เมื่อกลางสัปดาห์ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พรบ. งบประมาณปี 2565 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตัดงบประมาณของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข และการอภิปรายงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่สนใจของผู้คนจนดันแฮชแท็ก #งบกษัตริย์ ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่ง
ไหนๆ เขาก็พูดกันเรื่องเงินๆ ทองๆ หลักแสนล้านกันแล้ว ทั้งยังหยิบยกประเด็นเรื่องงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอภิปรายกัน ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ คอลัมน์ Word Odyssey จะขอพาไปเจาะประวัติคำว่า rich และดูกันว่าความร่ำรวยนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับกษัตริย์ พร้อมทั้งลากไปออกเรื่องชื่อคน ชื่อประเทศ และสำนวนที่มีคำว่า rich ประกอบอยู่
ความรวยกับกษัตริย์
คำว่า rich โลดแล่นอยู่ในภาษาอังกฤษมาได้อย่างน้อย 1,000 ปีแล้ว ในยุคแรกเริ่มมีรูปเขียนว่า rice (ออกเสียง รีทเช) และใช้ในความหมายว่า ทรงอำนาจ สูงศักดิ์ เป็นหลัก ส่วนความหมายว่า ร่ำรวย แบบที่เราใช้กันเป็นความหมายรองที่พัฒนาตามมาทีหลัง
ในยุคนั้น ส่วนใหญ่คำนี้มักใช้อธิบายถึงกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะในสังคมโบราณ (แค่ในสังคมโบราณแหละเนอะ) คนกลุ่มนี้คือผู้ที่กุมทรัพยากรไว้ และมีอำนาจเหนือชีวิตของประชาชน เท่านั้นไม่พอ หากสืบสาวกลับไปแล้วจะพบว่าคำว่า rich นั้น มีรากเดียวกับคำว่า rex ที่แปลว่า กษัตริย์ ในภาษาละติน และ ric ในภาษาตระกูลเจอร์แมนิก ที่หมายถึง ผู้ปกครอง ด้วย ทำให้เห็นความสัมพันธ์ทางความหมายระหว่างความร่ำรวยและกษัตริย์หรือผู้ปกครอง
ต้นตอของความรวย
คำว่า rich นี้ สืบต้นตอย้อนกลับไปได้ถึงรากโปรโตอินโดยูโรเปียน reg- ซึ่งหมายถึง เคลื่อนเป็นเส้นตรง รากนี้เป็นที่มาของหลายคำในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นเส้นตรงหรือตั้งตรง เช่น rectangle (สี่เหลี่ยมผืนผ้า) direct (ตรง) erect (ตั้งตรง) และ rectum (ลำไส้ตรง) (ทั้งหมดมาจากคำว่า regere ในภาษาละติน หมายถึง ทำให้ตรง ซึ่งมาจากราก reg- อีกที) เนื่องจากความตรงมักถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่อสื่อถึงความถูกต้อง (เช่น เถรตรง ในภาษาไทย) รากนี้จึงเป็นที่มาของคำที่เกี่ยวกับความถูกต้องด้วย เช่น right (สื่อได้ทั้งความตรงและความถูกต้อง) correct (ถูกต้อง) rectify (แก้ไขให้ถูกต้อง) และ incorrigible (เกินแก้ไข เกินเยียวยา) รวมไปถึงคำที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ เช่น regulation (ข้อกำหนด) และ rule (กฎ)
ราก reg- นี้ยังมีความหมายขยายไปถึง การสั่งการให้เคลื่อนที่เป็นเส้นตรง ด้วย จึงกลายมาหมายถึง นำ ปกครอง และเป็นที่มาของคำที่เกี่ยวกับผู้ปกครองและกษัตริย์ในภาษาต่างๆ ตั้งแต่คำว่า rex ในภาษาละติน (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า roi ในภาษาฝรั่งเศสและ rey ในภาษาสเปน รวมไปถึงชื่อทีมฟุตบอล Real Madrid เพราะคำว่า real ในที่นี้หมายถึง royal นั่นเอง) ไปจนถึงคำว่า ราชา ในภาษาไทยที่ยืมมาจากราก raj (राज् ) ของภาษาสันสกฤตอีกทีด้วย ส่วนในภาษาอังกฤษก็มีคำกลุ่มนี้เป็นกระบุง เช่น royal (เกี่ยวกับกษัตริย์) regal (เกี่ยวกับกษัตริย์) reign (รัชสมัย) และ regicide (การปลงพระชนม์กษัตริย์) เป็นต้น
นี่ยังไม่รวมถึงคำที่แปลว่า อาณาจักรหรือเขตแดนภายใต้การปกครองของกษัตริย์ อย่าง realm และ Reich แบบที่เจอในชื่อ Third Reich อีกด้วย
รวยยันชื่อ?
