เมื่อกลางสัปดาห์ ข่าวหนึ่งที่สร้างความแตกฮือในหมู่ชาวเน็ตคือประกาศแก้ไขการเขียนชื่อกรุงเทพฯ ในภาษาอังกฤษของราชบัณฑิต เพราะหลายคนเข้าใจว่าต่อไปนี้เราจะเลิกใช้ Bangkok ซึ่งเป็นชื่อติดปากสำหรับคนทั่วโลกไปแล้ว และเปลี่ยนไปใช้ Krung Thep Maha Nakhon แทน จนราชบัณฑิตต้องออกมาอธิบายว่าที่แก้คือให้เก็บ Bangkok ไว้ในวงเล็บแทนหลังเครื่องหมายอัฒภาค (;) ในเอกสารทางการ และยังใช้ชื่อ Bangkok ได้ตามเดิม (แต่กว่าจะออกมาประกาศ มีมก็เต็มอินเทอร์เน็ตเสียแล้ว)

หลังจากที่เคยพูดถึงชื่ออาหารที่มาจากชื่อเมืองต่างๆ ไปแล้ว (https://themomentum.co/wordodyssey-food-from-city/) สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอโหนกระแสเรื่องชื่อเมืองและพาไปดูคำในภาษาอังกฤษที่มีที่มาจากชื่อเมืองต่างๆ อีกครั้ง

Cologne โคโลญ

จากเมืองโคโลญ เยอรมนี

โคโลญที่เราใช้ฉีดร่างกายเพื่อให้มีกลิ่นหอมนั้น แท้จริงแล้วมาจากชื่อเมืองโคโลญ (Cologne) ในเยอรมนี (ในภาษาเยอรมัน ชื่อเมืองนี้สะกดว่า Köln ออกเสียงทำนองว่า เคิล์น)

ส่วนที่ชื่อเมืองนี้มาอยู่ในน้ำหอมได้ก็เพราะน้ำหอมแบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากเมืองโคโลญนั่นเอง

ย้อนกลับไปในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักทำน้ำหอมชาวอิตาเลียนชื่อ โจวานนี มาเรีย ฟารีนา (Giovanni Maria Farina) ได้ย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในเมืองโคโลญ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี ระหว่างที่อยู่ในเมืองนี้ก็ได้คิดค้นน้ำหอมชนิดใหม่ขึ้น จึงตั้งชื่อน้ำหอมนี้ว่า Eau de Cologne ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลตรงตัวได้ว่า น้ำจากเมืองโคโลญ

ในเวลาต่อมา คำนี้ก็ถูกนำมาใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น หมายถึง น้ำหอมกลิ่นอ่อนๆ ทั่วไป โดยเฉพาะน้ำหอมสำหรับผู้ชาย ไม่ต้องเป็นน้ำหอมจากเมืองโคโลญก็ได้

Spa สปา

จากเมืองสปา เบลเยี่ยม

สิ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้เวลาไปสปาเพื่อแช่น้ำผ่อนคลายก็คือชื่อสถานที่นี้มาจากชื่อเมืองสปา (Spa) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเบลเยี่ยม

เมืองนี้ตั้งอยู่ในหุบเขาของเทือกเขาอาร์เดนส์ (Ardennes) และมีบ่อน้ำแร่ร้อนตามธรรมชาติ เชื่อกันว่ามีฤทธิ์ในการรักษาโรคต่างๆ และฟื้นฟูร่างกายให้กระชุ่มกระชวย

ด้วยเหตุนี้ เมืองสปาจึงสถานที่พักตากอากาศที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีอันจะกินตั้งแต่ไหนแต่ไร และมาดังระเบิดแบบถ้ำนาคีเอาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 จนทำให้ชื่อของเมืองนี้ถูกนำไปใช้เรียกสถานที่พักตากอากาศที่มีเพื่อสุขภาพลักษณะเดียวกันในที่อื่นๆ (คล้ายๆ กับในเมืองไทยตั้งชื่อตลาดใหม่ว่าเป็น “คลองถม” หรือ “สำเพ็ง” สาขาใหม่)

แต่ในเวลาต่อมา พอสถานที่อื่นเริ่มดังกว่า เมืองสปาก็เริ่มเสื่อมความนิยม แต่ถึงกระนั้น เนื่องจากชื่อนี้ติดตลาดไปแล้ว คำว่า spa จึงกลายมาเป็นคำศัพท์สามัญในภาษาอังกฤษ เอาไว้ใช้เรียกสถานที่ที่มีบ่อน้ำแร่ เช่น a spa town (เมืองที่มีสปา) หรือสถานที่ที่ให้บริการทรีตเมนต์ด้านสุขภาพและความสวยความงาม รวมไปถึงขั้นตอนการบริการด้านสุขภาพและความงามเองด้วย เช่น foot spa (การทำสปาเท้า)

 

