ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุเตี้ยนหมู่ได้ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงในหลายจังหวัด ขณะลงพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดกับชาวบ้านเรื่องพายุว่า “สวดมนต์นะ อย่ามาอีกเลย มาลูกเดียวก็พอแล้ว” ทำให้เกิดความไม่พอใจและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าปัญหานี้น่าจะต้องรับมือด้วยการจัดการของภาครัฐมากกว่าการสวดมนต์ ถึงขนาดที่โฆษกรัฐบาลต้องออกโรงแก้เกี้ยวว่า นายกฯ ไม่ได้พูดว่าให้สวดมนต์ไล่น้ำ (อันที่จริงระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปลายเดือนสิงหาคม นายกฯ ก็เพิ่งพูดเรื่องการสวดมนต์ไปว่า “ผมสวดมนต์ทุกวัน ดังนั้นจะไม่ทำอะไรที่ผิด”)

สัปดาห์นี้ Word Odyssey จึงขอพาไปสำรวจเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์และดูกันว่าการสวดมนต์เกี่ยวอะไรกับตั๊กแตน สวนกุหลาบ อเมริกันฟุตบอล และลิฟต์

Pray ที่ไม่ใช่สวดมนต์

นอกจากจะใช้พูดถึงการสวดมนต์อย่างที่เราชินๆ กัน (หรืออย่างที่นายกฯ แนะนำ) แล้ว คนในอดีตยังนำคำว่า pray มาใช้เป็นคำขอร้องวิงวอนคล้ายๆ please ได้ด้วย เช่น Pray, let me pass! ก็คือ ได้โปรดปล่อยให้ข้าผ่านไปเถิด

วิธีการใช้ pray เพื่อร้องขอแบบนี้อันที่จริงก็เริ่มมาจาก pray ที่หมายถึง สวดมนต์ วิงวอน นั่นแหละ เนื่องจากในอดีตคำว่า pray นี้ไม่ได้ใช้วิงวอนกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว แต่จะใช้กับคนด้วยกันเองก็ได้ คนในอดีตจึงมักพูดว่า I pray thee. เวลาที่ขอร้องวิงวอนให้ใครทำอะไร 

เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป คำพูดนี้ก็ค่อยๆ โดนหั่นให้สั้นลงจนเหลือแค่ pray อย่างที่เห็นในตัวอย่างข้างบน (อันที่จริงแล้ว I pray thee. นี้พูดบ่อยกันจนกร่อนเหลือเป็น prithee ด้วย ซึ่งก็อารมณ์คล้ายๆ please แต่ปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว)

ทั้งนี้ การใช้ pray เพื่อขอร้องแบบนี้ปัจจุบันไม่ได้ใช้แพร่หลายแล้ว อาจพบเจอได้ก็ในกรณีที่ต้องการพูดให้ฟังดูโบราณ ติดตลก หรือประชด เช่น When will you resign, my dear Prime Minister? Pray tell. ก็คือ ท่านนายกฯ ที่รัก, โปรดแถลงไขว่าเมื่อใดท่านจะลาออก


สัตว์อะไรเอ่ยสวดมนต์?

ในภาษาอังกฤษมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้ชื่อว่าสวดมนต์ นั่นก็คือตั๊กแตนตำข้าว หรือ praying mantis นั่นเอง เพราะตั๊กแตนตำข้าวมักยกขาหน้าสองข้างขึ้นมาเหมือนกำลังสวดมนต์

ส่วนคำว่า mantis มาจากคำว่า mantis ในภาษากรีก หมายถึง โหร นักพยากรณ์ ซึ่งที่ตั๊กแตนตำข้าวได้ชื่อแบบนี้ว่ากันว่าก็มาจากท่าทางเหมือนสวดมนต์คล้ายโหรเช่นกัน (คำว่า mantis เป็นญาติกับคำว่า มนต์ ที่ภาษาไทยยืมมาจากบาลีสันสกฤตอีกทอด อ่านเพิ่มเติมทาง https://themomentum.co/unusual-words-word-odyssey/)


สำนวนสวดมนต์

ในภาษาอังกฤษมีสำนวนไม่น้อยที่มีคำว่า prayer ที่แปลว่า บทสวดมนต์ อยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น on a wing and prayer หมายถึง แทบจะไม่มีโอกาสรอดหรือสำเร็จเลย ทำนองว่าต้องสวดมนต์ภาวนาให้ไปรอด เช่น Because our company relies on foreign tourists, we’re running on a wing and a prayer. (ธุรกิจเราพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ทุกวันนี้ก็ได้แต่ภาวนาว่าให้รอด) 