คำว่า rice ในภาษาอังกฤษเก่าที่หมายถึง ทรงอำนาจ สูงศักดิ์ ที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ นอกจากจะกลายมาเป็นคำว่า rich ที่หมายถึง รวย อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นญาติใกล้ชิดกับคำว่า ric ในภาษาตระกูลเจอร์แมนิก ที่ไปปรากฏในชื่อคนที่คุ้นหูอีกหลายชื่อด้วย ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ปกครอง อำนาจ ใกล้เคียงกับความหมายเดิมของคำว่า rice ไม่ได้แปลว่ารวยแต่อย่างใด
ชื่อที่ดูออกได้ง่ายหน่อยว่ามี ric ประกอบอยู่ก็อย่างเช่น Godric หมายถึง ผู้ปกครองของพระผู้เป็นเจ้า พลานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า Frederick หมายถึง ผู้ปกครองที่รักสันติ (กลายมาเป็นชื่อเล่น Fred และ Freddie) Eric หมายถึง ผู้ปกครองหนึ่งเดียวหรือผู้ปกครองชั่วนิรันดร์ (รวมถึงชื่อ Erica ด้วย) รวมไปถึงชื่อยอดฮิตอย่าง Richard หมายถึง ผู้ปกครองที่แข็งแกร่ง ซึ่งย่นย่อได้เป็นชื่อเล่นอีกหลายชื่อ เช่น Rich, Richie, Rick, Ricky และ Dick รวมไปถึงนามสกุล Dickens ของนักเขียนชาวอังกฤษชื่อดัง Charles Dickens
ส่วนชื่อที่มี ric ซ่อนอยู่จนเราอาจดูไม่ออกก็อย่างเช่น Henry ซึ่งหมายถึง ผู้ครองเรือน (มาจาก heim ที่แปลว่า บ้าน รวมกับ ric ที่แปลว่า ผู้ปกครอง) ทำให้เกิดชื่อเล่น Harry และ Hal ส่วนในอเมริกา คนที่ชื่อ Henry ก็อาจมีชื่อเล่นย่อว่า Hank ได้ด้วย ส่วนถ้าอยากทำให้เป็นชื่อผู้หญิง ก็เปลี่ยนเป็น Henriette หรือ Henrietta ได้ นอกจากนั้น อีกสองชื่อที่มี ric ซ่อนอยู่ก็คือ Terry และ Derek หมายถึง พลังของประชาชนหรือผู้ปกครองประชาชน ทั้งคู่ เพราะต่างก็มาจากชื่อ Theodoric ในภาษาตระกูลเจอร์แมนิก (มาจาก þeud หมายถึง ประชาชน และ ric ที่แปลว่า ผู้ปกครอง อำนาจ)
เมืองท่าที่ร่ำรวย
อีกที่หนึ่งที่มีญาติของคำว่า rich อยู่ก็คือชื่อเครือรัฐเปอร์โตริโก (Puerto Rico) ซึ่งมาจากคำว่า puerto ที่แปลว่า ท่าเรือ (port ในภาษาอังกฤษ) รวมกับ rico ที่แปลว่า รวย หรือ อร่อย ในภาษาสเปน ซึ่งก็มาจากราก reg- เช่นเดียวกับคำว่า rich ในภาษาอังกฤษนั่นเอง รวมได้ความหมายว่า เมืองท่าที่ร่ำรวย
อันที่จริงแล้ว ตอนที่สเปนเข้ามาล่าอาณานิคมในแถบอเมริกาใต้ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้ตั้งชื่อเกาะนี้ว่า ซาน ฆวน เบาติสต้า (San Juan Bautista) เพื่อเป็นเกียรติแต่นักบุญจอห์น และตั้งชื่อเมืองหลวงว่า ซิวดาด เด เปอร์โตริโก (Ciudad de Puerto Rico) หมายถึง เมืองท่าที่ร่ำรวย แต่ในเวลาต่อมา พ่อค้าทั้งหลายก็ใช้ชื่อเมืองหลวงนี้เรียกเกาะทั้งเกาะกันจนติดปาก และทำให้เปอร์โตริโก กลายมาเป็นชื่อเกาะที่ส่งออกนางงามชื่อก้องโลกอย่างในทุกวันนี้
Rich ที่ไม่ได้แปลว่ารวย
ในทุกวันนี้ คำว่า rich นอกจากจะใช้สื่อว่า ร่ำรวย ในเชิงว่ามีเงินมากได้แล้ว ยังมีความหมายปลีกย่อยอีกหลายอย่าง เช่น มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่จำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินก็ได้ ตัวอย่างเช่น หรือ Milk is rich in calcium. (นมอุดมไปด้วยแคลเซียม) หรือจะใช้หมายถึง รุ่มรวย ประกอบด้วยสิ่งๆ นั้นเป็นจำนวนมาก เช่น Thailand has a rich cultural heritage. (ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมรุ่มรวย) แต่ถ้าใช้อธิบายอาหาร ก็จะหมายถึงว่า อาหารนั้นมีนมเนยอยู่มากหรือรสชาติเข้มข้น เช่น The cake is too rich for me. ก็จะหมายถึง เค้กมีนมเนยอยู่มากจนเลี่ยนเกินไป
เรายังอาจเจอคำว่า rich ในสำนวน That’s rich coming from you. ด้วย ใช้พูดในกรณีที่มีใครมาพูดว่าอะไรเรา แต่ดันเข้าตัวเพราะตัวเองก็เป็นหรือทำแบบที่ว่าคนอื่นเขาอยู่ เข้าทำนองว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เช่น ถ้าคนทำรัฐประหารพยายามสั่งสอนเราให้เคารพกฎหมาย เราก็อาจจะพูดว่า That’s rich coming from you. ออกแนว ‘กล้าพูดเนอะ’ นั่นเอง
นอกจากนั้น ยังมีสำนวน an embarrassment of riches หมายถึง มีมากมายละลานตาจนเลือกไม่ถูก บางครั้งมีความหมายโดยนัยว่ามีมากเกินความจำเป็น เช่น Bangkok has almost an embarrassment of riches when it comes to shopping malls. คือ กรุงเทพมีห้างมากจนแทบเลือกไม่ถูก
บรรณานุกรม
http://oed.com/
American Heritage Dictionary of the English Language
Atherton, Mark. Complete Old English. John Murray Learning: London, 2019.
Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.
Hanks, Patrick., Kate Hardcastle, and Flavia Hodges. Oxford Dictionary of First Names. OUP: New York, 2006.
Hanks, Patrick. Dictionary of American Family Names. OUP, 2013.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.
Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: Word Odyssey