้ชุมนุมก็อาจได้ใจ แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า The government has found itself in a state of zugzwang.
บรรณานุกรม
https://blog.oup.com/2017/01/language-chess-linguistics/
http://www.etymonline.com/
http://oed.com/
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.
Bowler, Peter. The Superior Person’s Little Book of Words. Hawthorn Press: Perth, 1987.
Byrne, Josefa Heifetz. Mrs. Byrne’s Dictionary of Unusual, Obscure, and Preposterous Words. Twelfth Printing: New Jersey, 1974.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Garg, Anu. Another Word A Day. John Wiley & Sons: New Jersey, 2005.
Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
Longman Dictionary of Contemporary English
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shorter Oxford English Dictionary
Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.