สำนวนนี้มีที่มาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องมีอยู่ว่า มีเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาลำหนึ่งที่เพิ่งไปปฏิบัติภารกิจในเยอรมนีและกำลังบินกลับฐานทัพในอังกฤษ แต่สภาพสะบักสะบอมจนชวนให้คิดว่าไม่น่าบินกลับไปถึงอังกฤษได้ ก็เลยวิทยุกลับมาบอกให้ทุกคนช่วยกันสวดมนต์ภาวนา ปรากฏว่าในที่สุดเ ครื่องบินก็เดินทางกลับมาถึงฐานทัพจนได้ ทำให้มีนักแต่งเพลงนำเรื่องราวไปแต่งเป็นเพลงชื่อ Comin’ in on a Wing and a Prayer

อีกสำนวนที่น่าสนใจก็คือ an answer to someone’s prayers หมายถึง สิ่งที่คนคนนั้นกำลังต้องการอย่างยิ่งและโผล่มาอย่างกับฟ้าประทานให้ เพราะได้ยินคำขอ เช่น หากเราเบื่องานที่ทำอยู่เต็มแก่เพราะทั้งงานหนักและเดินทางไกล แล้วเพื่อนมาชวนให้ย้ายไปอยู่บริษัทที่งานเบาลงและแทบไม่ต้องเดินทาง เราก็อาจพูดว่า This job is an answer to my prayers.

อีกสำนวนคือ not have a prayer หมายถึง ไม่มีทาง ไม่มีโอกาส เช่น Because the bill was proposed by the Move Forward Party, it doesn’t have a prayer of passing. ก็คือ ร่างพรบ. นี้คงไม่มีทางผ่านเพราะพรรคก้าวไกลเป็นคนเสนอ 

สวนกุหลาบกับการสวดมนต์?

บางครั้งเวลาที่สวดมนต์หลายจบหรือหลายบทต่อกัน เราก็อาจต้องพึ่งสายลูกประคำเพื่อช่วยนับว่าตอนนี้สวดไปถึงไหนแล้ว ในภาษาอังกฤษ สายลูกประคำเรียกว่า rosary ซึ่งมาจากคำว่า rosarium ในภาษาละติน แปลว่า สวนกุหลาบ

ส่วนที่สวนกุหลาบกลายมาเป็นลูกประคำได้ ก็เพราะคนในอดีตมักเปรียบเทียบหนังสือรวมบทสวดหรือกลอนต่างๆ ว่าเป็นเหมือนการนำดอกไม้มารวมกัน (อย่างคำว่า anthology ที่หมายถึง หนังสือรวมงานประพันธ์ก็มาจากคำว่า anthos ที่แปลว่า ดอกไม้ ในภาษากรีก) ดังนั้นจึงมีการเรียกหนังสือรวมบทสวดของโรมันคาทอลิกว่า rosary ในเวลาต่อมา สายลูกประคำที่ใช้นับจำนวนบทที่สวดจึงถูกเรียกว่า rosary ด้วย

ทั้งนี้ คำว่า rosary ยังไปโผล่ในคำพูดที่เราจะได้ยินบ่อยๆ เวลามีการถกเถียงเรื่องการทำแท้งด้วย นั่นก็คือ keep your rosaries off my ovaries ทำนองว่า เอาลูกประคำไปไกลๆ มดลูกฉัน โดยปกติแล้ว คำพูดนี้จะเอาไว้ใช้ตอบโต้ชาวคาทอลิกที่ต่อต้านการทำแท้ง เพราะเชื่อว่าเป็นการคร่าชีวิต ทำนองว่าอย่าเอาความเชื่อทางศาสนาของตนเองมาบงการสิทธิเหนือร่างกายและสิทธิในการทำแท้งของคนอื่น

สวดมนต์ในลิฟต์?