Attic ห้องใต้หลังคา

จากแถบแอตติกา กรีซ

แอตติกา (Attica) เป็นชื่อที่ใช้เรียกกรุงเอเธนส์ (Athens) และบริเวณรอบๆ ในสมัยกรีกโบราณ เนื่องจากสถาปัตยกรรมในยุคและแถบนั้น มีลักษณะเด่นคือจะมีการสร้างชั้นอาคารเตี้ยๆ ซ้อนขึ้นไปเหนืออาคารหลักอีกชั้น ชั้นอาคารที่สร้างเติมขึ้นไปด้านบนนี้จึงถูกเรียกว่า attic story ตามชื่อดินแดนแถบนี้

ในเวลาต่อมา คำนี้ก็เริ่มถูกนำมาใช้เรียกชั้นอาคารใต้หลังคาที่อยู่เหนือชั้นอาคารหลัก จนท้ายที่สุดก็พูดย่นย่อเหลือแค่ attic อย่างในปัจจุบัน

Jeans ยีนส์

จากเมืองเจโนอา อิตาลี

กางเกงยีนส์ที่เรารู้จักกันนั้นมีประวัติย้อนกลับไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในสมัยนั้น มีการผลิตผ้าฝ้ายทอลายทแยงในเมืองเจโนอา (Genoa) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี (ชาวอิตาเลียนเรียกเมืองนี้ว่าเจโนวา สะกดว่า Genova) ด้วยความที่ผ้าชนิดนี้เป็นผ้าเนื้อหยาบที่มีความคงทน (ภาษาอังกฤษเรียกว่า fustian) จึงมักนำมาทำเป็นเสื้อผ้าสำหรับใส่ทำงาน

ว่ากันว่าเมื่อผ้าชนิดนี้เดินทางไปถึงฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสก็เลยเรียกว่า jene fustian หมายถึง ผ้าเนื้อหยาบจากเมืองเจโนอา และในเวลาต่อมา ชื่อนี้ก็เดินทางมาถึงภาษาอังกฤษและถูกย่นย่อเปลี่ยนวิธีสะกดจนเหลือเพียงแค่ jean ก่อนที่จะนำมาเติม s กลายเป็น jeans เพื่อเรียกกางเกงยีนส์อย่างในปัจจุบัน

ที่น่าสนใจคือ ว่ากันว่า มีคนพยายามผลิตผ้าเนื้อหยาบแบบนี้ลอกเลียนแบบด้วยในเมืองนีมส์ (Nîmes) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าผ้าเซิร์จหรือแซร์จ (serge) จากเมืองนีมส์ หรือ serge de Nîmes ในเวลาต่อมา ภาษาอังกฤษก็นำไปย่นย่อจนเหลือแค่สองคำหลังและรวบคำติดกันจนกลายมาเป็นคำว่า denim หรือ ผ้าเดนิม แบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง

 

Bedlam ความวุ่นวายโกลาหล

เมืองเบธเลเฮม ปาเลสไตน์

คำว่า bedlam นี้กร่อนมาจากชื่อเมืองเบธเลเฮม (Bethlehem) ซึ่งคนทั่วโลกรู้จักกันในฐานะเมืองที่พระเยซูกำเนิด

ส่วนสาเหตุที่ชื่อเมืองที่มีความสำคัญทางคริสต์ศาสนากลายมาเป็นเกี่ยวกับความโกลาหลได้นั้น เป็นเพราะย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 13 มีการตั้งสำนักศาสนา Priory of the New Order of Our Lady of Bethlehem ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อรับเงินบริจาคสนับสนุนการรบในสงครามครูเสด แต่ไปๆ มาๆ สำนักศาสนานี้ก็ผันตัวไปเป็นโรงพยาบาลรักษาคนวิกลจริต จนท้ายที่สุด ชื่อของโรงพยาบาลนี้ (Hospital of St. Mary of Bethlehem) ซึ่งชาวเมืองเรียกกันสั้นๆ ว่า bedlam ก็เลยถูกนำมาใช้เรียกโรงพยาบาลสำหรับคนเสียสติ (คล้ายๆ ที่เราใช้ชื่อโรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อพูดถึงโรงพยาบาลสำหรับผู้มีอาการทางจิต)

และเนื่องจากคนมักเข้าใจว่าในโรงพยาบาลประเภทนี้น่าจะวุ่นวายโกลาหล คำนี้จึงถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่อบรรยายสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ทุกอย่างสับสนอลหม่านไปหมด เช่น หากสัญญาณเตือนไฟเกิดดังขึ้นตอนตีสองในอาคารที่เราอยู่ แล้วทุกคนต่างกรูกันออกมาจากอาคาร อยู่ในสภาพสับสนและส่งเสียงดังอื้ออึงไปหมด แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า It was complete bedlam.

 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

 https://www.orst.go.th/iwfm_list.asp?i=0040002104011001%2F63ERJ5716056

 American Heritage Dictionary of the English Language

 Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

 Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

 Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

 Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

 Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

 Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

 Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

 Jones, Paul Anthony. Around the World in 80 Words. University of Chicago Press: Chicago, 2020.

 Longman Dictionary of Contemporary English

 Merriam-Webster Dictionary

 Oxford Advanced Learners’ Dictionary

 Shorter Oxford English Dictionary

 Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

 The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: ,