โดยปกติ ชาวโรมันคาทอลิกจะใช้สายลูกประคำเพื่อสวดบทสวดสายประคำ (The Rosary) โดยสายลูกประคำที่ใช้จะประกอบด้วยลูกประคำเล็ก 10 ลูก (เรียกว่า decade) ทั้งหมด 5 ชุด แต่ละชุด มีลูกประคำใหญ่นำหน้า ทั้งหมดนี้ร้อยเข้าด้วยกันเป็นวง มีลูกประคำเล็กอีกสี่ลูกห้อยเพิ่มออกมาโดยตรงปลายเป็นไม้กางเขน

ลูกประคำใหญ่นี้เป็นสัญญาณที่บอกคนที่สวดมนต์อยู่ว่าถึงคิวสวดบทข้าแต่พระบิดาแล้ว บทสวดนี้ในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า The Lord’s Prayer หรือบางครั้งก็เรียก Our Father (เพราะขึ้นต้นด้วย Our Father in heaven) ส่วนในภาษาละตินเรียก Pater Noster ซึ่งก็แปลว่า Our Father นั่นเอง

ทั้งนี้ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีผู้คิดค้นลิฟต์ชนิดหนึ่งขึ้น มีลักษณะเป็นช่องเปิด ด้านในมีตู้โดยสารที่ยึดกับสายพานและเคลื่อนที่วนขึ้นและลงอาคารตลอดเวลา ใครอยากไปที่ชั้นไหนก็กระโดดเข้าไป พอถึงชั้นตัวเองก็กระโดดออก ส่วนตัวลิฟต์ก็จะเคลื่อนที่ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากการเคลื่อนที่ของลิฟต์นี้ชวนให้นึกถึงลูกประคำที่ค่อยๆ เคลื่อนขึ้นทีละเม็ดวนไปเรื่อยๆ ลิฟต์นี้จึงได้ชื่อว่า paternoster lift (หรือจะเรียก paternoster เฉยๆ ก็ได้) นั่นเอง

ส่งบอลแบบแม่เจ้า?

บทสวดอีกบทหนึ่งที่อยู่ในบทสวดสายประคำ (The Rosary) คือบทวันทามารีย์ (ภาษาละตินเรียก Ave Maria ส่วนในภาษาอังกฤษเรียก Hail Mary) ซึ่งนับจำนวนครั้งที่สวดด้วยลูกประคำลูกเล็ก

แต่นอกจากจะอยู่ในบทสวดสายประคำแล้ว ชื่อบทสวด Hail Mary นี้ยังไปโผล่ในอเมริกันฟุตบอลด้วย คือนำไปใช้เรียกการโยนลูกระยะไกลเฮือกสุดท้ายก่อนจบการแข่งขันแล้วทำแต้มเฉือนเอาชนะอีกทีมหนึ่งได้แบบปาฏิหาริย์ ตัวอย่างเช่น หากเหลือเวลาอีกเพียง 5 วินาทีก่อนจบการแข่งขัน ดูแล้วไม่มีวี่แววที่อีกทีมจะพลิกขึ้นมาชนะได้ แต่ผู้เล่นสามารถโยนลูกบอลจากกลางสนามข้ามไปยังเอนด์โซน (end zone) ของอีกฝั่งหนึ่งและทำทัชดาวน์ (touchdown) ได้แต้มชนะอีกทีมอย่างฉิวเฉียดก่อนจบเกมพอดิบพอดี แบบนี้ก็จะนับว่าผู้เล่นคนนี้ทำ Hail Mary pass ได้สำเร็จ

ส่วนที่เรียกแบบนี้ก็เพราะเป็นการทำแต้มพลิกชนะแบบแทบเป็นไปไม่ได้ ทำนองว่า ต้องสวดมนต์วิงวอนขอให้พระแม่มารีช่วยถึงเกิดปาฏิหาริย์และทำได้สำเร็จ

อาเมน

คำหนึ่งที่เรามักได้ยินเวลาพูดถึงการสวดมนต์แบบฝรั่งก็คือคำว่า amen ซึ่งมีที่มาจากภาษาฮีบรู หมายถึง จริงแท้ แน่นอน หรือ ความจริง

ที่น่าสนใจก็คือ คำนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะเวลาสวดมนต์เท่านั้น แต่ใช้ในการแสดงความเห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นพูดก็ได้ เช่น สมมติเพื่อนเราพูดว่า ถ้าสวดมนต์ไล่อะไรได้จริงๆ ตอนสมัยนายกปูฯ ทำไมประยุทธ์ไม่สวดมนต์ไล่แทน ทำรัฐประหารทำไม แล้วเราเห็นด้วยมากๆ เราก็อาจจะพูดว่า Amen to that!  

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

http://www.etymonline.com/

https://www.youtube.com/watch?v=nJ8BN2AvFRY

http://www.thisdayinquotes.com/2010/02/comin-in-on-wing-and-prayer.html

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , , , ,